ในปี 2004, ทอม คอร์ลีย์ (Tom Corley) นักบัญชี ผู้ให้คำปรึกษาด้านการเงิน และผู้เขียนหนังสือการเงินขายดีอย่าง “Rich Kids” และ “Rich Habits” ได้ตั้งเป้าหมายในการไปสัมภาษณ์เศรษฐีเงินล้านเพื่อจะใช้ข้อมูลเหล่านั้นมาเขียนหนังสือ (ซึ่งก็คือหนังสือ “Rich Habits” นั่นแหละครับ) เขาใช้เวลาทั้งหมด 5 ปี ในการสัมภาษณ์และเก็บข้อมูลจากเศรษฐีเงินล้านกว่า 225 คน แล้วพบว่าสามารถแบ่งคนที่มั่งคั่งได้ออกเป็น 4 แบบ

1. นักเก็บออม-นักลงทุน

ไม่ว่าจะทำอาชีพอะไร คนเหล่านี้จะมีนิสัยการออมและการลงทุนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเสมอ มักมองหาลู่ทางที่จะทำให้ความมั่งคั่งเติบโตอยู่เรื่อย ๆ

2. พนักงานผู้ไต่เต้าในองค์กร

คนกลุ่มนี้จะทำงานในองค์กรใหญ่ ๆ และใช้เวลาและพลังงานเพื่อจะทำให้ตำแหน่งการงาน (และการเงิน) ของตัวเองก้าวหน้าขึ้นไปเรื่อย ๆ ไต่เต้าบันไดของตำแหน่งให้สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อให้เงินเดือนเยอะ ๆ

3. ผู้เชี่ยวชาญ

คนกลุ่มนี้คือที่สุดของสายงานที่ตัวเองทำอยู่ เป็นตัวพ่อตัวแม่ในวงการและได้รับค่าจ้างผลตอบแทนในงานที่ทำแบบพรีเมียมสำหรับความรอบรู้และความเชี่ยวชาญตรงนั้น ไม่ว่าจะเป็นวิศวกร แพทย์ หรือ นักกฎหมาย ฯลฯ อาชีพอะไรก็ได้แต่ต้องเป็นคนที่สังคมนึกถึงเมื่อกล่าวถึงประเด็นนั้น ๆ (เช่นลงทุนแบบ VI = ดร.นิเวศน์ ประมาณนั้นเลยครับ)

4. ผู้มีความฝันและผู้ประกอบการ

คนในกลุ่มนี้เป็นกลุ่มวิ่งตามความฝันและแพชชั่นในตัวอย่างแรงกล้า ออกไปทำธุรกิจ เป็นผู้ประกอบการ อยากทำอาชีพที่ตัวเองฝันมาแต่เด็ก อยากเป็นนักร้อง อยากเป็นศิลปิน อยากเป็นนักเขียนระดับประเทศ ฯลฯ

ไม่ว่าจะเป็นคนร่ำรวยประเภท สิ่งที่สำคัญที่สุด 88% ของคนที่คอร์ลีย์ไปสัมภาษณ์บอกว่า ‘การเก็บออม’ เป็นปัจจัยที่ทำให้ประสบความสำเร็จทางด้านการเงินในระยะยาว เพราะอย่างที่ทุกคนทราบดีว่า หาเงินได้มาก แต่ใช้ไปมากกว่า ตัวเลขในบัญชียังไงก็ไม่มีทางเติบโตขึ้นอย่างแน่นอน

โดยเฉลี่ยแล้วใช้เวลาประมาณ 12-32 ปี เพื่อจะมีความมั่งคั่งจนสามารถเรียกตัวเองได้ว่าเป็นเศรษฐีเงินล้าน และมีเงินเก็บเฉลี่ยราว 3-7 ล้านเหรียญ (แปลเป็นค่าเงินบาทก็ราว ๆ 100 - 230 ล้านบาท)

คอร์ลีย์ยังแชร์นิสัย 3 อย่างที่เศรษฐีเหล่านี้มีร่วมกันและเราก็สามารถเรียนรู้และนำมาปรับใช้ได้ด้วย

1. เก็บเงินแบบอัตโนมัติ 20% จากรายได้

คอร์ลีย์บอกว่าในกลุ่มของนักเก็บออม-นักลงทุนที่เขาไปสัมภาษณ์มาทุกคนบอกว่าจะออมอย่างน้อย 20% ของรายได้ที่เข้ามาในแต่ละเดือนเลย ส่วนใหญ่จะทำให้มันเป็นเรื่องอัตโนมัติ ถอนไปเก็บไว้ก่อน ส่วนที่เหลือค่อยเอามาจัดแจง โดยเขาแนะนำว่าให้แบ่งเงินเก็บตรงนี้เป็นสองส่วนเท่า ๆ กัน ครึ่งหนึ่งเอาไปออมไว้ในบัญชีที่ได้รับการสนับสนุนจากนายจ้าง (อย่างของบ้านเราก็จะมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ อันนี้ลองไปค้นหาต่อได้ครับ) และอีกครึ่งหนึ่งก็เอาไปเข้าบัญชีเงินฝากที่แยกไว้ต่างหาก

นอกจากนั้นแล้วยังจะแบ่งเงินออกมาอีก 10% เพื่อไปลงทุนต่อด้วย (ไม่ว่าจะกองทุน พันธบัตรรัฐบาล หรือหุ้นก็ตาม)

คอร์ลีย์แนะนำว่าถ้า 20% ดูมากเกินไป ก็อาจจะเริ่มน้อยหน่อยได้ แต่ขอให้ทำเป็นประจำสม่ำเสมอและเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายทางการเงินที่วางเอาไว้

2. ลงทุนอย่างสม่ำเสมอ

สิ่งที่เราต้องไม่ลืมคือเรื่องของกำไรทบต้นที่ช่วยทำให้เงินลงทุนนั้นเติบโตในระยะยาว ช่วงแรก ๆ เราจะยังมองไม่เห็น แต่เมื่อเวลาผ่านไปสัก 10 ปี เงินลงทุนตรงนี้ พร้อมกำไรทบต้นจะเติบโตได้อย่างไม่น่าเชื่อเลย เศรษฐีเงินล้านที่เป็นกลุ่มนักเก็บออม-นักลงทุนที่คอร์ลีย์สัมภาษณ์ ช่วงสุดท้ายของชีวิตการทำงานมีเงินเฉลี่ยที่สะสมมากกว่า 3.3 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 100 ล้านบาทเลยทีเดียว

สำหรับกลุ่มคนที่เป็นผู้มีความฝันและผู้ประกอบการ ส่วนใหญ่แล้วจะไม่สามารถเก็บเงินหรือออมเงินเพื่อลงทุนได้ในช่วงแรก ที่จริงแล้วส่วนใหญ่ต้องเอาเงินเก็บสำรองมาใช้เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตอีกด้วยต่างหาก แต่เมื่อทุกอย่างเข้าที่เข้าทาง มีกระแสเงินสดเป็นบวก คนกลุ่มนี้ก็จะเริ่มแบ่งเงินมาลงทุนมากขึ้นด้วย

3. จงประหยัดให้มาก

คอร์ลีย์อธิบายว่านิสัยอย่างหนึ่งที่เหมือนกันของคนมั่งคั่งไม่ว่าจะประเภทไหนก็ตามก็คือนิสัยแห่งความประหยัด เริ่มต้นตั้งแต่เงินก้อนแรกที่ได้รับในชีวิตเลย โดยเขาอธิบายต่อว่าการประหยัดต้องใช้สามอย่าง

- รู้ตัว : รู้ว่าตัวเองใช้เงินไปกับอะไร
- โฟกัสที่คุณภาพ : ใช้เงินกับสิ่งที่มีคุณภาพและบริการที่ดี
- ช้อปพร้อมส่วนลด : หาดีลที่ดีที่สุดเพื่อจ่ายเงินให้น้อยที่สุด

แน่นอนว่าการประหยัดเพียงอย่างเดียวไม่สามารถทำให้คุณเป็นเศรษฐีได้ แต่มันก็เป็นส่วนประกอบที่สำคัญมาก ๆ เลยทีเดียว เพราะยิ่งเราประหยัดมากเท่าไหร่ ยิ่งทำให้มีเงินเหลือเพื่อจะไปออมและลงทุนมากขึ้นเท่านั้น