บ่อยครั้งที่เราได้ยินว่า “สองสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในชีวิตคือ ความตายและภาษี” ในวันที่เราไม่อยู่ สิ่งหนึ่งที่คนส่วนใหญ่อาจจะลืมนึกถึง คือการส่งต่อทรัพย์สินอย่างไรให้ถึงมือลูกหลาน หรือคนที่เรารักได้อย่างมีประสิทธิภาพ และแน่นอนภาษีเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะ ‘ภาษีมรดก’ ที่เป็นเรื่องค่อนข้างใหม่ เพราะมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559

ภาษีการรับมรดก (Inheritance Tax) จะเกิดขึ้นเมื่อเจ้ามรดกตาย และผู้รับมรดกได้รับมรดกที่มีมูลค่าเกินกว่า 100 ล้านบาท โดยผู้รับมรดกมีหน้าที่ต้องเสียภาษีตามที่กฎหมายกำหนด เช่น มิสเตอร์โจ มีสินทรัพย์ที่ดินมูลค่า 1,000 ล้านบาท และยกมรดกให้ลูก 2 คน คนละ 500 ล้านบาท ดังนั้น ลูก หรือผู้รับมรดกต้องเสียภาษีการรับมรดกถึงคนละ ‘5%’ ของส่วนที่เกิน 100 ล้านบาทแรก คือ 5% ของ 400 ล้านนั่นเอง เท่ากับว่าลูกทั้งสองเสียภาษีคนละ 20 ล้านบาท

สำหรับทรัพย์สินที่สามารถอยู่ในฐานะ ‘มรดก’ ได้ จะมีตัวอย่างดังนี้

➡️ อสังหาริมทรัพย์ (ราคาประเมินกรมที่ดิน)
➡️ หลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (หุ้น)
➡️ เงินฝาก
➡️ ยานพาหนะ
➡️ ทรัพย์สินทางการเงินอื่น เช่น ตั๋วเงินคลัง พันธบัตร หุ้นกู้

5 ข้อที่ต้องควรระวังในการวางแผนภาษีมรดก

1. ไม่ได้ชำระภาษีในระยะเวลาที่กำหนด: ผู้รับมรดกต้องยื่นแบบภาษีภายใน 150 วัน หลังวันที่ได้รับมรดกเกิน 100 ล้านบาท ไม่เช่นนั้น อาจได้รับบทกำหนดโทษทั้งเบี้ยปรับ และโทษทางอาญา ดังนี้

📄 เบี้ยปรับ

➡️ ไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีภายในเวลาที่กำหนด เสียเบี้ยปรับ 1 เท่าของภาษีที่ต้องชำระ
➡️ ยื่นแบบ แต่ไม่ถูกต้องครบถ้วน หรือมีข้อมูลเท็จ ทำให้ภาษีขาด เสียเบี้ยปรับอีก 0.5 เท่าของภาษีที่เสียเพิ่ม
➡️ ไม่ชำระภาษีให้ครบถ้วนภายในกำหนดเวลา ให้เสียภาษีเพิ่ม 1.5% ต่อเดือน

📄 โทษทางอาญา

➡️ ไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษี (ภ.ม.60) โดยไม่มีเหตุอันสมควร ปรับไม่เกิน 500,000 บาท
➡️ ไม่ปฏิบัติตามหมายเรียก หรือคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมิน จำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
➡️ สำหรับทรัพย์สินที่ถูกยึด หากทำลาย ย้าย ซ่อนเร้น โอน หรืออายัดให้แก่บุคคลอื่น จำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 400,000 บาท

➡️ จงใจยื่นข้อความเท็จ หรือให้ถ้อยคำเท็จ หรือตอบคำถามด้วยถ้อยคำอันเป็นเท็จ เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษี จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

2. ไม่ทราบปริมาณทรัพย์สิน และหนี้สินทั้งหมด: การไม่ตรวจสอบสินทรัพย์ และหนี้สินที่มี อาจทำให้สินทรัพย์บางรายการตกหล่น และต้องเสียเวลาในการรวบรวม ซึ่งทำให้บริหารจัดการยาก ซึ่งอาจเกิดค่าใช้จ่ายไม่คาดคิดเพิ่มขึ้นได้

3. ไม่ทราบความแตกต่างของประเภททรัพย์สิน: เพราะจริงๆ แล้วทรัพย์สินแต่ละประเภท มีสภาพคล่อง และอัตราการเสียภาษีการรับการให้แตกต่างกัน โดยสามารถสรุปได้ดังนี้

📄 สภาพคล่อง เช่น ทรัพย์สินประเภทสังหาริมทรัพย์ เช่น เงินสด รถยนต์ ทองคำ เครื่องประดับ จะมีสภาพคล่องมากกว่า อสังหาริมทรัพย์ เช่น บ้าน โรงเรือน สิ่งปลูกสร้าง ที่ดิน เป็นต้น

📄 อัตราการเสียภาษีการรับการให้ (Gift Tax) และภาษีมรดก (Inheritance Tax) ทรัพย์สินแต่ละประเภทมีความแตกต่างของการชำระภาษีการรับให้ และภาษีมรดก สรุปได้ดังนี้

➡️ ภาษีการรับให้ (Gift Tax) เป็นการจัดเก็บภาษีกรณีที่เจ้าของทรัพย์สินโอนเงินได้ หรือทรัพย์สินให้แก่บุคคลอื่น ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการหลีกเลี่ยงภาษีมรดก

โดยบุคคลที่ได้รับทรัพย์สินประเภทสังหาริมทรัพย์ โดยเสน่หา จากบุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส จำเป็นต้องเสียภาษีจำนวน 5% ของส่วนที่เกิน 20 ล้านบาท หรือในกรณีที่ได้รับจากบุคคลอื่นให้เสียภาษี 5% ของส่วนที่เกิน 10 ล้านบาทตลอดปีภาษีแทน

ในทางกลับกัน ถ้าลูกได้รับที่ดิน จากบุพการีที่เป็นผู้โอนกรรมสิทธิ์ หรือผู้ครอบครองทรัพย์สินอสังหาริมทรัพย์ ในที่นี้ บิดา มารดา จะเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีการรับให้ ในอัตรา 5% ในส่วนที่เกิน 20 ล้านบาทเช่นเดียวกัน

➡️ ภาษีมรดก (Inheritance Tax) เป็นการจัดเก็บภาษีหลังเจ้าของมรดกเสียชีวิตแล้ว โดยผู้รับมรดกจำเป็นต้องเสียภาษีจำนวน 5% ของส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท หากผู้รับทรัพย์มรดกเป็นบุพการี หรือผู้สืบสันดานของเจ้ามรดก ส่วนในกรณีอื่นๆ ที่นอกเหนือจากที่กล่าวไปให้เสีย 10% ของส่วนที่เกิน 100 ล้านบาทแทน

ดังนั้น ถ้าพ่อแม่มีที่ดินที่ต้องการส่งต่อมรดกให้ลูกมูลค่าเกิน 100 ล้านบาท จำเป็นต้องคำนึงถึงอัตราการเสียภาษี อีกทั้งพิจารณาเรื่องการทยอยโอนที่ดินบางส่วนเพื่อให้เสียภาษีน้อยที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นที่ดินที่สามารถจัดสรรได้ ไม่มีประเด็นในเรื่องของราคา และสภาพคล่องของการซื้อขายที่ดิน เป็นต้น

4. ไม่จัดการ และแบ่งมรดกให้เหมาะสมกับผู้รับ: หลายครั้งที่เรามักจะเห็นในข่าว หรือละครที่มีปัญหาเรื่องแก่งแย่ง จนเกิดการฟ้องร้องเรื่องมรดก เนื่องจากเจ้ามรดกไม่ได้มีการทำพินัยกรรมไว้ หรืออาจจะมีแต่ไม่ได้มีการจัดการที่ชัดเจนเหมาะสมกับผู้รับ ทำให้เกิดความไม่เข้าใจกัน และทะเลาะวิวาทในภายหลัง ในกรณีที่เจ้ามรดกมีทรัพย์สินเป็นจำนวนมากรวมถึงมีทายาทหลายคน ควรวางแผน ดังนี้

➡️ จัดการแบ่งทรัพย์สินในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่
➡️ จัดแบ่งให้มีความเป็นธรรมและชัดเจนกับทายาททุกคน
➡️ มีการตกลงร่วมกัน หรือจัดให้มีการประชุม เพื่อบันทึกข้อตกลงเป็นลายลักษณ์อักษร
➡️ มีการประชุมทบทวนร่วมกันเป็นระยะๆ เพื่อหลีกเลี่ยงความไม่ชัดเจนหรือปัญหาภายหลัง

5. ไม่ได้เตรียมการจัดสรรมรดกล่วงหน้าเพื่อผลประโยชน์ทางภาษี: ถ้ามีการจัดการ 4 ข้อข้างต้นได้ดีแล้ว จะทำให้สามารถเตรียมการและวางแผนการเงิน สำหรับนำมาชำระภาษีที่อาจเกิดขึ้นได้

ตามตัวอย่างข้างต้น ที่มิสเตอร์โจ มีที่ดินมูลค่า 1,000 ล้านบาท ผู้รับมรดกจำเป็นต้องเสียภาษีจำนวน 5% ของส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท เช่นเดียวกับในกรณีที่ผู้รับทรัพย์มรดกเป็นบุพการี หรือผู้สืบสันดานของเจ้ามรดก

ดังนั้น ลูกมิสเตอร์โจ หรือผู้รับมรดกต้องเตรียมการจัดสรรค่าภาษีการรับมรดกถึงคนละ 20 ล้านบาท ในกรณีนี้ มิสเตอร์โจ สามารถวางแผนโดยการจัดสรรเงินสดให้ลูกคนละ 20 ล้านบาท หรืออาจวางแผนโดยการใช้ประกันชีวิต ซึ่งอาจใช้เงินน้อยกว่า และมีประสิทธิภาพมากกว่า

📌 สรุป เพื่อหลีกเลี่ยงข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น เราสามารถเริ่มวางแผนมรดกได้อย่างมีประสิทธิภาพได้ ดังนี้

➡️ รู้สถานะทางการเงินของตัวเองด้วยการทำบัญชีทรัพย์สินที่มีอย่างละเอียด
➡️ ศึกษาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
➡️ วางแผนให้ส่งต่อมรดกไปยังทายาทโดยได้รับประโยชน์สูงสุดทางภาษี เช่น การทยอยเปลี่ยนทรัพย์สินที่เสียภาษี เป็นทรัพย์สินที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี เช่น การใช้ประกันชีวิต เป็นต้น
➡️ พิจารณาความเหมาะสมในการมอบทรัพย์สินมรดกเพื่อไม่ให้เกิดปัญหากับตัวเอง และทายาทตามมา

เขียนโดย: ณัฐพรพิมพ์ อัครภูษิต ที่ปรึกษาการเงิน AFPTTM