จำวันแรกที่ หยอดเงินใส่กระปุก กันได้มั้ย?

ไม่ว่าจะเป็น วันเกิดที่ได้ของขวัญเป็น "กระปุกออมสิน”, วันที่ไปกราบสวัสดีญาติผู้ใหญ่แล้วได้เงิน "ขวัญถุง" กลับมา หรือ แม้แต่เวลาที่อยากได้ของชิ้นใหญ่ แต่พ่อแม่ให้เก็บเงินซื้อเอง สิ่งเหล่านี้ ถือเป็น วิธีง่ายๆ ที่ หลายครอบครัว ใช้สอนลูกหลานให้รู้จักกับการเก็บออมตั้งแต่ยังเล็ก

แต่ดูเหมือนว่า พอเติบใหญ่ ความรู้ทางการเงินที่ถูกสอนมาแบบง่ายๆ ตั้งแต่ยังเล็ก จะไม่เพียงพอซะแล้ว พูดง่ายๆ เอาแค่พอเรียนจบ ก็ต้องเจอกับคำว่า เงินเดือน ดอกเบี้ย ภาษี เงินเฟ้อ เงินสำรอง และอื่นๆ อีกมากมาย ให้ต้องเรียนรู้และรับมือ

น่าแปลกที่ความรู้ทางการเงินเหล่านี้ กลับไม่มีสอนตั้งแต่ในโรงเรียน ดังนั้นจึงควรเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่จะปลูกฝัง ให้ความรู้ เพิ่มทักษะทางการเงินให้กับลูกๆ ตั้งแต่ยังเล็ก

คิดว่า พ่อแม่ ส่วนใหญ่ คงมองเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ เห็นได้ชัด จาก ผลสำรวจ ของ อีสต์สปริง อินเวสต์เมนต์ส หัวข้อ "การสอนลูกเรื่องเงินในเอเชีย" ที่สอบถาม พ่อแม่กลุ่มตัวอย่าง 10,000 คน จาก 9 ประเทศในเอเชีย พบว่า 95% ของพ่อแม่ เชื่อว่า การสอนลูกเรื่องการใช้เงินและบริหารเงิน เป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ

แต่พอถามถึงความมั่นใจ กลับพบว่า พ่อแม่กว่า 51% ไม่เชื่อมั่นในตนเอง เพราะต่างไม่รู้วิธีสอนลูก แถมยังอยากได้ความรู้ หรือ ข้อมูลเชิงลึก รวมถึงเครื่องมือที่จะช่วยแนะนำเรื่องการเงินให้กับลูกได้ดีขึ้น ที่สำคัญอยากรู้ว่าพ่อแม่คนอื่นๆ ทำยังไง เพื่อจะได้เรียนรู้และแบ่งปันคำแนะนำมาสอนลูกของตัวเองบ้าง

แล้วแบบนี้ พ่อแม่ต้องสอนเรื่องอะไรบ้างล่ะ?

1. สอนให้รู้จักการออม

เชื่อว่า พ่อแม่หลายบ้านคงคุ้นเคย ไม่ว่าจะเป็น การสอนให้ลูกหยอดกระปุก ฝากเงินเข้าบัญชีธนาคาร

แต่ในมุมมองของเด็กๆ อาจไม่เข้าใจเหตุผล ว่าทำไมต้องทำด้วยล่ะ
ดังนั้น ถ้ามีโอกาส หรือ เป็นไปได้ พ่อแม่ควรนั่งคุยกับลูกๆ และอธิบายให้ฟังอย่างช้าๆ ว่า เงินมีสิ่งมีค่า ต้องหามาจากน้ำพักน้ำแรง สามารถนำไปใช้แลกสินค้าและบริการกลับมาได้

ทั้งนี้ ควรปลูกฝังให้ลูกเก็บออมเงินเป็นประจำทุกๆ วัน เพื่อช่วยเสริมสร้างวินัย และนิสัยทางด้านการเงินที่ดีด้วย

2. สอนให้ใช้เงินอย่างคุ้มค่า

เมื่อลูกๆ รู้แล้วว่า เงินไม่ได้หล่นมาจากท้องฟ้า พ่อแม่อาจต้องสอนว่า ก่อนจะจ่ายเงินทุกครั้ง อย่าลืมคำนึงถึงความคุ้มค่าและเหมาะสม แถมถ้าใช้เงินหมดขึ้นมาจริงๆ ก็จะไม่มีใครช่วยเราได้

การสอนเรื่องนี้ พ่อแม่อาจต้องมอบเงินค่าขนมให้ลูกใช้เป็นรายสัปดาห์ หรือ รายเดือน แบบตายตัว เพื่อให้เขารู้จักบริหารจัดการและรับผิดชอบการเงินของตัวเอง รวมถึงมีประสบการณ์ในการเอาตัวรอด หากเงินหมดกระเป๋าแล้ว

3. สอนลูกหาเงินให้เป็น

หลายคน มองว่า หากให้เด็กเล็กหัดหาเงินเข้ากระเป๋าอาจเป็นเรื่องยาก แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ พ่อแม่อาจเลือกใช้การว่าจ้างลูกให้ทำงานเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่ยากเกินไป เช่น กรอกน้ำ พับผ้า นวดขา ถอนผมหงอก

ถ้าเป็นเด็กโต พ่อแม่อาจแนะนำให้ลูกทดลองทำงานพิเศษ ในงานที่เขามีความสนใจ เชื่อเถอะนอกจากจะได้เงินแล้ว ลูกยังจะได้ทำความรู้จักกับคำว่า ภาษี หัก ณ ที่จ่าย และยังได้รับประสบการณ์ในการทำงานก่อนวัยเสริมไปด้วย

4. สอนลูกลงทุนให้เงินงอกเงย

มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งโดย Cambridge University พบว่า เด็กๆสามารถเข้าใจแนวคิด และเรียนรู้พื้นฐานง่ายๆ ทางการเงินตั้งแต่อายุ 3-4 ขวบ

และเมื่ออายุ 7 ขวบ สมองเด็กจะพัฒนาจนเป็นรากฐานความคิดของพฤติกรรมการเงินเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ได้

ดังนั้น การสอนให้ลูกรู้จักการลงทุนจึงไม่น่ายากจนเกินไป บางครอบครัว เลือกใช้วิธีการ ให้ลูกหยอดเงินใส่กระปุกตั้งแต่เด็กๆ พอได้เงินครบทุก 1,000 พันบาท พ่อแม่ก็นำไปลงทุนต่อยอดให้ในพอร์ตของตัวเอง พอได้กำไรก็นำผลตอบแทนมาแบ่งให้ลูกๆ ตามสัดส่วน

เชื่อมั้ย หากให้ลูกลงทุนด้วยวิธีนี้ ในกองทุนที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 10% แล้วล่ะก็ พอเวลาผ่านไปซัก 20 ปี ลูกๆ ก็มีสิทธิจับเงินหลักแสน หลักล้านได้เลย

5. สอนให้รู้เท่าทันภัยในโลกการเงิน

เด็กสมัยนี้เติบโตมาพร้อมกับการใช้งานอินเตอร์เน็ต หลายคนติดมือถือ เล่นเกมส์แทบจะตลอดเวลา จึงมีความเสี่ยงที่จะเจอกับภัยไซเบอร์

ผลการศึกษาของ Kaspersky ผู้ผลิตซอฟต์แวร์ IT Security ระบุชัดว่า เด็ก 37% เคยเจออันตรายในโลกออนไลน์ ที่เป็นหนึ่งในภัยคุกคามทางการเงิน

ดังนั้น สิ่งที่จะมองข้ามไม่ได้ กรณี เด็กๆ ผูกบัญชีธนาคารไว้กับมือถือ หรือ ใช้แอปฯ เงินสด เวลาอยากได้อะไร ก็มักจะกดสั่งซื้อ โดยปราศจากความยั้งคิดยั้งทำ จึงเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่จะต้องสอนให้พวกเขาตระหนักรู้ถึงภัยที่มาจากโซเซียล และคอยย้ำเตือนอยู่เสมอว่า อย่าเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลทางบัญชีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทางออนไลน์ ป็อบอัป แบบทดสอบต่างๆ รวมถึงห้ามกดลิงก์ต่างๆ ที่ผู้อื่นส่งมาสุ่มสี่สุ่มห้า

ที่สำคัญต้องสอนให้พวกเขา ติดตั้งโปรแกรมรักษาความปลอดภัย เช่น การใช้เครือข่าย VPN, การสร้าง PIN หรือ การจดจำใบหน้า และจดจำลายนิ้วมือด้วย

บอกเลยคำแนะนำเหล่านี้ เป็นเพียงแนวทางเบื้องต้น ที่พ่อแม่สามารถนำไปปรับใช้ในการสอนลูกเรื่องเงินได้

แต่เอาเข้าจริง การให้ความรู้เรื่องการเงิน มันไม่มีสูตรตายตัวที่จะเหมาะกับทุกคน เพียงแต่ต้องรู้จักปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทและสภาพแวดล้อมของแต่ละครอบครัวด้วย แต่มีเคล็ดลับสำคัญ คือ พ่อแม่ต้องทำให้ลูกดูเป็นตัวอย่างด้วย เพื่อให้เด็กจะซึมซับจากสิ่งที่เห็นมากกว่าเฉพาะแค่คำสั่งสอน