จากเรื่องจริงที่สร้างเป็นภาพยนตร์ซึ่งได้รับรางวัลและเสนอชื่อเข้ารับรางวัลอีกมากมาย The Wolf of Wall Street ถือว่าเป็นภาพยนตร์ที่นำเสนอเรื่องราวด้านมืดของตลาดหุ้น ความโลภ ความกลัว และธรรมชาติของมนุษย์อันบิดเบี้ยวที่มีต่อส่ิงที่เรียกว่า ‘เงิน’ ได้เป็นอย่างดี

จอร์แดน เบลฟอร์ (Jordan Belfort) (นำแสดงโดย ลีโอนาร์โด ดิ คาปริโอ​) เกิดในปี 1962 ในครอบครัวของนักบัญชีซึ่งพ่อแม่ทำงานหนัก แต่ก็ไม่ได้ร่ำรวย แถมยังค่อนข้างยุ่งจนแทบไม่มีเวลาให้กันด้วย

เบลฟอร์เป็นคนทะเยอทะยาน ทำธุรกิจหลายอย่างมาตั้งแต่เด็ก ๆ หลังจากเรียนจบมหาวิทยาลัยก็ทำธุรกิจขายเนื้อแต่ก็ล้มละลาย เมื่อเห็นว่าเพื่อนบ้านมีฐานะดีจากการเป็นนายหน้าขายหุ้น (Stock Broker) ก็เริ่มสนใจและเห็นช่องทางการทำเงินครั้งใหม่

แม้จะไม่ได้จบด้านการเงิน แต่เขาเรียนรู้อย่างรวดเร็วและด้วยประสบการณ์การทำธุรกิจและขายของมาตั้งแต่เด็ก ทำให้เขาได้งานที่บริษัท L.F. Rothschild และฝึกงานอยู่ที่นั่น 6 เดือน

แต่วันแรกที่ไปทำงาน วันที่ 19 ตุลาคม 1987 ก็เกิดเหตุการณ์ Black Money ตลาดหุ้นร่วงหนัก จนทำให้บริษัทที่เขาทำงานอยู่เจ๊งไปเลยแล้วก็ตกงาน ซึ่งหลังจากนั้นเองที่เขาได้รู้จักกับหุ้น “Penny Stocks” หรือหุ้นของธุรกิจขนาดเล็กที่ไม่ได้เข้าตลาดหุ้น ถ้าขายหุ้นเหล่านี้ได้ก็จะได้รับค่าคอมมิชชัน 50% แทนที่จะได้ค่าคอมมิชชันเพียงเล็กน้อยเหมือนหุ้นในตลาด

ด้วยทักษะการขายที่ยอดเยี่ยมทำให้เขาสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ สองปีต่อมาก็เปิดบริษัทนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ของตัวเองชื่อ Stratton Oakmont ในปี 1989 ซึ่งช่วงเวลานี้เองที่เขาเริ่มสร้างรายได้อย่างมหาศาล ซึ่งตอนเริ่มต้นของหนังเขาบอกว่าปีที่อายุ 26 นั้นเขาโกรธตัวเองเพราะทำเงินได้เพียง 49 ล้านเหรียญ ซึ่งขาดไปแค่ 3 ล้าน เขาก็ทำสถิติอาทิตย์ละล้านเหรียญได้แล้ว

แน่นอนครับเงินที่ได้มานั้นไม่ได้ใสซื่อ เขาฝึกพนักงานของตัวเองให้เป็นเซลล์ขายหุ้น โทรไปหานักลงทุนมากมาย นำเสนอหุ้นราคาถูกโดยให้คำมั่นสัญญาว่ามันจะขึ้น ควรเข้าซื้อให้มากที่สุดเลยตอนนี้ ซึ่งถ้ามันคุ้น ๆ ก็เพราะนี่ก็คือ “Scam” รูปแบบหนึ่งเหมือนที่เราเห็นตามข่าวนั่นแหละครับ

ช่วงที่รุ่งเรืองมีพนักงานกว่า 1,000 คนที่เชียร์ขายหุ้นขยะที่ไม่มีค่า โดยในภายหลังก็มีการนำหุ้นบริษัทเข้าตลาดเพื่อการเก็งกำไรอีกด้วย (หรือที่เราเรียกว่า IPO นั่นแหละครับ) ราคาก็พุ่งสูงไปจนคนเริ่มติดดอย และขาดทุนกันมากมาย

สุดท้ายในปี 1998 เบลฟอร์ก็ถูกเอาผิดข้อหาฉ้อโกง ปั่นหุ้น รวมถึงฟอกเงิน สร้างความเสียหายหลายร้อยล้านเหรียญ มีผู้เสียหายกว่า 1,500 คน และถูกตัดสินจำคุก 4 ปี (ติดจริง ๆ เพียง 22 เดือน) และหลังจากออกมาจากคุกก็ต้องหาเงินมาคืนผู้เสียหายทั้งหมดด้วย

เรื่องราวของเบลฟอร์และสิ่งที่เขาทำนั้นเป็นบทเรียนเกี่ยวกับเรื่องการลงทุนได้เป็นอย่างดี (สำหรับใครที่ยังไม่ได้ดูขอแนะนำ) และนี่คือบทเรียนด้านการเงิน 7 ข้อที่เราควรเตือนตัวเองอยู่เสมอ เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายในการลงทุนจาก The Wolf of Wall Street

1. ต้องตรวจสอบความน่าเชื่อถือของบริษัทนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ให้ดี

ถ้าเราอยากลงทุน ควรตรวจสอบให้ดีว่าบริษัทนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์นั้นเชื่อถือได้มากขนาดไหน อย่าไว้ใจใครง่ายเกินไปเพียงเพราะพวกเขา “ดูโปร” หรือ “ดูน่าเชื่อถือ” แน่นอนว่าบริษัทเล็ก ๆ ที่ทำงานอย่างเต็มที่จริงจังนั้นมีอยู่จริง เพียงแต่ในฐานะนักลงทุนต้องตรวจสอบให้ดีว่าเงินของเราไปอยู่ที่ไหน

2. เช็กแล้วเช็กอีก

ต่อจากข้อแรก อย่างที่บอกว่าบริษัทเล็ก ๆ ที่ทำงานดีและจริงใจนั้นมีอยู่จริง ก่อนคุณตัดสินใจที่จะเชื่อ อย่าเชื่อเพียงเพราะฟังข้อมูลจากคนที่โทรเข้ามา แต่ให้เช็กแหล่งข้อมูลให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ อย่างการเสพข่าวในปัจจุบันเช่นกัน เมื่อเราเข้าถึงข้อมูลได้อย่างไม่จำกัด หน้าที่ของเราคือการตรวจสอบให้รู้จักบริษัทนั้นเป็นอย่างดีก่อนจะลงทุน

อย่าเพียงซื้อหุ้นเพราะ “เขาบอกว่า...” เพราะเงินของเขาไม่ได้หายไป แต่เงินของคุณ...อาจจะหายไปได้

3. ถ้าดูไม่โปร่งใส ให้วิ่งหนีไว้ก่อน

นายหน้าค้าหุ้นที่ดีนั้นจะทำทุกอย่างอย่างโปร่งใส และไม่ควรยากที่จะหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับบริษัทนั้น ๆ ในภาพยนตร์เรื่องนี้จะเห็นว่าเบลฟอร์ให้ลูกทีมของเขาทุกคนแนะนำตัวเองว่าเป็น “รองประธานอาวุโสของบริษัท” เมื่อโทรไปหานักลงทุน ซึ่งเป็นเทคนิคที่จะทำให้ลูกทีมนั้นดูมีความน่าเชื่อถือและมีความรู้ แต่ไม่ได้หมายความว่าคนที่มีตำแหน่งสูง ๆ จะเชื่อถือได้เสมอไป (ซึ่งเราก็เห็นมาตลอด)

ถ้าดูไม่โปร่งใส หนีก่อนดีกว่า เสียโอกาสรวย ยังดีกว่าไม่มีโอกาสได้รวยอีกเลย

4. ระวังกลุ่มลับ คนพิเศษ

คำพูดที่จะทำให้คุณรู้สึกเป็นคนพิเศษคือ “ลูกค้าของผมนั้นถือเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ที่ถูกคัดมาแล้วเท่านั้น และคุณก็เป็นหนึ่งในนั้นได้” ซึ่งจะทำให้คุณรู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้ถูกเลือก กลุ่มไลน์ลับ กลุ่มหุ้นลับ กลุ่มเทคนิคลับ...อะไรก็ตามที่ลับ ๆ และทำให้คุณรู้สึกว่ามีสิทธิพิเศษกว่าคนอื่น ๆ อันนี้ต้องระวังให้ดี

5. อย่าใส่ไข่ไว้ในตะกร้าใบเดียว

เราเคยได้ยินเรื่องนี้กันบ่อย ๆ เพราะมันเป็นเรื่องจริง อย่าซื้อหุ้นที่เสี่ยงด้วยเงินทั้งหมดในชีวิต เพราะความเสี่ยงที่นั้นสูงเกินไป ไม่ว่าตอนนั้นตลาดหุ้นจะเป็นยังไง จะเป็นตลาดกระทิงที่เขียวทั้งกระดาน จงกระจายความเสี่ยงอยู่เสมอ

6. ถ้ามันดูดีเกินไป มันก็คงเป็นแบบนั้นแหละ

เราอยากจะรวยเร็ว ๆ กันทุกคน อยากตื่นมาพรุ่งนี้เป็นเศรษฐีร้อยล้านพันล้าน เมื่อมีคนมาเสนอแนวทางนั้นให้หรือวิธีทางลัดเพื่อจะไปถึงจุดนั้นให้เร็วที่สุดและมันดูดีเกินจริง เราย่ิงต้องระวังให้ดี หาข้อมูลเพิ่ม ถามตัวเอง ถามคนอื่น ถามทุกคนที่จะถามได้ สุดท้ายก็ถามอีกครั้งว่า “มันเป็นไปได้ยังไง? จริง ๆ เหรอ?”

7. หน่วยงานกำกับดูแลนั้นก็ไม่ได้การันตีความปลอดภัย

หน่วยงานด้านกฎระเบียบและการกำกับดูแลมีความสำคัญมาก แต่การพึ่งพาโดยคิดว่าเชื่อถือได้ 100% ก็เป็นสิ่งที่ค่อนข้างไร้เดียงสาพอสมควร เราต้องเป็นคนกำหนดและตรวจสอบด้วยตัวเองด้วย

อย่างในเรื่องนี้ Stratton Oakmont ถูกตรวจสอบโดยทีมงานของ ก.ล.ต มาตรวจ 4 ทีมตลอดสองปี แต่ก็ไม่เจออะไรเลยเพราะเป็นเพียงเด็กที่ไม่มีประสบการณ์ ไม่รู้เรื่องธุรกิจหลักทรัพย์เลย ซึ่งเบลฟอร์ก็ทำธุรกิจที่ “ดูผิวเผินแล้วถูกกฎหมาย” คนที่เข้ามาตรวจก็วุ่นวายตรวจสอบไป โดยที่ไม่รู้เลยว่าบริษัทกำลังทำเรื่องผิดกฎหมายอยู่แค่ปลายจมูกเท่านั้น

สุดท้ายต้องจำไว้เสมอนะครับว่าไม่ใช่ว่านายหน้าขายหุ้นนั้นจะเป็นเหมือนกับเบลฟอร์ คนที่ดีและจริงใจก็มี เพราะฉะนั้นเน้นย้ำเรื่องการฟังหูไว้หู และหาข้อมูลให้เยอะที่สุดเท่าที่จะทำได้ก่อนจะตัดสินใจลงทุนครับ

อ้างอิง :

- https://mintgenie.livemint.com/photos/personal-finance/investment-lessons-one-can-draw-from-the-wolf-of-wall-street-151646049285167-img3

- https://mintgenie.livemint.com/photos/personal-finance/8-must-watch-stock-market-movies-to-understand-investing-better-151646044822559-img5?fbclid=IwAR094ARdYfkclzWQAdie5G-JF2sg9RfeB2za_xhcolWu_W3Aj0yIyTTdynI