ข้อมูลจากบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือ เครดิตบูโร เปิดเผยว่า “ไตรมาสแรกปีนี้ บัญชีสินเชื่อรถยนต์ของกลุ่ม GEN Y มีจำนวน 600,000 บัญชี เป็นหนี้ที่มีปัญหา แล้วพบว่ากว่า 50 % หรือ 350,000 บัญชี เป็นหนี้เสียแล้ว

ขณะที่กลุ่ม GEN X มีบัญชีที่มีปัญหา 400,000 บัญชี โดย 50 % หรือ 200,000 บัญชี เป็นบัญชีหนี้เสีย ซึ่งเมื่อเอาตัวเลข บัญชีของทั้ง 2 กลุ่ม มารวมกัน มีความเสี่ยงว่า ในอีก 4 เดือนข้างหน้า อาจจะมีลูกหนี้ถูกยึดรถรวม 1 ล้านคัน”

น่ากังวลมากว่าครึ่งหนึ่งของลูกหนี้ Gen X และ Gen Y เป็นหนี้เสีย หากเรา (ผู้เช่าซื้อ) เป็นลูกหนี้สินเชื่อรถยนต์อยู่ แม้ว่าวันนี้เรายังไม่เป็นหนี้เสีย เราก็ควรศึกษาทางหนีทีไล่ให้ดีว่า ควรจะต้องทำอย่างไร เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดกับเรา หรือ อย่างน้อยก็ผ่อนหนักเป็นเบาได้

5 วิธีแก้ปัญหา “ผ่อนรถไม่ไหว” ทำไงดี...

1. รีไฟแนนซ์ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ใหม่

โดยส่วนใหญ่ ไฟแนนซ์มีแนวทางในการช่วยเหลือลูกหนี้ เช่น การปรับลดค่างวด หรือยืดเวลาการผ่อนชำระ ฯลฯ แต่วิธีนี้จะทำให้ภาระดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายสูงมากขึ้นด้วย ถ้าเลือกวิธีนี้ควรรีบดำเนินการก่อนที่จะเริ่มค้างชำระเพื่อเป็นการรักษาประวัติเครดิตของเราเอง

2. เจรจาขอผ่อนเฉพาะดอกเบี้ย

จากเดิมที่ยอดผ่อนต่อเดือนจะเป็นยอดชำระเงินทั้งส่วนที่เป็นเงินต้นและดอกเบี้ยไปพร้อมๆ กัน แต่กรณีเกิดมีปัญหาขึ้นจ่ายไม่ไหวขึ้น ให้ลองติดต่อไฟแนนซ์เพื่อขอผ่อนชำระเฉพาะในส่วนของดอกเบี้ยไปก่อน โดยยังคงต้นเงินไว้ เผื่อในอนาคต ผู้เช่าซื้ออาจจะมีเงินก้อนไปปิดหนี้ ก็จะทำให้เจรจาได้ง่ายขึ้น

3. การขายให้บุคคลอื่นโดยเปลี่ยนสัญญา

วิธีนี้จะดีสำหรับกรณีที่มูลค่ารถเราสูงกว่าหนี้ ควรพิจารณาตัดใจลดภาระด้วยการขายรถคันดังกล่าว จะขายเต็นท์ หรือขายดาวน์ เพื่อให้ผู้ซื้อรายใหม่มารับโอนสัญญาเช่าซื้อไปผ่อนต่อก็ได้ ข้อดีจากการโอนสัญญาเช่าซื้อคือ ไม่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มซ้ำซ้อน เนื่องจากค่างวดเดิม มีการคิดภาษีมูลค่าเพิ่มรวมอยู่แล้ว ดีกว่าการปิดบัญชีเดิม และไปกู้ใหม่ เนื่องจากจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตอนปิดบัญชีหนึ่งครั้ง และเมื่อกู้ใหม่ก็จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มอีกหนึ่งครั้ง นอกจากนี้ยังเป็นการรักษาประวัติเครดิตของผู้กู้ได้อีกทางหนึ่งด้วย

แต่ถึงรถเรามีมูลค่าต่ำกว่าหนี้ ถ้าเลือกวิธีนี้ ก็ควรรีบขายให้เร็วที่สุด เพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตให้ต่ำที่สุด เพราะรถยิ่งอายุเยอะ ราคายิ่งตก จะทำให้เราต้องแบกรับภาระค่าเสียหายที่สูงขึ้นด้วย

การขายแบบเปลี่ยนสัญญา และนำเงินที่ได้ไปปิดจ่ายไฟแนนซ์ ซึ่งเป็นวิธีที่ปลอดภัยที่สุด แต่อาจจะต้องยอมขายขาดทุน เพื่อแลกกับเวลาและค่าใช้จ่ายที่จะตามมาในอนาคตปลอดภัยทั้งคนค้ำประกัน ปลอดภัยทั้งผู้เช่าซื้อด้วย ดังนี้

(1) แบบซื้อด้วยเงินสดครบเต็มจำนวน

เช่น ตกลงซื้อขายกัน 600000 แล้วรถติดไฟแนนซ์ 500000 ในวันที่จะทำการซื้อขายกัน ก็ให้ผู้ซื้อเอาเงินจ่ายปิดบัญชีไป 500000 แล้วก็จ่ายที่เหลือให้กับผู้ขายไปอีก 100000 แล้วแจ้งให้ไฟแนนซ์โอนรถข้ามเป็นชื่อผู้ที่มาซื้อไปเลย แต่ตอนปิดสัญญาผู้ขายผู้ซื้อต้องไปจ่ายด้วยกันเท่านั้น เพราะทั้งผู้ซื้อและผู้ขายต้องเก็บสำเนาใบเสร็จการปิดบัญชีกับสัญญาซื้อขายไว้เป็นหลักฐานด้วย

(2) แบบเปลี่ยนคู่สัญญา

คือ ขอเปลี่ยน”ผู้เช่าซื้อ”ที่ไฟแนนซ์ โดยที่ผู้ขายและผู้ซื้อต้องไปด้วยกัน วิธีนี้ผู้ซื้อจะได้ประโยชน์ตรงที่ได้ผ่อนต่อในสัญญาเดิมที่ผู้ขายได้ผ่อนไปแล้ว บางส่วนทำให้ประหยัดดอกเบี้ยไป

4. ขายให้บุคคลอื่นโดยไม่ได้เปลี่ยนสัญญา

วิธีนี้ผู้เช่าซื้อยังเป็นเราเหมือนเดิมอยู่ กรณีนี้ค่อนข้างเสี่ยงอย่างมากๆ ถ้าคนซื้อไม่ยอมไปปิดไฟแนนซ์หรือไม่ยอมผ่อนต่อ ผลก็จะตกกับเราเพราะทางไฟแนนซ์ถือว่าเรายังเป็นหนี้ไฟแนนซ์อยู่ ถ้าไปตามเอาเงินจากคนที่ซื้อไม่ได้ เราก็ต้องผ่อนต่อไป แต่ถ้าไม่มีเงินไปผ่อนหรือไม่ยอมผ่อนต่อ เพราะคิดว่าขายรถไปแล้วไฟแนนซ์ควรไปตามทวงหนี้คนซื้อเอง เพราะสัญญาซื้อขายก็มี ขอบอกไว้เลยนะ ว่า “สัญญาซื้อขายจะเป็นหลักฐานมัดตัวผู้ขาย” เองนะ รถติดไฟแนนซ์ ไฟแนนซ์เป็นเจ้าของรถ เราเป็นแค่ผู้ครอบครอง เราไม่มีสิทธิ์เอารถไฟแนนซ์ไปขาย ทางไฟแนนซ์มีสิทธิที่จะฟ้องเราข้อหายักยอกทรัพย์ได้

5. ตัดใจคืนรถ

การที่เราซื้อรถเงินผ่อนกับไฟแนนซ์โดยทำสัญญาผ่อนส่งเป็นงวดๆ เช่น 60 งวด เป็นต้น สัญญานี้เรียกว่า “เช่าซื้อ” ซึ่งเป็นสัญญาที่มีลักษณะพิเศษ ที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือผู้เช่าซื้อ สามารถบอกเลิกสัญญาได้ทุกเมื่อ

คือ เมื่อคืนรถไปแล้ว ก็ไม่ต้องจ่ายเพิ่มอีก ดังนั้นในกรณีที่ส่งค่าเช่าซื้อรถยนต์อยู่ แล้วรู้สึกว่ากำลังจะไม่มีความสามารถส่งค่าเช่าซื้อได้ต่อไป ให้ทำการยื่นเรื่องเพื่อขอคืนรถกับไฟแนนซ์ที่เราได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถคันนั้นเอาไว้ แล้วขอยกเลิกสัญญาเช่าซื้อ

เมื่อกระบวนการคืนรถเสร็จสิ้น จะถือว่าสัญญาเช่าซื้อนั้นสิ้นสุดลงแล้ว ไม่สามารถนำมาเรียกร้องค่าเสียหายเพิ่มเติมได้อีก การคืนรถจะสมบูรณ์ เมื่อผู้เช่าซื้อต้องส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์พร้อมกับชำระเงินทั้งปวงที่ถึงกำหนดชำระหรือเป็นหนี้ตามสัญญานี้อยู่ในเวลาที่ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่ไฟแนนซ์แล้ว

กฎหมายข้อนี้ คนส่วนใหญ่ไม่รู้ ทำให้เวลาผ่อนไม่ไหว ก็มักจะเลือกวิธีหยุดส่งค่างวดรถ พอขาดส่งค่างวดรถติดต่อกัน 3 งวด และรอให้ไฟแนนซ์มายึดรถยนต์กลับคืนไป เพราะสัญญาเช่าซื้อกำหนดให้ผู้ให้เช่าซื้อ (ไฟแนนซ์) จะเลิกสัญญาเช่าซื้อได้นั้น ผู้เช่าซื้อต้องตกเป็นผู้ผิดนัด 3 งวดติดกันและผู้ให้เช่าซื้อต้องมีหนังสือบอกกล่าวให้ผู้เช่าซื้อชำระค่าเช่าซื้อด้วยเป็นเวลาอย่างน้อย 30 วัน

แปลว่า เราต้องผิดนัด 3 งวดติดต่อกันและไฟแนนซ์มีหนังสือแจ้งให้เราไปจ่ายหนี้อย่างน้อย 30 วันก่อน ไฟแนนซ์ถึงมีสิทธิยึดรถเราไปขายทอดตลาดได้

เมื่อไฟแนนซ์ยึดรถได้ ก็จะนำรถยนต์ไปขายทอดตลาด เอาเงินมาชำระหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อ หากนำรถยนต์ไปขายทอดตลาด แล้วได้เงินไม่เพียงพอต่อมูลหนี้ตามสัญญา ไฟแนนซ์ก็จะมาฟ้องผู้เช่าซื้อให้รับผิดชอบส่วนต่างที่ยังขาด (เขาเรียกส่วนต่างนี้ว่า ค่าขาดราคา)

ซึ่งผู้เช่าซื้อจะต้องรับผิดชอบกับค่าเสียหายในส่วนต่างที่ขาดนั้น โดยปกติแล้วไฟแนนซ์จะต้องการเงินมากกว่ารถ ทำให้มักจะขายรถไปในราคาถูกกว่าราคาตลาดมากๆ เพราะไฟแนนซ์มั่นใจว่าอย่างไรก็ตามผู้เช่าซื้อต้องรับผิดชอบในค่าขาดราคาอยู่ดี จนตอนหลังได้มีประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา ออกมาเพื่อคุ้มครองผู้เช่าซื้อ โดยผู้เช่าซื้อจะไม่ต้องจ่ายค่าส่วนต่างจากการคืนรถที่ถูกยึด ถ้าไฟแนนซ์ปฎิบัติไม่ถูกต้อง หรือไม่ปฎิบัติตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา ข้อ (5) ซึ่งมี 2 ข้อ หลักๆ คือ

(1) ต้องแจ้งล่วงหน้าให้ผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกัน(ถ้ามี) เป็นหนังสือไม่น้อยกว่า 7 วัน
(2) ขายโดยวิธีประมูล หรือขายทอดตลาดที่เหมาะสม

เเต่หากไฟแนนซ์ปฎิบัติถูกต้องครบถ้วนทั้ง 2 หลักเกณฑ์เเล้วหนี้ไม่พอชำระ ไฟแนนซ์ก็สามารถเรียกส่วนต่างราคาจากผู้เช่าซื้อได้อีก

แต่ถ้าเป็นอีกกรณี คือ ผู้เช่าซื้อนำรถยนต์ไปคืนไฟแนนซ์เอง ก่อนที่จะผิดนัดครบ 3 งวด หรือ การที่ผู้เช่าซื้อนำรถยนต์คืนไฟแนนซ์ และไฟแนนซ์ยอมรับรถยนต์ดังกล่าวคืน ถือว่าสัญญาเช่าซื้อระงับสิ้นสุดลง เพราะคู่สัญญาสมัครใจเลิกสัญญากันเองด้วยการส่งมอบรถยนต์กลับคืนเจ้าของ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 573 ที่กล่าวไปแล้ว

เมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกัน โดยที่ผู้เช่าซื้อไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา หรือ ไฟแนนซ์ไม่ได้มายึดรถยนต์กลับไปเอง หากไฟแนนซ์นำรถยนต์ไปขายทอดตลาดได้เงินไม่เพียงพอกับยอดหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อ ค่าเสียหายส่วนนี้ ผู้เช่าซื้อไม่ต้องรับผิดชอบทั้งสิ้น จะรับผิดก็แค่ค่าเช่าซื้อค้างชำระแต่ละงวดที่เรายังไม่ได้ชำระไฟแนนซ์ก่อนวันที่จะนำรถยนต์ส่งมอบคืนเท่านั้น แปลว่าผู้เช่าซื้อรับผิดชอบแค่ค่าเช่าซื้อที่ยังค้างอยู่ก่อนส่งรถคืนเท่านั้น

แต่จะเลือกวิธีไหน ก็แล้วแต่กรณี ดูที่ความสามารถในการผ่อนหนี้ของเรา มูลหนี้ และมูลค่ารถ ดูความสามารถในการผ่อนชำระของตนเองว่ามีมากหรือน้อยแค่ไหน พูดง่ายๆ คือ ดูรายรับ รายจ่ายของตัวเอง ว่าสามารถผ่อนต่อได้ในระดับไหน และดูมูลค่ารถยนต์ที่เป็นหลักประกันมีราคาต่ำกว่าภาระหนี้แค่ไหน เพื่อจะได้ใช้ในการพิจารณาเลือกทางออกที่เหมาะสม