นับว่าเป็นปัญหาที่หลายคนเคยเจอกันอยู่แล้ว แต่บางครั้งก็ยากที่จะปฏิเสธเพราะคนที่มายืมดันเป็นคนสนิท ไม่รู้ว่าจะพูดยังไงให้รักษาความสัมพันธ์ aomMONEY เห็นว่าประเด็นนี้น่าสนใจเลยอยากเอามาแชร์ให้ฟังครับ

ปฏิเสธอย่างไร.. ไม่ให้ทำลายความสัมพันธ์

1. บอกไปตามตรง

การบอกไปตามตรงอาจจะดูทำยากไปหน่อย แต่อย่างน้อยเราก็จริงใจที่จะปฏิเสธออกไปว่าไม่สบายใจที่จะให้ยืม เพราะสถานการณ์แบบนี้มนุษย์เงินเดือนหาเช้ากินค่ำอย่างเรา ก็คงลำบากเหมือนกัน แต่ต้องระวังน้ำเสียงและท่าทางที่จะปฏิเสธออกไปด้วย เพราะการที่เขาเอ่ยปากยืมนั่นอาจคือความกล้าทั้งหมดที่ถูกรวบรวมมาแล้วก็ได้

2. มีเรื่องต้องใช้เงินเหมือนกัน

สำหรับใครที่รู้สึกลำบากใจ ไม่กล้าปฏิเสธไปตรง ๆ ก็บอกไปเลยว่า “เราเป็นแค่มนุษย์เงินเดือน มีภาระค่าใช้จ่ายที่ต้องรับผิดชอบเหมือนกัน” มีหนี้สินอะไรบ้างก็ว่ากันไป เช่น หนี้บ้านที่ต้องผ่อนทุกเดือน ค่างวดรถที่ต้องจ่ายประจำ หรือเงินที่ต้องส่งให้พ่อแม่

3. เสนอทางออกอื่นที่ดีกว่า

ถ้าเราไม่สามารถให้ยืมได้จริง ๆ แต่ก็เห็นใจเพราะเขาก็คงลำบาก ถึงแม้ว่าเราจะให้ยืมเงินไม่ได้ แต่เราก็สามารถช่วยเหลือเขาได้ อย่างการช่วยหาทางออกอื่นที่ดีกว่า โดยแนะนำให้เขาหารายได้เสริม ในความถนัดของตัวเองไปต่อยอดให้เกิดรายได้ เช่น เรามีความถนัดในด้านการเขียน ก็อาจจะรับจ้างเขียนบทความเป็นฟรีแลนซ์ก็ได้ครับ ทำในช่วงที่เราว่างจากงานประจำจะได้มีรายได้ทั้งสองช่องทาง

4. นำเงินไปลงทุนสำหรับวางแผนเกษียณหมดแล้ว

อีกหนึ่งวิธีการปฏิเสธสำหรับสายนักลงทุนคือ “เงินเก็บที่มีอยู่เอาไปลงทุนหมดแล้ว” จะซื้อหุ้น ซื้อกองทนุ หรือลงทุนอะไรก็ว่ากันไป เพราะถ้าได้ยินแบบนี้แล้วเขาก็คงรู้ว่า เราไม่มีเงินเย็นที่จะให้เขายืมได้จริง ๆ สุดท้ายเขาก็คงเลิกที่จะยืมเงินเราไปเอง เพราะคงไม่มีใครตื้อให้เราถอนเงินลงทุนออกมาหรอกครับ

5. ถ้าปฏิเสธไม่ได้ก็ให้เท่าที่ยอมเสียได้

สำหรับใครที่ลำบากใจแต่ก็ไม่กล้าปฏิเสธอะไรเลย แนะนำว่าให้ยืมเท่าที่เราไหวครับ จะได้ไม่เดือดร้อนตัวเองด้วย ซึ่งวิธีนี้ก็ถือว่าได้ช่วยเหลือเหมือนกัน โดยที่เราก็ไม่ได้ลำบากใจจนเกินไป แม้ว่าจะไม่ใช่จำนวนเงินที่เขาต้องการ แต่ก็ถือว่าได้ช่วยเหลือและถนอมน้ำใจกันครับ

คำแนะนำจาก aomMONEY

“การไม่มีหนี้เป็นลาภอันประเสริฐ” ดังนั้น เราควรวางแผนการเงินให้ดีจะได้ไม่เป็นนักยืม โดยอันดับแรกคือ หยุดสร้างหนี้สินก่อนจะได้ไม่เป็นหนี้เพิ่มขึ้นจากเดิม ต่อมาต้องรู้จักออมเงิน เมื่อเงินเดือนออกให้ออมทันที เพราะค่าใช้จ่ายต่าง ๆ จะต้องเหลือจากการออมเงิน ซึ่งอยากให้ทุกคนคิดไว้เสมอว่า รายรับ - เงินออม = ค่าใช้จ่าย หรือเรียกง่าย ๆ ว่าออมก่อนใช้นั้นเองครับ อาจจะแบ่งออมสัก 10% ของเงินเดือนก่อนก็ได้ แต่ถ้าเดือนไหนภาระน้อยก็ค่อยเพิ่มจำนวนเอาครับ และสุดท้ายคือ การทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย เพราะจะทำให้รู้ว่าจ่ายเงินไปกับอะไรมากที่สุด จะได้พยายามลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป ถ้าเพื่อน ๆ ทำตามคำแนะนำรับรองว่าจะไม่เป็นนักยืมแน่นอนครับ

เป็นอย่างไรกันบ้างครับสำหรับวิธีการปฏิเสธแบบไม่ให้ทำลายความสัมพันธ์ คงจะเป็นทางเลือกให้หลาย ๆ คนกล้าที่จะปฏิเสธกันมากขึ้น แต่ถ้าเราลองทำทุกวิถีทางแล้วก็ยังไม่ได้ผล งั้นลองพูดไปตรง ๆ ดูเลยก็ได้ครับ แต่ถ้าปฏิเสธการยืมไม่ได้จริง ๆ ก็ทำข้อตกลงให้เป็นลายลักษณ์อักษรก็ดีนะครับ เพื่อป้องกันเอาไว้ก่อน เผื่อลูกหนี้ผิดคำพูดขึ้นมา เราจะได้มีหลักฐานตรงนี้ไปแจ้งความเอาผิดได้ครับ ซึ่งแน่นอนว่าการยืมเงินไม่ใช่เรื่องดี ดังนั้น เราต้องหมั่นเก็บออมและบริหารเงินให้ดีเพื่อไม่ให้กลายเป็นนักยืมครับ และสำหรับใครที่มีเทคนิคการปฏิเสธเหล่านักยืมก็มาแชร์กันได้นะครับ