จริงๆ แล้ว สมองของมนุษย์ไม่ได้เก่งเรื่องเงินเท่าไหร่

ผลสำรวจผู้ใหญ่กว่า 3,002 คนในสหรัฐอเมริกาที่มีอายุเกิน 18 ปีของ Fidelity Investments บริษัทให้คำปรึกษา และบริการทางการเงิน พบว่าปณิธานการเงินของผู้คนยังคงเหมือนกับปีที่แล้ว คือ ประหยัดมากขึ้น ชำระหนี้ และใช้จ่ายน้อยลง ซึ่งมักจะจบลงด้วยการทำผิดพลาดแบบเดิม จนกลายเป็นเป้าหมายในปีถัดไปอีกครั้ง

เวนดี้ เดอ ลา โรซา ศาสตราจารย์จาก Penn’s Wharton Business School มองว่าการเปลี่ยนแปลงนิสัย และทัศนคติของเราในเรื่องเงินนั้น ต้องอาศัยการฝึกฝนสมองเล็กน้อย ซึ่งฟังดูยุ่งยากนิดหน่อย เวนดี้จึงแนะนำว่างั้นเราก็ปรับเปลี่ยนเรื่องเงินให้ง่ายขึ้นแทนสิ เพื่อลดภาระของสมองในการต้องมานั่งคิดหนักเรื่องเงินในแต่ละเดือน โดยวันนี้ aomMONEY ได้สรุปเทคนิค 3 ข้อมาฝากกัน

💰 ลดความซับซ้อนในการจ่ายเงิน

ปกติแล้ว ในแต่ละเดือน เป็นปกติที่จะมีบิลชำระเงินมากมายส่งมาที่เรา ซึ่งมักจะมาในคนละวันกัน ทำให้เราต้องนั่งพะวง ว่าเดี๋ยวต้องจ่ายค่านั่นค่านี่ วันนั้นวันนี้ หากชำระช้ากว่ากำหนดอาจจะเกิดปัญหาตามมาได้

อบิเกล ซัสแมน ศาสตราจารย์จาก University of Chicago Booth School of Business แนะนำว่าให้เราเปลี่ยนวันจ่ายบิลทั้งหมดไปไว้ในวันเดียวกัน โดยเราสามารถติดต่อกับผู้ให้บริการรายต่างๆ เพื่อขอแจ้งวันกำหนดชำระเงินได้ และถึงแม้จะไม่สามารถแจ้งเปลี่ยนแปลงทั้งหมดได้ อย่างน้อยก็พยายามย้ายรายจ่ายทั้งหมดไปอยู่ในช่วงที่ใกล้กัน

เพื่อให้เราสามารถจัดการรายจ่ายได้ง่ายขึ้น เช่น ย้ายวันจ่ายไปต้นเดือนที่เงินเดือนออก เมื่อชำระเงินเสร็จแล้วจะได้สามารถวางแผนบริหารเงินต่อไปได้ โดยไม่ต้องกังวลว่าต้องเหลือเงินไว้จ่ายในวันต่างๆ ตามทางของเดือน และยังลดโอกาสในการลืมจ่ายอีกด้วย

นอกจากนี้ Sussman ยังแนะนำให้รวมเงินของเราทั้งหมดไว้ในบัญชีเดียวกัน หรือน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และใช้บัตรเครดิตเพียงใบเดียวเพื่อง่ายต่อการตรวจสอบรายจ่าย แทนที่จะไล่ตามคะแนน และของสมนาคุณ

💸 กำหนดวันเช็กสุขภาพทางการเงิน

การวางแผนปรับการเงินนั้นเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา เวนดี้ แนะนำว่า เราควรกำหนดเวลา 1 วันต่อสัปดาห์ หรือแค่ 1 วันต่อเดือน เพื่อตรวจสอบรอยรั่วทางการเงินทั้งหมด และอุดมัน เช่น รายการสตรีมมิง หรือค่าใช้จ่ายที่เราสมัครแบบรายเดือนไว้ แต่ไม่ได้ใช้แล้ว หรือหลงลืมมันไป ให้เรากลับมาพิจารณาอีกครั้งว่ายังจำเป็นต้องใช้อยู่ หรือกำจัดออกจากรายจ่ายไป

💳 การบริหารเงินควรเป็นเรื่องง่าย แต่การใช้จ่ายควรตรงกันข้าม

สก็อต ริก รองศาสตราจารย์ด้านการตลาดจาก Ross School of Business ของ University of Michigan กล่าวว่า การสร้างกระบวนการให้มากขึ้นในการใช้จ่าย จะช่วยให้ผู้คนใช้จ่ายน้อยลงได้

โดยสก็อตแนะนำว่าให้เราล้างข้อมูลบัตรเครดิตที่บันทึกไว้บนเว็บไซต์ และแอปพลิเคชันออกทั้งหมด จากเดิมที่เราแค่สแกนนิ้ว หรือใส่เลข CVV หลังบัตรเป็นอันชำระเรียบร้อย กลายเป็นเราต้องกรอกข้อมูลบัตรใหม่ทุกครั้งที่ซื้อของ จะช่วยให้เรามีโอกาสล้มเลิกไปกลางคัน หากการใช้จ่ายนั้นไม่ได้จำเป็นจริงๆ

☕ เติมของอร่อยให้ชีวิตได้เท่าที่ต้องการ หลังจากแบ่งเงินไปเก็บแล้ว

“การจำกัดตัวเองจากของที่ชอบสามารถสร้างความรู้สึกผิดโดยไม่จำเป็น และนำไปสู่ความเครียดได้” ริกกล่าว และยังแชร์มุมมองเพิ่มอีกว่า ไม่มีใครที่รวยขึ้นจากการประหยัดเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ โดยเราอาจเห็นเงินก้อนเล็กๆ นิดหน่อย แต่ไม่ได้ส่งผลต่อการเงินระยะยาว หรือการเติบโตใดๆ นอกจากส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตเท่านั้นเอง

เพียงแต่เราต้องแน่ใจว่าได้จัดสรรเงินในส่วนที่จำเป็นไปเก็บแล้ว ซึ่งสามารถทำได้ไม่ยากเลย แค่ทันทีที่ได้เงินมาให้เราแบ่งเงินสำหรับเก็บออม ลงทุน และกองเงินฉุกเฉินในทันที เงินที่เหลืออยู่จะเอาไปใช้ซื้อความสุขให้ตัวเองอย่างไร เราสามารถทำได้อย่างเต็มที่ เพราะแผนการเงินที่ดี คือแผนการเงินที่ทำให้เรามีชีวิตที่มีความสุข โดยมีเงินใช้ไม่ขาดมือนั่นเอง

เรียบเรียง: ชลทิศ ทองไพจิตร