อาการเดือนชนเดือน ชักหน้าไม่ถึงหลังถือว่าเป็นสิ่งที่หลายๆ คนคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี

มีผลสำรวจจาก The Deloitte Global 2022 ที่ไปสอบถามกลุ่มตัวอย่าง เป็น คน Gen Y และ Gen Z จำนวนกว่า 23,220 คนทั่วโลก ซึ่งเป็นมนุษย์เงินเดือน ในจำนวนนี้มี คนไทย 300 คนรวมอยู่ด้วย พบว่า เกินครึ่งของกลุ่มตัวอย่าง ใช้ชีวิตแบบเดือนชนเดือน และต่างกังวลว่าจะไม่มีเงินไปจ่ายบิล

มันเป็นปัญหาที่เจอกันทั่วโลกไม่ใช่แค่บ้านเราเท่านั้น เงินเดือนออกดีใจ พอสิ้นเดือนเหมือนจะขาดใจ และคำถามนี้ยิ่งน่าชวนให้สงสัยมากขึ้นไปอีกเมื่อมันเกิดขึ้นในยุคสมัยที่คนรุ่นใหม่มีสถิติจบการศึกษาในระดับที่สูงมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ทำไมคนส่วนใหญ่ยังประสบปัญหาเรื่องการเงินกันอยู่เลย

วันนี้ทาง aomMONEY ไปเจอบทความหนึ่งที่พูดถึงเรื่องนี้ เลยถือโอกาสหยิบบางส่วนมาแบ่งปันให้เพื่อนๆ ได้อ่านกันครับ ที่จริงแล้วปัญหานี้มีปัจจัยหลายๆ ด้านที่เป็นสาเหตุเลย

1. ระบบการศึกษาไม่ได้สอนเรื่องการเงิน

พอเราได้ยินว่าคนจบมหาวิทยาลัยมีระดับการศึกษาเรียนจบสูงขึ้น เรามักคิดกันไปเองว่าการไปโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยนั้นจะสอนทุกอย่างในการใช้ชีวิตเมื่อจบออกมาจากรั้วมหาวิทยาลัย นั่นไม่ใช่เรื่องจริงเลย เราเห็นหมอ ทนาย โปรแกรมเมอร์ หรือนักบัญชี ที่ทำงานกับตัวเลขทั้งวัน แต่ก็ยังมีปัญหาเรื่องการจัดการเงินของตัวเองอยู่เลย

เพราะฉะนั้นเหตุผลแรกเลยคือเราไม่มีความรู้เรื่องการจัดการเงิน วิธีแก้อันนี้ไม่ยากครับ เรียนรู้จากหนังสือ, เพจการเงิน (อย่าง aomMONEY) หรือพอดแคสต์ ต่างๆ การหาเงินได้เยอะๆ อย่างเดียวไม่เพียงพอ ต้องรู้จักจัดการเงินให้ถูกต้องด้วย ไม่งั้นหามาเท่าไหร่ก็ไม่เหลือ

2. ใบปริญญาที่ทำให้เข้าใจผิด

หลายคนอาจจะมองว่าเรียนจบจากมหาวิทยาลัย ได้ใบปริญญามาก็จบแล้ว ไม่จำเป็นต้องเรียนรู้เพิ่มเติมเพราะเรียนมาหมดแล้วจากมหาวิทยาลัย ซึ่งนั่นเป็นแนวคิดที่ไม่ถูกต้องนัก

ใบปริญญาหรือใบประกาศฯ อะไรก็ตาม เป็นเพียงหลักฐานว่าคุณได้ผ่านการเรียนรู้หลักสูตรตามที่กำหนดเอาไว้ ความรู้นั้นมีอยู่ทุกที่ รวมถึงนอกห้องเรียน จากการลงมือทำ จากความล้มเหลว จากการเรียนรู้ในทุกๆ วัน

เราต้องมองว่าการเรียนรู้เป็นเหมือนกับน้ำที่ต้องคอยเติมคอยดื่ม เหมือนอาหารที่ต้องทานเป็นประจำเพื่อให้เติบโตและอยู่รอดได้ ใบปริญญาเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น

3. แม้จะรักงานที่ทำ แต่มันก็อาจจะไม่ได้ทำให้คุณร่ำรวย

ถามว่าเราจะร่ำรวยจากการเป็นพนักงานประจำได้ไหม? คำตอบคือได้ครับ แต่ไม่ง่ายสักเท่าไหร่

เพราะวันและเวลาของเรามีจำกัด เราจะทำงานกินเงินเดือนเพื่อจะให้ร่ำรวยคงเป็นไปได้ยาก แล้วต้องออกไปเป็นเจ้านายตัวเองเหรอ? ก็ไม่ใช่ครับ ไม่ใช่ทุกคนที่พร้อมจะเป็นผู้ประกอบการอีกนั่นแหละ

วิธีที่จะทำให้เรามีโอกาสที่จะสร้างความั่งคั่งให้กับตัวเองได้โดยยังเป็นพนักงานกินเงินเดือนคือเรียนรู้ที่จะรู้จักการลงทุนครับ เรียนรู้ว่าต้องจัดการเงินที่ได้มายังไง เอาไปลงทุนที่ไหนถึงจะได้ผลตอบแทนที่ดี เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายการมีอิสรภาพทางการเงินในท้ายที่สุด

อย่ารอให้เงินเดือนสูงๆ แล้วค่อยคิดจะสร้างความมั่งคั่ง เริ่มวันนี้เลยตั้งแต่เงินยังไม่เยอะนี่แหละ

4. ความเย่อหยิ่งและภูมิใจที่มากเกินไป

อย่างหนึ่งที่เราต้องยอมรับครับว่าโลกนี้เปลี่ยนไปมากแล้ว เราเห็นคนรุ่นใหม่ๆ หาเงินได้มากมายโดยที่ไม่มีใบปริญญาหรือยังไม่เคยเรียนมหาวิทยาลัยเลยด้วยซ้ำ

เพราะฉะนั้นคนที่จบสูงๆ บางทีก็รู้สึกว่าตัวเองมีความรู้มากกว่า คิดว่าตัวเองรู้แล้วไม่ยอมเรียนรู้เพิ่มเติม เสียโอกาสที่จะเรียนรู้จากคนรุ่นใหม่ๆ

ความรู้สึกภูมิใจในการศึกษาหรือการเรียนจบสูงๆ นั้นไม่ใช่เรื่องผิด ตราบใดที่มันไม่มาบังตาเราจนมองไม่เห็นโอกาสที่จะเรียนรู้หรือปิดกั้นเราไม่ให้เปิดใจรับฟังไอเดียใหม่ๆจากคนอื่น

5. หนี้สินที่เกินตัว

เราเห็นเรื่องนี้กันมาเยอะครับ หลายคนอาจจะกำลังตกอยู่ในกลุ่มนี้ หาเงินได้ไม่น้อย เงินเดือนเข้ามาก ก็ออกไปมาก ที่นี้ออกมากเกินไปก็กลายเป็นหนี้ อุปกรณ์แกดเจ็ตต่างๆ เสื้อผ้าหรู กินแพง ท่องเที่ยวแบบเกินเนื้อเกินตัว ฯลฯ คือแพตเทิร์นที่เราเห็นกันนั่นแหละ

แม้เราจะหาเงินได้เป็นแสนเป็นล้าน ถ้าเงินออกเป็นแสนเป็นล้านเหมือนกัน สุดท้ายปลายทางก็จะลำบากอยู่ดี ถ้าไม่รู้จักจัดการเงินและลงทุนให้ถูกต้อง เริ่มต้นจากการลงทุนในความรู้ ลงทุนในตัวเองก่อน ขยายขอบเขตความรู้และสร้างคอนเน็กชันต่างๆ เพื่อให้เราได้เติบโต

อย่าก่อหนี้ที่เกินตัวและอย่าคิดว่าเดี๋ยวค่อยเก็บ เพราะเราไม่รู้เลยว่าเมื่อไหร่ที่เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดจะเกิดขึ้น คุณอาจจะป่วย เกิดอุบัติเหตุ ตกงาน หรือบางทีที่บ้านจำเป็นต้องใช้เงินด่วน ทีนี้หนี้สินที่มีอยู่นี่แหละที่จะรัดตัวจนคุณอาจจะเสียศูนย์ได้เลยทีเดียว

6. ตกงาน

เศรษฐกิจปัจจุบัน ใบปริญญาไม่ได้การันตีว่าคุณจะไม่ตกงานหรือมีงานที่ปลอดภัยเสมอไป ทุกอย่างเกิดขึ้นได้ เคยลองคิดถึงสถานการณ์ที่ไม่มีงานจะเป็นยังไง?

บางคนอาจจะบอกว่า ตกงานก็สมัครงานใหม่? มันก็ได้ครับ แต่ก็ไม่ได้ง่าย ยิ่งถ้าอายุเยอะแล้ว 35-40-45 อัพจะยิ่งเป็นตลาดที่หางานไม่ง่ายเลย

บางคนอาจจะบอกว่า ตกงานก็เริ่มธุรกิจของตัวเองเลยสิ? มันก็จริงครับ แต่ธุรกิจที่เจ๊งก็เยอะมากมายเช่นกัน แต่อย่างน้อยก็มีอำนาจควบคุมสถานการณ์มากกว่าการเป็นพนักงาน

เพราะฉะนั้นในขณะที่ยังมีงานทำหรือมีทางเลือก ให้ลองมองหาช่องทางในการสร้างรายได้เสริม หารายได้เพิ่ม หรือควรจะมีอำนาจควบคุมเส้นทางการทำงานของตัวเองด้วย หาช่องทางและโอกาสใหม่ๆ ไว้เผื่อ เตรียมตัวเงินสำหรับเหตุการณ์ฉุกเฉิน ถ้าตกงานแล้วมีเงินสำรองก็ยังพอถูไถไปได้ก่อนจะหาทางออกใหม่ได้ ในเศรษฐกิจแบบนี้ความแน่นอนไม่มีอยู่จริง

7. หนี้การศึกษา

ข้อมูลจากเว็บไซต์ข่าว BBC บอกว่า ตั้งแต่ปี 2538 เป็นต้นมามีคนไทยกว่า 6.2 ล้านคนได้กู้ยืมเงิน กยศ. ไปเกือบ 700,000 ล้านบาท มีเพียง 1.6 ล้านรายที่ปลดหนี้แล้ว มี 3.45 ล้านรายที่อยู่ระหว่างชำระหนี้ และ 1 ล้านรายที่อยู่ในช่วงใกล้ปลดหนี้ ส่วนอีก 68,000 เสียชีวิต/ทุพพลภาพ และอีก 1.1 ล้านรายถูกบังคับคดีฟ้องร้องเพราะขาดจ่าย

ซึ่งตรงนี้คนที่จบจากมหาวิทยาลัยมักและต้องไปกู้ กยศ. จะมีหนี้ติดตัวมาแล้วตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มงานเฉลี่ยประมาณ 150,000 - 200,000 บาท แม้ดอกเบี้ยจะต่ำ แต่มันก็ยังถือเป็นหนี้ก้อนที่ต้องจ่าย บางคนใช้เวลาหลายปีกว่าจะจ่ายหมด เพราะเรียนจบหาเงินก็มีภาระส่งเงินกลับบ้านอีก ถือว่าเป็นปัญหาที่ทำให้ชักหน้าไม่ถึงหลังเดือนชนเดือนได้เช่นเดียวกัน