การเพิ่มรายได้เป็นสิ่งที่ยากกว่าลดรายจ่าย...ในตอนแรก

แต่ถ้าในระยะยาวแล้ว หากเราต้องการสร้างความมั่งคั่ง และอยากออมเงินให้ได้มากขึ้น การเพิ่มรายได้คือทางเลือกที่ดีกว่า เพราะการตัดค่าใช้จ่ายสุดท้ายก็จะมีขอบเขตจำกัดที่ลดลงไปไม่ได้อีกแล้ว (สามารถตามอ่านได้จากลิงก์อ้างอิงในคอมเมนต์ครับ)

และวิธีที่ดีที่สุดในการเพิ่มรายได้ของเราคือเริ่มต้นจากการเข้าใจสินทรัพย์ที่ใกล้ตัวที่สุดอย่าง ‘ตัวเราเอง’ นี่แหละครับ

นิก มักจิอุลลี (Nick Maggiulli) อธิบายเรื่องนี้ในหนังสือการเงินชื่อว่า “Just Keep Buying” ว่า “วิธีที่ดีที่สุดในการเพิ่มรายได้ของคุณคือการหาวิธีปลดล็อกมูลค่าทางการเงินในตัวคุณ”

เปลี่ยนทุนมนุษย์ (Human Capital) หรือคุณค่าต่างๆ ที่เรามีอย่างเช่นความรู้ ทักษะ ไอเดีย หรือเวลาของคุณให้กลายเป็นเงินให้ได้

มีด้วยกันทั้งหมด 5 วิธีด้วยกัน

1. ขายเวลา / ความเชี่ยวชาญ
2. ขายทักษะ / บริการ
3. การสอนผู้อื่น
4. ผลิตสินค้าขาย
5. การไต่ระดับในองค์กร

ซึ่งแต่ละอันมีข้อดี/ข้อเสีย แตกต่างกันออกไป เดี๋ยวมาลองไล่เรียงกันทีละอัน

แต่ก่อนจะไปตรงนั้น สิ่งหนึ่งที่อยากจะแชร์เอาไว้ก่อนก็คือว่าเราไม่จำเป็นต้องมีรายได้ทางเดียวหรือยึดติดอยู่กับวิธีการหาเงินแบบใดแบบหนึ่งเท่านั้น เพราะการมีรายได้หลายๆ ทาง ถือเป็นการกระจายความเสี่ยงของชีวิตได้เป็นอย่างดี

ในหนังสือ “Money Summary” พี่หนุ่ม-Money Coach เขียนเอาไว้ว่า “อย่าปล่อยให้ตัวเองมีรายได้ทางเดียว แนวคิด ‘multi-income stream’ หรือการมีรายได้หลายทางนั้นไม่ใช่แนวคิดการสร้างความร่ำรวยเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นแนวคิดที่สำคัญสำหรับการ ‘ป้องกัน’ ความเสี่ยงทางการเงินอีกด้วย”

สมมุติเราทำงาน ขายเวลาเป็นพนักงานประจำ รายได้มีทางเดียว หากตกงาน ทีนี้กลายเป็นเรื่องใหญ่แน่นอน เพราะต่อให้รายได้เยอะยังไง ก็มีแค่ทางเดียว และพร้อมจะหายไปได้ทุกเมื่อ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม

หรือแม้แต่มีธุรกิจส่วนตัว แต่ถ้าเป็นรายได้ทางเดียว ก็ยังมีความเสี่ยงไม่ต่างกัน เพราะฉะนั้นแต่ละวิธีสร้างรายได้ที่จะกล่าวถึงต่อจากนี้ หากทำพร้อมๆ กันได้หรือหาทางทำให้มันเป็น Passive Income ที่สร้างรายได้ให้สม่ำเสมอก็จะดีกว่า

1. ขายเวลา/ความเชี่ยวชาญ

สุภาษิตเขาว่า “เวลาเป็นเงินเป็นทอง” ก็คงหมายถึงการทำงานนี่แหละครับ

อยากได้เงินมากขึ้น ก็ขายเวลา/ความเชี่ยวชาญของเราให้มากขึ้น

ลองค้นหาสิ่งที่คุณถนัด ทักษะที่เป็นประโยชน์ต่อคนอื่น แก้ไขปัญหาให้คนอื่นได้ ให้ลองมองรอบๆ ตัวว่าใครมีปัญหาอะไรบ้าง แล้วเริ่มคิดจากตรงนั้นว่าเรามีทักษะที่ไปสอดคล้องแก้ปัญหาให้ได้ไหม

เช่นเห็นเพื่อนอยากทำเว็บไซต์ แล้วคุณมีความรู้ในการทำเว็บไซต์ ก็ลองทักไปแก้ปัญหาตรงนี้ให้

หรือบางทีเห็นเขาประกาศหาคนแปลเอกสารภาษา xxx แล้วคุณพอจะทำได้ ก็ลองทักไปดู

ข้อเสียของการขายเวลา/ความเชี่ยวชาญ คือเราไม่สามารถขยายมันออกไปได้ มันจำกัดแค่นี้ การทำงานหนึ่งชั่วโมงเท่ากับรายได้หนึ่งชั่วโมงเสมอ (แม้ว่ามันอาจจะเพิ่มขึ้นเมื่อคุณเชี่ยวชาญมากขึ้นก็ตาม) เพราะฉะนั้นเราก็จะร่ำรวยไปไดถึงจุดหนึ่งเท่านั้น

ข้อดี : เริ่มง่าย ต้นทุนต่ำ
ข้อเสีย : เวลามีจำกัด ขยายเพิ่มไม่ได้

2. ขายทักษะ/บริการ

การขายเวลาในส่วนแรกเป็นการเสนอตัวไปทำงาน แลกเวลากับเงิน การขายทักษะ/บริการในข้อสองจะคล้ายๆ กัน แต่จะมีรูปแบบที่ชัดเจนกว่า อาจจะสร้างธุรกิจงานเสริมขึ้นมาทำอย่างจริงจัง

สร้างเว็บไซต์เพื่อขายทักษะของตัวเอง เช่นรับทำงานออกแบบกราฟิก หรือ รับจ้างถ่ายภาพงานรับปริญญา งานแต่งงาน รับทำขนมสำหรับวันเกิด ฯลฯ

การขายทักษะเหล่านี้ ‘มีโอกาส’ ในการสร้างรายได้มากกว่าการขายเวลา เพราะเมื่อแบรนด์เราเป็นที่รู้จัก (เฮ้ย…พี่คนนั้นถ่ายรูปสวยมากนะ, เค้กวันเกิดร้านนี้ดีมากเลย ฯลฯ) เราจะสามารถปรับขึ้นราคาของตัวเองได้แล้ว

แต่...ทักษะหรือบริการแบบนี้ ก็ยังจะจำกัดเรื่องขนาดอยู่ดี เพราะสุดท้ายแล้วคุณก็ยังต้องใช้เวลาทำงาน หรือถ้ามีคนมาช่วย ก็ต้องมาจัดการเรื่องคนอีก มีความซับซ้อนเพิ่มขึ้นไปด้วย

ข้อดี : รายได้สูงกว่าแบบแรก สร้างแบรนด์ของตัวเองได้
ข้อเสีย : ต้องลงทุนเวลาเพื่อให้มันเติบโต พัฒนาทักษะ ความสามารถของตัวเองให้โดดเด่น เป็นที่ต้องการของตลาด และขยายไม่ง่ายนัก

3. การสอนผู้อื่น

ปัจจุบันเราสามารถเพิ่มช่องทางการสร้างรายได้ของตัวเองผ่านการสอนความรู้ ความถนัดของเราให้คนอื่นผ่านโลกออนไลน์ได้อย่างไม่จำกัด

ลองต่อยอดจากข้อสองก็ได้ เมื่อเราทำแบรนด์หรือสิ่งที่เราถนัดจนสร้างผู้ติดตามได้แล้วในระดับหนึ่ง สิ่งที่ทำได้ต่อไปก็ลองถ่ายทอดทักษะบางอย่างเพื่อให้คนที่ติดตามไปพัฒนาต่อเองก็ได้

ยกตัวอย่างเช่นเราทำเบเกอรี่ขาย ก็สร้างรายได้ได้ในระดับหนึ่ง แต่ถ้าเราสอนเป็นคลาสออนไลน์ อาจจะแบ่งเป็นสูตรขนมแต่ละอย่าง ขนมอบ ขนมทอด ขนมไทย ฯลฯ หรือแบ่งย่อยๆ เป็นเมนูต่างๆ ก็ได้ อัดไว้ล่วงหน้า แล้วเรียกเก็บเงินสำหรับคนที่อยากเข้ามาหาความรู้เพิ่มเติม อยากเอาไปทำตาม

หรือจะเป็นเรื่องอื่นๆ เช่นการเขียนนิยาย การสร้างโปรแกรม การแต่งภาพ การถ่ายรูป ฯลฯ

เหมือนคำที่อาริสโตเติลเคยกล่าวไว้ว่า “คนที่รู้ ทำ คนที่เข้าใจ สอน”

ข้อดี : ขยายกิจการง่าย
ข้อเสีย : การแข่งขันสูง เพราะทุกคนก็อยากขายเหมือนกัน ต้องมีการแข่งขันกันอย่างต่อเนื่อง

4. ผลิตสินค้าขาย

ข้อนี้เหมาะสำหรับคนที่ชอบมองหาโอกาสใหม่ๆ สร้างผลิตภัณฑ์ที่ไปแก้ปัญหาให้คนอื่น ไม่ว่าจะด้านอารมณ์ จิตใจ ร่างกาย หรือการเงิน มูลค่าของสินค้าจะขึ้นอยู่กับว่าคุณแก้ไขปัญหาได้ถูกจุดมากแค่ไหน

เกาถูกที่คันรึเปล่า

สมมุติคุณเรียนจบด้านบัญชี มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องการแก้ไขหนี้สินเป็นอย่างดี คุณอาจจะเขียนหนังสือออกมาเล่มหนึ่งขายออนไลน์ เพื่อให้คนที่เป็นหนี้โหลดไปใช้งาน

หรือบางทีคุณอาจจะเก่งเรื่องการเขียนโปรแกรม คุณเห็นว่าคนสมัยนี้อยากแต่งรูปที่มีหน้าตาวินเทจคล้ายถ่ายจากกล้องฟิล์มก่อนจะโพสต์บนโซเชียลมีเดีย ก็อาจจะสร้างโปรแกรมขึ้นมาเพื่อรองรับการตบแต่งรูปแบบนี้ เพื่อให้คนโหลดไปใช้งาน

ข้อดี : ขยายกิจการได้
ข้อเสีย : ต้องลงทุน/เวลาค่อนข้างเยอะและต้องทำตลาดอย่างต่อเนื่อง

5. การไต่ระดับในองค์กร

อย่ามองข้ามการเพิ่มรายได้ในข้อนี้เป็นอันขาด หลายคนอาจจะคิดว่ามันฟังดูน่าเบื่อจังเลย ใช่ครับมันอาจจะน่าเบื่อ แต่จากข้อมูลแล้วการทำงานในองค์กรทั่วไป แล้วไต่ระดับเงินเดือนขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่เรื่องที่แย่อะไรนัก

โดยเฉพาะคนที่ยังอายุน้อย ยังไม่มีประสบการณ์ การเริ่มทำงานแบบนี้อาจจะไม่ได้ทำให้คุณรวยอย่างรวดเร็ว แต่จะทำให้คุณเรียนรู้วิธีการทำงานร่วมกับผู้อื่น พร้อมทั้งพัฒนาทักษะต่างๆ ให้เป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญในสายงานนั้นๆ ก็ได้

แม้สุดท้ายเราต้องการทำธุรกิจของตัวเอง แต่การเริ่มต้นทำงานให้องค์กรก็ถือเป็นสิ่งที่ช่วยเตรียมพร้อมเราให้ไปถึงจุดนั้น เก็บเกี่ยวประสบการณ์ เงิน และความพร้อม ก่อนที่จะเริ่มทำธุรกิจของตัวเอง

ข้อดี : ได้รับทักษะและประสบการณ์ รายได้เติบโตตามอายุงานและความเชี่ยวชาญ
ข้อเสีย : ไม่สามารถควบคุมเวลาของตัวเองได้

วิธีข้างต้นถือว่าเพียงจุดเริ่มต้นเพื่อให้เราไปคิดต่อยอด สร้างโอกาสในการเพิ่มรายรับของเราให้มากขึ้น แต่ให้ลองคิดต่อไปอีกระดับหนึ่งว่าจะทำให้มันเติบโตแบบระยะยาวได้ยังไง นำเงินตรงนี้ไปซื้อสินทรัพย์ที่เติบโตได้ไหม ลงทุนในธุรกิจอื่นๆ ได้อีกรึเปล่า?

หากยังคิดไม่ออกตอนนี้ไม่เป็นไร ตราบใดที่ตอนนี้เราเริ่มเห็นแล้วว่า ถ้าอยากร่ำรวย เราจะมานั่งตัดแต่รายจ่ายที่ไม่จำเป็นไม่ได้ แต่ต้องหารายได้เพิ่มมากขึ้น หลายทางด้วยยิ่งดี