แม้ว่าจะวางแผนการเงินอย่างรัดกุมก่อนถึงวันเกษียณ แต่หลังจากเกษียณไปแล้วก็ต้องวางแผนการเงินต่อไป ต้องจัดการรายได้ รายจ่าย หรือวางการลงทุนให้เหมาะสม และเพื่อให้ “เงิน” ที่เก็บมาตลอดช่วงวัยทำงาน มีเพียงพอกับการใช้จ่ายไปจนถึงบั้นปลายชีวิต อาจเริ่มต้นบริหารจากตัวเลข ดังนี้

เลข 70%

คือ ค่าใช้จ่าย “หลังเกษียณ” เทียบกับ “ก่อนเกษียณ”

ไม่มีใครล่วงรู้อนาคตว่าจะเกิดอะไรขึ้น เช่นเดียวกันก็ไม่มีใครรู้จำนวนเงินที่แท้จริงว่าจะต้องใช้เท่าไหร่หลังเกษียณ แต่ตามทฤษฎีการวางแผนการเงินเพื่อเกษียณ ค่าใช้จ่ายหลังเกษียณอยู่ระดับราว 70% ของค่าใช้จ่ายก่อนเกษียณ

เช่น มีค่าใช้จ่ายก่อนเกษียณเดือนละ 20,000 บาท (240,000 บาทต่อปี) ค่าใช้จ่ายหลังเกษียณจะอยู่ประมาณ 14,000 บาทต่อเดือน (168,000 บาทต่อปี)

หมายความว่า เมื่อเกษียณไปแล้วก็ต้องมีเงิน 14,000 บาท เพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน และเพื่อรักษามาตรการครองชีพ ก็ต้องนำเงินเก็บเพื่อวัยเกษียณไปลงทุนเพื่อสร้างโอกาสรับผลตอบแทน โดยตามหลักการวางแผนการเงิน ควรเพิ่มรายได้รวมในแต่ละปีให้ได้ประมาณ 70% ของค่าใช้จ่ายรวมในแต่ละปี

เช่น ค่าใช้จ่ายหลังเกษียณอยู่ประมาณ 168,000 บาทต่อปี ควรหารายได้มาทดแทนให้ได้ 117,600 บาท ซึ่งรายได้ทดแทนดังกล่าว นอกจากมาจากการลงทุนในรูปแบบต่างๆ เช่น หุ้น กองทุนรวม ทองคำ รวมถึงรายได้จากสวัสดิการต่างๆ เช่น กองทุนประกันสังคม เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ได้รับจากบุตรหลาน เป็นต้น

สำหรับจำนวนเงิน 117,600 บาท ถือว่าไม่มาก เช่น หากได้รับเงินจากกองทุนประกันสังคม เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และจากบุตรหลาน รวมกันเดือนละ 5,000 บาท หรือ 60,000 บาทต่อปี หมายความว่า ต้องหาเพิ่มอีก 57,600 บาทต่อปี หรือหากได้รับเงินจากกองทุนประกันสังคม เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และจากบุตรหลาน รวมกันเดือนละ 10,000 บาท ก็จะมีรายได้ 120,000 บาทต่อปี

เลข 4%

คือ อัตราการทยอยถอน “เงินก้อนหลังเกษียณ” มาใช้

ผลการวิจัยในปี 1994 โดยวิลเลี่ยม เบนเกน นักวางแผนการเงินชาวอเมริกัน ได้ทำการศึกษาประวัติผลตอบแทนจากการลงทุนในสหรัฐอเมริกา ย้อนหลังไปตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1930 - 1990 สรุปได้ว่าทุกครั้งที่เกิดวิกฤติ หากจัดพอร์ตลงทุนที่ดี โดยเน้นลงทุนระยะยาวจะสร้างผลตอบแทนได้สูงและเพียงพอที่จะสามารถถอนเงินออกมาใช้ได้ประมาณปีละ 4% โดยไม่ทำให้เงินต้นหมดหรือลดลง และถึงแม้จะลดลงก็จะลดลงอย่างช้ามาก

จากผลการวิจัยก็ได้รับการต่อยอดเป็นกฎของการถอนเงิน 4% Rule of Thumb โดยถอนเงินออกมาใช้ได้ในอัตรา 4% ของเงินตั้งต้น จากนั้นในปีถัดๆ ไปก็ถอนเงินออกมาใช้ในอัตรา 4%

ตัวอย่าง มีเงินเก็บเพื่อเกษียณ 4,000,000 บาท และใช้กฎของการถอนเงิน 4% Rule of Thumb (การคำนวณยังไม่รวมอัตราเงินเฟ้อ)

ปีที่ 1 : ถอนเงินมาใช้จ่าย 160,000 บาท (4,000,000 หาร 4%)

จะเหลือเงิน 3,840,000 บาท ให้นำเงิน 3,840,000 บาท ลงทุนในสินทรัพย์ลงทุนที่เหมาะสม สมมติว่าได้ผลตอบแทน 5% ต่อปี ผ่านไป 1 ปีก็จะมีเงินต้นรวมผลตอบแทนทั้งสิน 4,032,000 บาท

ปีที่ 2 : ถอนเงินมาใช้จ่าย 161,280 บาท (4,032,000 หาร 4%)

จะเหลือเงิน 3,870,720 บาท ให้นำเงิน 3,870,720 บาท ลงทุนในสินทรัพย์ลงทุนที่เหมาะสม สมมติว่าได้ผลตอบแทน 5% ต่อปี ผ่านไป 1 ปีก็จะมีเงินต้นรวมผลตอบแทนทั้งสิน 4,064,256 บาท

ปีที่ 3 : ถอนเงินมาใช้จ่าย 162,570 บาท (4,064,256 หาร 4%)

จะเหลือเงิน 3,901,686 บาท ให้นำเงิน 3,901,686 บาท ลงทุนในสินทรัพย์ลงทุนที่เหมาะสม สมมติว่าได้ผลตอบแทน 5% ต่อปี ผ่านไป 1 ปีก็จะมีเงินต้นรวมผลตอบแทนทั้งสิน 4,096,770 บาท

เช่นเดียวกัน ในปีถัดๆ ไป ก็ให้ทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง

กฎของการถอนเงิน 4% Rule of Thumb โดยเป็นหลักการทางการเงินที่ใช้ในการวางแผนการเงินสำหรับผู้เกษียณที่ต้องการถอนเงินจากการลงทุน เพื่อให้เงินอยู่พอดีตลอดชีวิตโดยไม่ต้องกังวลว่าจะหมดเงินในอนาคต

สำหรับควรระมัดระวังของการใช้กฎของการถอนเงิน 4% คือ ไม่สามารถใช้ได้ในทุกสถานการณ์ ควรพิจารณาปัจจัยต่างๆ เช่น ระยะเวลาที่คาดว่าจะใช้เงิน ผลตอบแทนจากการลงทุน ความเสี่ยงทางการเงิน หมายความว่า ควรตรวจสอบ อัพเดทข้อมูลสม่ำเสมอ เพื่อให้กฎนี้เหมาะสมกับสถานการณ์การเงินของตัวเองในแต่ละช่วงเวลา

เลข 45/45/10

คือ สัดส่วนสินทรัพย์ในพอร์ตคนวัยเกษียณ

การจัดพอร์ตลงทุนสำหรับคนวัยเกษียณมีเป้าหมายที่สำคัญ คือ การรักษาความปลอดภัยเงินต้น (ไม่ใช่ผลตอบแทน) เพื่อให้มีเงินเพียงพอใช้จ่ายจนถึงบั้นปลายชีวิต ดังนั้น การจัดการพอร์ตลงทุนก็ต้องใช้กลยุทธ์ที่รอบคอบและปลอดภัยเป็นหลัก

ข้อมูลตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย อธิบายว่าพอร์ตลงทุนของคนวัยเกษียณต้องสอดคล้องกับระดับความเสี่ยงที่ตัวเองรับได้ โดยมีตัวอย่างแนวทางการจัดพอร์ตที่เหมาะสม ดังนี้

พอร์ตลงทุนแบบระมัดระวัง

เหมาะสำหรับคนวัยเกษียณที่รับความเสี่ยงได้ต่ำ ต้องการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงต่ำ มีสภาพคล่องสูง ดังนั้น ควรเน้นลงทุนเงินฝากและตราสารหนี้อย่างละ 45% ส่วนหุ้นควรลงทุน 10%

พอร์ตลงทุนแบบปานกลาง

เหมาะสำหรับคนวัยเกษียณที่รับความเสี่ยงได้ปานกลาง ต้องการลงทุนในสินทรัพย์ที่มั่นคงและสร้างรายได้สม่ำเสมอ ดังนั้น ควรลงทุนในตราสารหนี้ 50%, เงินฝาก 35% และหุ้นปันผล 15%

พอร์ตลงทุนแบบเชิงรุก

เหมาะสำหรับคนวัยเกษียณที่รับความเสี่ยงได้สูง ต้องการลงทุนในสินทรัพย์ที่มั่นคง สร้างรายได้สม่ำเสมอ และเพิ่มค่าเงินลงทุนในระยะยาว ดังนั้น ควรเน้นลงทุนในตราสารหนี้ 60%, เงินฝาก 25% และหุ้น 15%

เลข 2/6

คือ รูปแบบการลงทุนที่ช่วยสร้างรายได้ตลอดชีวิต

ข้อมูลตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ระบุว่าพอร์ตการลงทุนอีกรูปแบบหนึ่งที่น่าสนใจ คือ รูปแบบการลงทุนที่ช่วยสร้างรายได้ตลอดชีวิต (The Income for Life Model) ซึ่งเป็นแนวคิดของ ฟิลลิป ลูบินสกี นักวางแผนทางการเงิน สหรัฐอเมริกา

วิธีการจัดพอร์ตลงทุนจะแบ่งออก เป็น 2 ช่วง คือ ช่วงแรกของการเกษียณ โดยเน้นลงทุนสินทรัพย์ที่มีความมั่นคงและสร้างรายได้ประจำ ช่วงที่ 2 คือ การลงทุนระยะยาว ที่เพิ่มสัดส่วนการลงทุนหุ้น เพื่อสร้างโอกาสผลตอบแทน โดยแบ่งเงินลงทุนออกเป็น 6 ส่วน

ส่วนที่ 1

การลงทุนสาหรับปีที่ 1 - 5 หลังเกษียณ แบ่งเงินออกมา 26% ของเงินลงทุนที่มีอยู่ เพื่อลงทุนในสินทรัพย์ที่รับประกันผลตอบแทน เช่น ตราสารหนี้

ส่วนที่ 2

ลงทุนเพื่อนำมาใช้ในปีที่ 6 - 10 หลังเกษียณ แบ่งเงินออกมา 28% ของเงินลงทุนทั้งหมด เพื่อลงทุนในตราสารหนี้เป็นรูปแบบขั้นบันไดเพื่อสร้างรายได้ในปีที่ 6 - 10 เช่น ตราสารหนี้อายุ 6 ปี, 7 ปี, 8 ปี, 9 ปี และ 10 ปี

ส่วนที่ 3

ปีที่ 11 - 15 หลังเกษียณ แบ่งเงินออกมา 20% ของเงินลงทุนที่มีอยู่เพื่อลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เพื่อสร้างรายได้และการเติบโตให้กับเงินลงทุนที่มีอยู่ เช่น กองทุนรวมหุ้นปันผล กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์

ส่วนที่ 4

ลงทุนเพื่อนำมาใช้ในปีที่ 16 - 20 หลังเกษียณ แบ่งเงินออกมา 13% ของเงินลงทุนทั้งหมด เพื่อนำไปลงทุนที่คาดหวังผลตอบแทนที่เติบโตขึ้น เช่น กองทุนรวมหุ้นขนาดใหญ่

ส่วนที่ 5

ลงทุนเพื่อนำมาใช้ในปีที่ 21 - 25 หลังเกษียณ แบ่งเงินออกมา 7% ของเงินลงทุนทั้งหมด นำไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีระดับความเสี่ยงสูงขึ้น เช่น หุ้นขนาดเล็กที่มีโอกาสเติบโตสูง โดยไม่จำเป็นต้องมีเงินปันผลระหว่างทาง

ส่วนที่ 6

ลงทุนเพื่อนำมาใช้ในปีที่ 25 เป็นต้นไป จะเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงที่สุด ซึ่งจะลงทุนเพียง 6% ของเงินลงทุนทั้งหมด แนะนำให้ลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก ถึงแม้จะความเสี่ยงสูงแต่ก็มีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น

การจัดพอร์ตการลงทุนตามรูปแบบนี้ จะช่วยให้คนวัยเกษียณลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงได้โดยไม่ต้องเป็นกังวลมากเกินไป เพราะระยะเวลาการลงทุนที่ยาวนานจะทำให้ความเสี่ยงลดลง

นอกจากนี้ต้องไม่ลืมกันเงินส่วนหนึ่งไว้เป็นเงินสภาพคล่องเผื่อฉุกเฉิน อย่างน้อย 6 - 12 เท่าของค่าใช้จ่ายประจำและเก็บไว้ในสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง เช่น เงินฝากออมทรัพย์หรือกองทุนรวมตลาดเงิน เพราะหากเกิดเหตุฉุกเฉินจะได้เบิกถอนออกมาใช้ได้อย่างทันท่วงที และหมั่นตรวจสอบพอร์ตลงทุนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มั่นใจว่ากลยุทธ์การลงทุนที่วางไว้ จะสามารถทำให้มีเงินพอใช้ไปตลอดชีวิต