เมื่อมีสถิติในปี 2022 บ่งบอกว่า 41% ของคู่รักมักทะเลาะมีปากเสียงกันเพราะเรื่องเงิน เราจึงไม่แปลกใจว่าปัญหาเรื่องเงินนี่แหละที่เป็นหนึ่งในหลาย ๆ ปัญหาที่ทำให้คู่รักหย่าร้างแยกทางกันได้

เพราะฉะนั้นก่อนที่เราจะตกลงแต่งงานเริ่มครอบครัวกับใคร ถ้าอยากให้ความสัมพันธ์ราบรื่นตลอดรอดฝั่ง อยากจะชวนคุณ (และถ้าให้ดีก็คนรัก) มาอ่าน 6 ประเด็นการเงินชนวนปัญหาแห่งการทะเลาะกันของคู่รักเกี่ยวกับการเงินไว้สักหน่อย เพื่อจะได้ช่วยกันแก้ไขปัญหาหากมีอะไรเกิดขึ้น ก่อนที่รักแท้จะแพ้เรื่องเงินๆทองๆไปซะก่อน

1. ไม่เปิดเผยรายได้ที่แท้จริงและไม่เอาเงินมารวมไว้ด้วยกัน

เว็บไซต์การเงินและการลงทุนอย่าง Investopedia อธิบายว่าเมื่อคู่รักต่างคนต่างทำงานและไม่เคยพูดกันเรื่องเงินหรือไม่สามารถตกลงกันได้เมื่อมีประเด็นเกี่ยวกับเงินเข้ามาในชีวิต พวกเขาก็ตัดสินใจแบ่งรายจ่ายกันคนละครึ่ง หรือก็แบ่งสรรกันในแบบที่คิดว่าแฟร์หรือพอใจในเวลานั้น พอรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่ตัวเองต้องดูแลแล้ว ที่เหลือจะเอาไปทำอะไรก็ได้ตามใจ

มันฟังดูเป็นเรื่องที่ค่อนข้างมีเหตุผล แต่กระบวนการนี้จะทำให้ต่างฝ่ายต่างอึดอัดเมื่อเวลาผ่านไปเรื่อย ๆ เสียโอกาสในการร่วมกันนำเงินที่หาได้ไปช่วยกันลงทุน ก่อร่างสร้างเป็นเงินสำหรับช่วงเวลาฉุกเฉิน เก็บเงินไว้ซื้อบ้าน หรือบั้นปลายชีวิตอยากทำอะไรด้วยกัน ฯลฯ

เมื่อต่างฝ่ายต่างหาต่างเก็บ บางทีไม่ยอมบอกว่าได้เงินมากแค่ไหน น้อยแค่ไหน กลายเป็นการซ่อนเงินจากอีกฝ่าย กลายเป็นความไม่ซื่อสัตย์เรื่องการเงินในความสัมพันธ์ ซึ่งต่อมาก็กลายเป็นประเด็นปัญหาในความสัมพันธ์ได้เลยทีเดียว

เมื่อแบ่งค่าใช้จ่ายกันคนละครึ่ง เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ทีนี้จะเกิดปัญหาอย่างแน่นอน ถ้าอีกฝ่ายจ่ายไม่ได้ จ่ายไม่ไหว ตกงาน เปลี่ยนเส้นทางอาชีพ ถูกลดเงินเดือน หรือต้องออกจากงานเพราะปัญหาเรื่องสุขภาพหรืออะไรก็ตาม เงินจะเริ่มขาดและทำให้กลายเป็นหนี้ตามมาได้

เพราะฉะนั้นคู่รักควร/ต้องคุยกันก่อนที่เรื่องนี้จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่แก้ไขไม่ได้ทีหลัง

2. หนี้สินเก่าที่แบกมาด้วย

มีคนบอกว่าเวลาแต่งงาน เราไม่ได้แต่งงานกับแค่ร่างกายของอีกฝ่าย แต่รวมไปถึงภาระต่าง ๆ ที่แบกบนบ่ามาด้วย ซึ่งรวมไปถึงหนี้สินต่าง ๆ หนี้การศึกษา หนี้บัตรเครดิต หรือแม้แต่นิสัยแย่ ๆ อย่างการติดการพนัน

ถ้าฝ่ายใดก็ตามมีหนี้สินเยอะ ชนวนจะถูกจุดปะทุขึ้นมาทันทีเมื่อมีการพูดถึงเรื่องรายรับรายจ่าย การใช้เงิน หรือหนี้ที่เพิ่มพอกพูนมากขึ้นเรื่อย ๆ จากไหนบ้างก็ไม่รู้

ทางที่ดีที่สุดคือคุยกันก่อนครับ ก่อนจะจดทะเบียนสมรส ก่อนจะลงหลักปักฐานเป็นครอบครัว เอามาแผ่ดูว่ามันมีอะไรตรงไหนบ้าง ก้อนหนี้เท่าไหร่ มีอะไรที่พอจะช่วยเหลือกัน แบกร่วมกันได้ไหม ถ้ารักกันแล้วแน่นอนครับปัญหามันพอจะแก้ไขได้ เพียงแต่ต้องซื่อสัตย์ต่อกัน และช่วยกันเมื่อมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นระหว่างทาง

หรือถ้าเกิดจะแยกทางกันก่อนแต่งงาน นั่นก็ยังเป็นการตัดสินใจที่ดีกว่ามาทำทีหลังอยู่ดี

3. ไม่สนใจนิสัยที่แตกต่างกัน

แต่ละคนมีนิสัยและพฤติกรรมเกี่ยวกับเงินที่แตกต่างกัน แม้แต่ละฝ่ายจะไม่มีหนี้ แต่ถ้าคนหนึ่งเป็นคนชอบออม และอีกคนเป็นคนชอบใช้เงิน ทีนี้มันก็เกิดปัญหาได้เช่นเดียวกันถ้าเราไม่ทำความเข้าใจซึ่งกันและกันก่อนตั้งแต่แรก เปิดอกคุยกันครับว่าคุณชอบอะไร ใช้เงินกับอะไร สิ่งไหนที่ทำให้คุณมีความสุข และก็ต้องรับฟังอีกฝ่ายอย่างเปิดใจด้วย

บางคนรับความเสี่ยงในการลงทุนได้มากกว่า บางคนบอกว่าขอปลอดภัยในการเก็บเงินไว้ในธนาคาร

ไม่ว่าเราจะมีนิสัยทางการเงินยังไง ขอให้รับรู้ไว้ว่าอีกฝั่งไม่จำเป็นต้องเหมือนเรา และเราจะยอมรับกันและกัน หาข้อสรุปตรงกลาง ความสมดุลทางการเงิน และมีเป้าหมายทางการเงินร่วมกันได้ยังไง

4. แสดงว่าตัวเองมีอำนาจในการตัดสินใจที่เหนือกว่า

ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นได้ในลักษณะดังนี้

- คนหนึ่งทำงานหาเงิน ส่วนอีกคนไม่ได้ทำ
- ทั้งสองคนอยากจะทำงาน แต่คนหนึ่งยังว่างงานอยู่
- ฝ่ายหนึ่งหาเงินได้มากกว่าในจำนวนที่เยอะมาก ๆ
- ฝ่ายหนึ่งมาจากครอบครัวที่ร่ำรวยมาก ๆ ส่วนอีกฝ่ายไม่มีอะไรเลย

เมื่อสถานการณ์เหล่านี้เกิดขึ้น คนที่มีเงินหรือหารายได้ได้มากกว่ามักจะอยากเป็นผู้นำและตัดสินใจว่าการใช้จ่ายเงินต้องไปทางไหน

แม้จะฟังดูมีเหตุผล แต่อยากยกประเด็นหนึ่งที่ต้องคิดก็คือว่าทั้งคู่เป็นคู่รักกัน อยู่ทีมเดียวกัน และจำเอาไว้ว่าความรู้สึกและความคิดของอีกฝ่ายนั้นก็มีค่าไม่ต่างอะไรจากของคุณเอง ต้องเคารพตรงนี้ด้วย

5. ครอบครัวที่เติบโตขึ้น

การตัดสินใจที่จะมีลูกหรือไม่และเมื่อไหร่คือการตัดสินใจเรื่องการเงินเช่นเดียวกัน เราต้องคิดถึงเรื่องค่าใช้จ่ายต่าง ๆ อาหาร เสื้อผ้า ที่อยู่อาศัย โรงเรียน เรียนพิเศษ กิจกรรม ของเล่น หนังสือ ประกันสุขภาพ ป่วยไข้เข้าโรงพยาบาล ไปจนกระทั่งเข้าเรียนมหาวิทยาลัยเลย

เงินเหล่านี้ไม่ใช่เงินน้อย ๆ

แล้วคิดดูว่า...ถ้าลูกไม่สามารถจะหาเลี้ยงตัวเองได้หลังเรียนจบ ต้องพึ่งพาเงินจากคุณต่อไปอีกไม่รู้กี่ปี คุณในฐานะพ่อแม่ก็ต้องช่วย แต่เราไหวรึเปล่า?

พอเป็นเรื่องการเลี้ยงลูกแต่ละคนก็มีหน้าที่แตกต่างกัน ฝ่ายหนึ่งก็อาจจะลดจำนวนการทำงานลง เพื่อมาดูแลลูกมากขึ้น อาจจะต้องทำงานที่บ้าน หรือบางคนอาจจะตัดสินใจลาออกจากงานเพื่อมาเป็นพ่อหรือแม่เต็มเวลาไปเลยก็มี

ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ต้องมีการพูดคุยกัน เพราะครอบครัวที่ขยายโตขึ้นก็จะกระทบกับแผนการเงินที่วางเอาไว้ ไลฟ์สไตล์ และความฝันของแต่ละคนด้วย

6. รับมือกับครอบครัวของอีกฝ่าย

อันนี้ปัญหาใหญ่เลยครับ เพราะในสังคมบ้านเราซึ่งอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ บางทีเรื่องเงินไม่ใช่ปัญหาของคนสองคนหรือครอบครัวของเราเท่านั้น แต่มันดันไปผูกกับครอบครัวของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพิ่มเข้ามาด้วย

ยกตัวอย่างง่าย ๆ พ่อตา แม่ยายแก่แล้ว ย้ายมาอยู่ที่บ้าน ไม่มีเงินเก็บเพราะส่งลูกหลานเรียนหนังสือ เราซึ่งไม่ได้เป็นสายเลือดโดยตรงแต่เป็นลูกเขยลูกสะใภ้ ก็รู้สึกว่าไม่ค่อยแฟร์เท่าไหร่ ที่ต้องหาเงินมาเลี้ยงดูพ่อแม่ของอีกฝ่าย ออกเงินให้ทุกอย่าง บางทีลูกแท้ ๆ อาจจะไม่ได้ส่งเงินมาช่วยดูแลเลยด้วยซ้ำ

บางทีเจ็บป่วยเข้าโรงพยาบาล ค่าหมอค่ายา หลายแสนหลายล้าน ทีนี้จะเอายังไงดี? ปัญหาเหล่านี้ครับแก้ยากมาก กดดันจนอาจจะทำให้เลิกราแยกทางกันได้เลยจริง ๆ

วิธีการรับมือที่ดีที่สุดคืออย่าเก็บเอาไว้ครับ คุยกับอีกฝ่ายครับว่าคุณรู้สึกยังไง แน่นอนอาจจะนำมาซึ่งการทะเลาะกัน แต่ก็ยังดีกว่าจะกดเอาไว้จนวันหนึ่งมันระเบิดออกมา แล้วเลิกกันไปเลย ถ้ามีพี่น้องหลายคนก็อาจจะขอเงินช่วยกันดูแลพ่อแม่ หรือสลับไปอยู่บ้านนั้นที บ้านโน้นที บางทีอาจจะหาบ้านพักคนชราแล้วช่วยกันส่งเงิน ฯลฯ

แต่นี่เป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้นนะครับ ปัญหาอาจจะไม่ได้เป็นที่พ่อตาแม่ยาย อาจจะเป็นเรื่องพี่น้องของอีกฝั่งที่มีปัญหาเรื่องเงินที่เราต้องเข้าไปดูแล เรื่องบุตรที่มาจากการแต่งงานครั้งก่อน หรือแม้แต่ญาติทางฝั่งเราที่อาจจะก่อให้เกิดความไม่สบายใจขึ้นได้เช่นเดียวกัน

ไม่ว่าจะทางออกไหน แต่ก็ขอให้คุยกันและช่วยกันแก้ไขปัญหาครับ จับมือกันไว้แน่น ๆ ไม่ว่าจนหรือรวย ความท้าทายเรื่องเงินก็จะเกิดขึ้นอยู่เรื่อย ๆ ตลอดเส้นทางความสัมพันธ์ อาจจะมาในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป แต่สิ่งสำคัญฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะแบกแล้วพยายามแก้ไขเองทั้งหมดไม่ได้ เพราะในเมื่ออยู่ด้วยกันแล้ว รวยก็รวยด้วยกัน เจอปัญหาไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ ก็เจอด้วยกัน มันคือปัญหา “ของเรา” แล้วฟันฝ่าไปด้วยกันครับ (ยกเว้นอีกฝ่ายบอกไม่เอาแล้ว ขอบาย...อันนี้ก็เรื่องนะครับ)