ต้นเดือนใช้ชีวิตอย่างราชา แต่สิ้นเดือนกลายเป็นยาจก ทั้งที่ตั้งใจว่าจะออมเงินแล้ว แต่ก็ทำไม่สำเร็จซักที ใครที่เป็นแบบนี้อย่าเพิ่งท้อครับ ถ้าอยากมีเงินออมเพิ่ม เราสามารถทำได้ 2 ทางคือ “หารายได้เสริม” เอาความถนัดมาเปลี่ยนเป็นเงิน และ “ลดรายจ่าย” ซึ่งก็มีหลายวิธีที่หลายคนอาจมองข้ามไป วันนี้ aomMONEY จะขอหยิบยกมา 5 ข้อ ลองไปดูกันเลยครับ

1. ปิดหนี้บัตรเครดิต/บัตรกดเงินสด ให้เร็วที่สุด

หนี้บัตรเครดิต/บัตรกดเงินสด คือรายจ่ายที่เป็นภาระก้อนโต เพราะมีอัตราดอกเบี้ยสูง หากเราปิดหนี้ได้เร็วเท่าไหร่ ค่าใช้จ่ายก็จะลดลง และเหลือเงินออมมากขึ้น ลองทำ “ตารางแจกแจงหนี้” แล้วเขียนรายการหนี้บัตรเครดิตทั้งหมด ตามรายละเอียดดังนี้

👉 รายการหนี้ (เป็นหนี้อะไร? ของที่ไหน?)
👉 ยอดหนี้ที่เหลืออยู่ (กี่บาท?)
👉 ยอดชำระต่อเดือน (จ่ายงวดละเท่าไหร่?)
👉 อัตราดอกเบี้ยต่อปี (กี่ %?)
👉 ระยะเวลาที่เหลือ (อีกกี่งวดจะจ่ายหมด? -ถ้าทราบ-)

พอบันทึกรายละเอียดต่างๆ ครบแล้ว ก็ให้เรียงลำดับการจ่ายหนี้ แล้วเลือกปิดหนี้บัตรที่ “ดอกเบี้ยสูงที่สุดก่อน” เหมือนกับการอุดรอยรั่วรูใหญ่ที่สุด แต่ถ้าดอกเบี้ยสูงเท่ากัน ให้ปิดหนี้บัตรที่มี “ยอดคงเหลือต่ำสุด” ก่อน จะได้มีกำลังใจ มีเงินเหลือในการปิดหนี้ก้อนต่อๆ ไปครับ

2. เลือกใช้เงินสดกับค่าใช้จ่ายบางอย่าง

ในแต่ละเดือน ให้เราตั้งค่าจ่ายบิลอัตโนมัติสำหรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นทุกอย่าง เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอินเทอร์เน็ต ฯลฯ ส่วนพวกค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น หรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เราต้องการประหยัดงบประมาณ เช่น เสื้อผ้า ขนม ชอปปิงอื่นๆ ให้ใช้ “เงินสด” เท่านั้น เพราะจะทำให้เราสัมผัสถึงปริมาณเงินที่ไหลเข้า-ออก หากใช้มากเกินไปก็จะรู้สึกตัวได้เร็วกว่าการใช้จ่ายออนไลน์ ซึ่งการใช้แอปพลิเคชันจดบันทึกรายรับ-รายจ่าย ก็จะช่วยจัดการเงินสดส่วนนี้ได้

3. ทำอาหารกินเองที่บ้าน

แน่นอนว่าเราสามารถกินอาหารมื้อพิเศษนอกบ้านได้ในโอกาสสำคัญ แต่ในชีวิตประจำวันแล้ว การทำอาหารกินเองที่บ้านจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากกว่า และได้ใช้เวลาร่วมกับคนในครอบครัว แถมยังไม่เสี่ยงต่อโรคระบาดด้วย ถ้าใครไม่มีเวลาทำอาหารทุกวัน ก็ให้ทำอาหารหม้อใหญ่ที่สามารถแบ่งกินได้หลายมื้อ เช่น แกงต่างๆ ส่วนการซื้อวัตถุดิบก็แนะนำให้ซื้อแบบยกโหล มักจะราคาถูกกว่าซื้อทีละชิ้นๆ

4. ยกเลิกสมาชิกรายเดือนที่ไม่จำเป็น

หลายคนมีค่าใช้จ่ายแบบ “ไม่รู้ตัว” เยอะมาก เช่น เสียเงินไปกับค่าสมาชิกฟิตเนส ทั้งที่ไม่เคยไปใช้บริการเลย สมัครแอปพลิเคชันดูหนังฟังเพลงทุกแอปฯ แต่ใช้จริงๆ แค่ไม่กี่แอปฯ ทั้งหมดนี้หากรวมกันก็เป็นค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ได้นะ เราสามารถจัดลำดับความสำคัญ เลือกเฉพาะสิ่งที่ใช้บริการบ่อยๆ แล้วตัดอันที่ไม่จำเป็นทิ้งไป หรือวันข้างหน้าหากเรามีเงินเหลือมากพอ อาจจะกลับมาพิจารณาสมัครอีกครั้ง

5. เจรจาขอลดเบี้ยประกันที่ต้องจ่าย

นักวางแผนการเงินในสหรัฐฯ มักจะให้คำแนะนำกับลูกค้าว่า ค่าใช้จ่ายแฝงที่หลายคนมักจะไม่ได้นึกถึง คือการต่ออายุประกันภัยต่างๆ โดยอัตโนมัติ เพราะเรามักจะจ่ายค่าเบี้ย แล้วลืมมันไปเลย จนกระทั่งถึงเวลาจ่ายเบี้ยครั้งต่อไป ซึ่งนั่นจะทำให้เราเสียโอกาสในการค้นหาข้อเสนอที่ดีกว่าจากผู้ให้บริการรายอื่น บางครั้งอาจมีบริษัทอื่นเสนอประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองมากกว่า แต่จ่ายเบี้ยน้อยกว่าก็เป็นได้

หรือถ้าเรามีประกันรถยนต์ แล้วที่ผ่านมาเรามีประวัติขับขี่ปลอดภัย ยังไม่เคยเบิกเคลมใดๆ เลย ลองถามกับตัวแทนประกันดูว่า สามารถขอลดค่าเบี้ยประกันที่ต้องจ่ายลงได้ไหม

ทั้ง 5 ข้อนี้คือวิธีลดค่าใช้จ่ายที่สามารถทำได้ง่ายๆ อาจดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่จริงๆ แล้วเมื่อเอามารวมกัน ก็เป็นเงินก้อนใหญ่ได้เหมือนกัน หากเราสามารถประหยัดส่วนนี้ได้ ก็จะมีเงินออมและลงทุนเพิ่มขึ้นแน่นอนครับ