เงินเป็นสิ่งที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี อยู่กับมันทุกวัน รู้จักกันเป็นอย่างดี

แต่การรู้ว่าเงินคืออะไร ทำอะไรได้ ซื้อของนั้นนี่ได้ ไม่ได้หมายความว่าเราเข้าใจและมีความรู้เกี่ยวกับมันสักเท่าไหร่ ที่จริงแล้วความรู้เรื่องเงินนั้นถือเป็นเรื่องสำคัญและมีคนเข้าใจผิดอยู่บ่อย ๆ ไม่เว้นแม้แต่ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการเงินด้วยซ้ำ

สำหรับคนทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นเด็กมหาวิทยาลัย คนที่เริ่มทำงาน หรือแม้แต่กลุ่มวัยกลางคนเป็นพ่อแม่คนแล้ว บางทีก็ยังผิดพลาดกันได้ การเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องเงินจึงถือเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งเลย

แดน อารีลีย์ (Dan Ariely) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาและเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมที่มหาวิทยาลัยดุ๊กเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วยตัวเองเลย แม้ตัวเขาจะเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยชั้นนำเกี่ยวกับการทำธุรกิจและมีความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องพฤติกรรมมนุษย์ไม่น้อย แต่ทุกวันนี้ก็ยังต้องต่อสู้กับ ‘ความอยาก’ ที่จะซื้อของต่าง ๆ ออนไลน์ โดยเฉพาะพวกแกดเจ็ตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลาย ซึ่งส่วนใหญ่ก็กลายเป็นบทเรียน ‘ราคาแพง’ ในภายหลังด้วย

ก่อนหน้านี้เมื่อใช้โซเชียลมีเดีย สิ่งที่เขาเจอก็เหมือนกับเราทุกคนนั่นแหละ นอกจากข่าวสารอัปเดตต่าง ๆ นานาแล้ว ก็มีโฆษณามากมายที่สอดแทรกเข้ามาด้วย (ซึ่งดูเหมือนว่านับวันยิ่งเยอะขึ้นเรื่อย ๆ) ส่วนใหญ่แล้วโฆษณาบนหน้าฟีดของเขาจะเป็นพวกอุปกรณ์ไอทีที่อัปเกรด มีฟีเจอร์ใหม่นู่นนี้ตามปกติ บางทีเขาเห็นแล้วก็กดซื้อโดยไม่ทันได้คิดด้วยซ้ำว่าตัวเอง ‘อยากได้’ มันจริง ๆ รึเปล่า

นั่นทำให้เขาเริ่มตระหนักได้ว่านี่เป็นพฤติกรรมการใช้เงินที่ไม่ดีนักและพยายามเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด

ตอนนี้เวลาจะกดซื้ออะไร เขาบอกว่าจะใช้ ‘กฎ 48 ชั่วโมง’ ในการตัดสินใจ พอเห็นแล้วว่าอยากได้ จะคิดก่อนเลยว่าเดี๋ยวอีกสองวันค่อยว่ากัน ซึ่งกลยุทธ์นี้เขาก็ใช้ได้ผลเป็นอย่างดี เพราะส่วนใหญ่แล้วพอเวลาผ่านไปก็มักจะลืมว่าเคยอยากได้สิ่งนั้นไปแล้ว

การใช้เงินด้วยสติแบบนี้ถือเป็นพฤติกรรมทางการเงินที่อารีลีย์บอกว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ เพราะเขาเชื่อว่า

“ชีวิตไม่ใช่การใช้เงินให้น้อยลง แต่ใช้เงินให้ฉลาดขึ้น” มากกว่า

แล้วเราจะใช้เงินให้ฉลาดขึ้นได้ยังไง อารีลีย์ได้แชร์คำแนะนำทางด้านการเงินไว้ 4 ข้อ

1. ความตื่นเต้นกับของใหม่ ๆ จะหายไปอย่างรวดเร็ว

อารีลีย์บอกว่ามันเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นมากสำหรับคนที่ชอบแกดเจ็ต สินค้าใหม่ รุ่นใหม่ โฉมใหม่ ฯลฯ นั่นล่อตาล่อใจเสมอเลย ในตอนแรกที่ยังไม่มีเงินอย่างตอนเป็นเด็กมหาวิทยาลัย เราก็อาจจะเล็งเอาไว้ก่อน กลั้นใจเอาไว้คิดในใจว่าพอทำงานมีเงินก็จะซื้อ

ปัญหามันเกิดขึ้นตอนที่รายได้เราเริ่มมากขึ้น ทีนี้ของที่มีอยู่ (ที่เคยอยากได้มาก) ก็กลายเป็นของเก่าไปแล้ว ก็อยากได้ของใหม่อีก อารีลีย์บอกว่าการใช้เงินเพื่อวิ่งตามสินค้าที่เทรนด์ในตลาดนั้นไม่ใช่เรื่องที่ฉลาดมากนัก

เขาบอกว่าตามทฤษฎี “Hedonic Threadmill” ที่บอกว่ามนุษย์ไม่ว่าจะเจอเรื่องอะไรก็ตาม (ทั้งดีและร้าย) เราจะสุขหรือทุกข์เป็นพิเศษแค่ช่วงหนึ่งเท่านั้น หลังจากนั้นระดับความสุขก็จะลดหรือเพิ่มกลับมาสู่จุดก่อนที่เหตุการณ์นั้นจะเกิดขึ้น

“ตอนที่คุณได้อะไรใหม่ ๆ มา” อารีลีย์กล่าว “มันน่าตื่นเต้นมาก แต่เดี๋ยวเราก็ชินกับมัน ถ้าคุณได้ทีวี โซฟา โต๊ะทานข้าว รถยนต์ และมอเตอร์ไซค์ภายในอาทิตย์เดียวกัน อีกเดือนหนึ่งคุณก็ลืมพวกมันไปแล้ว ผลกระทบของความสุขต่อคุณภาพของชีวิตจะลดลงไป”

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าจะไม่ซื้อหรือใช้เงินเลยเพราะรู้สึกว่าสุดท้ายก็จะไม่ได้มีความสุขอยู่ดี แต่เขาแนะนำว่าหางานที่มั่นคง มีรายได้ที่แน่นอน แล้วเวลาซื้อของที่มูลค่าสูง ๆ ก็ ‘เว้นระยะ’ เวลามันหน่อย ที่สำคัญคือต้องมีสติเวลาที่จะซื้อด้วย

2. คิดถึงอนาคต ไม่ใช่แค่ตอนนี้

คำแนะนำนี้แม้จะเหมาะกับเด็กที่กำลังเพิ่งจบมหาวิทยาลัยหรือคนที่เพิ่งเริ่มทำงาน แต่เชื่อว่าทุกคนน่าจะใช้ได้เหมือนกันก็คือเวลาจะเริ่มก่อหนี้ให้ลองคิดให้ดี ๆ อีกครั้งหนึ่งก่อน สำหรับเด็กจบใหม่อายุที่น้อยไม่ได้หมายความว่าคุณควรจะใช้เงินโดยไม่มีความรับผิดชอบ แทนที่จะมองว่ายังมีเวลาอีกเยอะที่จ่ายหนี้ ควรคิดว่านี่คือช่วงเวลาที่ดีมาก ๆ ที่จะเริ่มเก็บเงินและลงทุน เพราะเราไม่มีภาระมากนัก

พยายามหลีกเลี่ยงการเป็นหนี้หรือยืมเงินให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ใช้เงินให้น้อยกว่าที่หามา และสร้างนิสัยการเก็บออมเพื่ออนาคตคือสิ่งที่สำคัญที่สุด “ดอกเบี้ยทบต้นทำงานได้ดีเมื่อคุณยังอายุน้อย ต้องใช้มันด้วย”

3. เรียนรู้จากความเสียดายในอดีตและเรื่องการเงินที่ผ่านมา

การวางแผนการเงินคือการมองไปข้างหน้า แต่ถ้าจะวางแผนให้ดี เราก็ต้องเรียนรู้จากความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในอดีตด้วย ดูว่าอันไหนที่เราใช้เงินไปแล้วรู้สึกเสียดาย และอะไรบ้างที่เราจ่ายเงินไปแล้วและสร้างความสุขให้เราอย่างมาก

ในงานศึกษาชิ้นหนึ่งของเขาที่ชื่อว่า “The Millennial Regret Spending Study” ที่ไปสอบถามผู้บริโภควัย 20-36 ปีว่ามีอะไรบ้างที่ใช้เงินไปแล้วรู้สึกเสียดายและมีอันไหนบ้างที่รู้สึกพึงพอใจ สิ่งที่พวกเขาพบคือคนจะมีความสุขมากกว่ากับของที่เป็นสินค้าที่ใช้ในระยะยาว แทนที่จะเป็นสิ่งของที่ซื้อมาเพราะอารมณ์ชั่ววูบ (70% กับ 50% ตามลำดับ)

เขาแนะนำว่าให้เราลองย้อนกลับไปดูพฤติกรรมการใช้เงินของตัวเอง ดูสิว่าอันไหนใช้เงินมากเกินความจำเป็น ช่วงวันหยุดใช้เงินเยอะในหมวดไหน กินข้าวนอกบ้านเหรอ หรือไปเที่ยว หรืออาหาร บางอย่างก็ดูเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่พอรวมกันเป็นเดือนก็กลายเป็นไม่น้อยไปซะแล้ว

4. ภูมิใจกับเงินที่เก็บออมได้

อารีลีย์พูดติดตลกว่าแนวทางมาตรฐานของการออมเงินคือ ‘ความเป็นทุกข์’ คล้ายกับการกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพหรือการไปออกกำลังกาย เขาบอกว่าเราจะรู้สึกแย่ต่องานที่ท้าทายก็ได้ หรือคุณจะลองมองหาความสุขกับการทำสิ่งที่ดีสำหรับตัวคุณก็ได้เช่นเดียวกัน

บางคนคิดว่าคุณต้อง ‘บากบั่นไปข้างหน้าและทำต่อไป มันไม่ใช่เรื่องง่าย มันเป็นสิ่งที่ยากมากที่จะทำในระยะยาว’ แต่อารีลีย์บอกว่า “มันก็เป็นเรื่องที่สำคัญมากที่จะหา ‘ความสุข’ จากนิสัยการเงินของคุณอย่างเรื่องการออมเงิน”

สิ่งที่เขาแนะนำคือ เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณเริ่มเก็บเงิน เริ่มออมเงินได้ แม้จะไม่มาก ใช้เวลาสักนิดในการตบไหล่ชื่นชมตัวเองสักหน่อย บอกว่าเรากำลังเริ่มต้นบนเส้นทางที่ถูกต้อง กำลังสร้างนิสัยทางการเงินที่ดี เติมกำลังใจให้กับตัวเองระหว่างทาง อารีลีย์แนะนำว่าถ้าไปถึงหมุดหมายหนึ่ง เช่นเก็บได้หมื่นแรก แล้วคุณรู้สึกว่าอยากจะขอทานอาหารดี ๆ สักมื้อ ไปกินกับคนรัก มันไม่ใช่เรื่องผิดครับ แต่ขอให้ใช้แต่พอดีเป็นครั้งคราวเพื่อเป็นการซื้อความสุขให้กับตัวเอง

การให้รางวัลตัวเองเป็นเรื่องสำคัญ แต่ก็ต้องอยู่บนพื้นฐานและแผนการใช้จ่ายเงินที่วางเอาไว้ด้วย ใช้มันกับสิ่งที่จะนำความสุขมาให้เราจริง ๆ คือทางเลือกที่ดีที่สุด