หากวันนี้เรามีรายได้เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายต่างๆ ทุกเดือน บิลแจ้งหนี้มาก็จ่ายตรงเวลาตลอด อาจจะคิดไปว่าการจัดการเงินก็แค่นี้จบแล้ว เงินที่เหลือเราใช้มันยังไงก็ได้รึเปล่า?

การใช้เงินเพื่อดูแลตัวเอง หาความสุขเล็กน้อยตามอำเภอใจ เป็นสิ่งที่เราทำได้ แต่หากไม่ระวังพฤติกรรมการใช้เงินโดยไม่ได้มีการวางแผนล่วงหน้าอาจทำให้เราประสบกับปัญหาได้เช่นกัน

แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่ากำลังใช้เงินอย่างผิดๆ? ลองดู 5 สัญญาณนี้กัน

1. รู้ว่าหาเงินได้มากพอสำหรับค่าใช้จ่ายรายเดือน แต่พอหมดเดือนกลับติดลบ

ถ้าเราไม่ระวังกับการใช้จ่าย โอกาสที่คุณจะเป็นหนี้ไม่ใช่เรื่องยาก โปรโมชันต่างๆ (บัตรเครดิต ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง หรือ 0% กี่เดือนก็ว่าไป) ล้วนดึงดูดและเชิญชวนให้เราใช้มากขึ้นเรื่อยๆ

แม้ว่ารายได้ที่ได้ในแต่ละเดือนจะเพียงพอกับค่าใช้จ่าย แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของคุณอยู่ในกรอบของเงินที่หามาได้

เมื่อเราจ่ายมากกว่าที่หาได้ เป้าหมายทางการเงินไม่ต้องพูดถึงเลยเพราะไม่มีทางไปถึงอยู่แล้ว อาจจะเริ่มจ่ายบัตรเครดิตไม่ทัน ขั้นต่ำไปก่อนแล้วหวังว่าจะเคลียร์เดือนต่อไป ซึ่งถ้าทำไม่ได้ ทีนี้ปัญหาจะเริ่มทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ แล้วครับ

2. ไม่รู้ว่าเงินของตัวเองไปอยู่ไหนหมด

ถ้าเราไม่รู้ว่าเงินที่ได้มาไปอยู่ไหนหมด แสดงว่ามันก็คงไม่ได้ไปอยู่ที่ที่มันควรจะอยู่นั่นแหละ

การใช้จ่ายเงินที่มีความหมายเช่น ออมเงินสำหรับเป้าหมายบางอย่างหรือซื้อของขวัญสักชิ้นให้เพื่อน แบบนี้เชื่อว่าเราน่าจะจำได้เป็นอย่างดี แต่ถ้าซื้อของกระจุกกระจิกเรื่อยเปื่อย เห็นแล้วอยากได้ก็ซื้อ หรือที่เรียกว่าซื้อตามอารมณ์แบบนี้เชื่อเลยว่าเราไม่มีทางรู้เลยว่าเงินออกจากบัญชีไปเมื่อไหร่

คำแนะนำคือการทำบัญชี รายรับ-รายจ่าย ของตัวเองดูครับ (จะดิจิทัลหรือบนสมุดก็ได้) จดรายได้ รายจ่ายทุกอย่างที่จ่ายไป แล้วสุดท้ายสิ้นเดือนมาดู ทำสัก 3 เดือน (ที่จริงเดือนเดียวก็เริ่มเห็นแล้ว) จะตกใจยอดเงินที่เราใช้ไปกับสิ่งที่ไม่จำเป็นเยอะมากกว่าที่เราคิด

3. ไม่ถึงเป้าหมายสักที

มีหนี้ก็ต้องจ่าย ค่าใช้จ่ายรายเดือนก็สำคัญ แต่เราต้องไม่ลืมเป้าหมายสำหรับอนาคตของเราด้วย

ไม่ว่าจะเป็นการเก็บเงินสำหรับการเกษียณ เคลียร์หนี้การศึกษา เก็บเงินดาวน์บ้าน หรืออะไรก็ตาม เป้าหมายเหล่านี้ต้องทำอย่างสม่ำเสมอและใช้เวลานานกว่าจะไปถึง

และการใช้จ่ายเงินที่เกินตัวจนไม่สามารถทำตามเป้าหมายสำหรับอนาคตได้เป็นเรื่องที่อันตรายมากๆ วิธีแก้ที่ดีที่สุดคืออย่ารอให้เงินเหลือแล้วค่อยเก็บ เก็บตามเป้าหมายให้หมดก่อน อันไหนที่ทำแบบอัตโนมัติ หักบัญชีได้เลยก็ตั้งเอาไว้เลย ถ้าส่วนไหนที่ต้องทำเอง พอเงินเข้าก็หักเอาไว้เลย แบบนี้โอกาสไปถึงเป้าหมายทางการเงินก็จะสูงตามไปด้วย

4. ไม่มีการวางแผนเรื่องการใช้จ่ายเงิน

ถ้ามีเงินเข้ามาก็จ่ายออกไปโดยไม่มีการวางแผนเอาไว้ล่วงหน้า โอกาสสูงมากที่เราจะใช้จ่ายมันกับสิ่งที่ไม่เหมาะสม

การวางแผนการใช้จ่ายเงิน (เป้าหมายทางการเงิน) ไม่ใช่แค่ตัวเลขในบัญชีเท่านั้น แต่มันยังจะช่วยให้คุณสามารถเดินทางมีเงินเพียงพอสำหรับการไปเดินทางพักผ่อนตามที่ฝันเอาไว้ ซื้อของขวัญวันเกิดให้กับคนรัก มีเงินสำหรับจ่ายค่าเทอมลูก ซื้อประกันสุขภาพ ฯลฯ

เป้าหมายเหล่านี้คือสิ่งสำคัญในชีวิต มากกว่าของเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำให้มีความสุขเพียงแค่ชั่วขณะเท่านั้น

ควบคุมได้ แต่เป้าหมายเหล่านี้ไม่ใช่แค่จำนวนเงินในงบประมาณเท่านั้น เป้าหมายการใช้จ่ายอาจเป็นเพียงแค่การมีเงินใช้จ่ายในวันหยุดพักผ่อนที่คุณใฝ่ฝันมาตลอด หรือซื้อของขวัญวันเกิดให้คนรัก คุณควรตั้งเป้าหมายที่จะใช้จ่ายกับสิ่งสำคัญ มากกว่าสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำให้คุณประทับใจในขณะนั้น

การวางแผนเรื่องการใช้เงินอาจฟังดูคล้ายกับการทำงบการเงิน ​(Budgeting) แต่การวางแผนเรื่องการใช้เงินนั้นจะเจาะจงลงไปเลยว่าจะใช้มันกับอะไร (ของ/ประสบการณ์/ผู้คน)

5. ช่วงที่ผ่านมาไม่เคยเช็กเลยว่าเงินใช้ไปกับอะไรบ้าง

ถ้าเราไม่เคยเช็กเลย โอกาสที่จะใช้เงินเกินตัวมีสูงมาก

แค่เช็กรายงานการใช้จ่ายบัตรเครดิตแต่ละเดือนก็พอช่วยได้บ้าง บางครั้งคุณจะเห็นยอดเงินที่จำไม่ได้เลยด้วยซ้ำว่าจ่ายอะไรไป การตรวจสอบอยู่บ่อยๆ ถือว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก

พวกสมาชิกรายเดือนบนแอปพลิเคชันต่างๆ ก็เช่นเดียวกัน บางครั้งไม่ได้ใช้แต่ก็ไม่เคยยกเลิกสมาชิก แม้ว่าจะเดือนละไม่กี่ร้อย แต่ถ้าไม่ได้ใช้มันก็คือทิ้งเงินเหล่านั้นไปโดยเปล่าประโยชน์