“สร้างเงินล้าน” ฟังดูแล้วเหมือนเป็นเรื่องไกลตัว แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ อีกทั้งถ้าทำได้จริงๆ มันยังจะเป็นต้นทุนชั้นดีที่จะนำไปสู่การต่อยอดสร้างทั้งความมั่งคั่ง มั่นคง และความสำเร็จในชีวิตได้ วันนี้เราลองมาดู 7 แนวทางสร้างเงินล้านจากการลงทุนสำหรับคนรุ่นใหม่ โดย คุณปั้น จิตรกร แสงวิสุทธิ์ เจ้าของเพจนายปั้นเงินกันครับ
1. การใช้สัญชาตญาณในการลงทุนหุ้น
การซื้อหุ้นด้วยสัญชาตญาณเป็นการซื้อด้วยความรู้สึกที่ว่า เราคุ้นเคยกับหุ้นตัวนี้มานานแค่ไหน ซึ่งมันเกิดขึ้นมาจากสัญชาตญาณที่มาจากประสบการณ์ วิธีคิดแบบนี้มีความเสี่ยง เมื่อไหร่ก็ตามที่เราตัดสินใจซื้อบนความรู้สึกที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการหรือทฤษฏีของเรา มันแค่เป็นปรัชญาเท่านั้น เวลาที่เราลงทุนด้วยด้วยการใช้สัญชาตญาณในการซื้อหรือซื้อด้วยความรู้สึก เราไม่ควรจะให้น้ำหนักมากกับจำนวนเงินที่ลงทุน
เมื่อเราใช้ความรู้สึกในการลงทุนไปแล้วมันเกิดข้อผิดพลาด ตรงจุดนี้จะเป็นสิ่งที่เราได้เรียนรู้ว่า ความรู้สึกตรงนั้นมันผิด และกลับมาทบทวนว่าทำไมเราถึงใช้ความรู้สึกหรือใช้สัญชาตญาณในตอนนั้นซื้อ ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีการหาความรู้ต่อ ถ้าถามว่ามันเป็นสิ่งที่ผิดไหม แน่นอนว่ามันเป็นสิ่งที่ผิด แต่เราต้องเรียนรู้จากความผิดพลาดนั้นให้ได้
2. การตัดสินใจลงทุนบนความรู้สึกของตัวเอง
บางครั้งการตัดสินใจลงทุนมักจะเกิดขึ้นจากปัจจัยหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นความรู้ที่เราหามาเองหรือข้อมูลที่ได้รับมาจากคนอื่น ก่อนที่เราตัดสินใจลงทุน เราควรใช้ความรู้ที่เรามีทั้งหมดก่อน เพราะการลงทุนไม่สามารถตัดสินใจบนความรู้หรือความเชื่อของคนอื่นได้ มันต้องเป็นความรู้ ความเชื่อ และข้อมูลที่เกิดขึ้นบนตัวเราก่อนที่จะตัดสินใจลงทุน การที่คนอื่นแนะนำหรือให้ความรู้กับเราเป็นเรื่องที่ดี หากเรานำสิ่งเหล่านั้นมากลั่นกรองและตัดสินใจผ่านกระบวนความคิดของเราเอง
3. ลงทุนบนความเสี่ยงน้อยย่อมดีกว่าความเสี่ยงสูง
ทุกการลงทุนมีความเสี่ยงเสมอไม่ว่าจะลงทุนมากหรือน้อย หากเราลงทุนในจุดที่มีความเสี่ยงน้อยที่สุดแม้ว่าจะได้ผลตอบแทนน้อย ก็ย่อมดีกว่าการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง ที่ถึงแม้ว่าเราอาจได้ผลตอบแทนสูงแต่ก็ต้องแลกมากับโอกาสในการขาดทุนเช่นกัน
4. ความสม่ำเสมอเป็นสิ่งสำคัญ
ความสม่ำเสมอเป็น ‘Mindset’ ของคนที่ประสบความสำเร็จ การลงมือทำอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มต้นในทุกเรื่องเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ว่าเราจะทำอะไรก็ตาม หากเราปฏิบัติกับเรื่องนั้นอยู่เป็นประจำ จะทำให้เราเก่งขึ้น ซึ่งในระยะยาวสิ่งที่เราได้กระทำมาโดยตลอดจะถูกสะสมและเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้เราสามารถก้าวข้ามไปยังจุดที่เราต้องการได้
5. การรักษาเงินต้นให้อยู่ในระยะยาว
เมื่อไหร่ก็ตามที่เราลงทุนและเงินต้นที่เรามีหายหรือขาดทุนไป การจะนำกลับมาให้ได้นั้นคงเป็นเรื่องยาก เพราะเราต้องทำกำไรให้มากกว่าจำนวนเงินที่ขาดทุนไป ดังนั้นหากไม่อยากให้เกิดความยุ่งยากตามมา เราควรรักษาเงินต้นของเราให้ดีที่สุด
6. การเรียนรู้จากการขาดทุน
การลงทุนทำอะไรสักอย่างมันต้องมีคำว่าขาดทุนเข้ามาเกี่ยวข้องเป็นเรื่องปกติ สิ่งสำคัญคือเราได้เรียนรู้อะไรจากการขาดทุนในจุดนั้นบ้าง หากเราขาดทุนแล้วไม่ได้นำสิ่งนั้นมาเรียนรู้และปรับปรุง มันอาจทำให้ความผิดพลาดนั้นเกิดขึ้นซ้ำๆ แต่ถ้าเราได้เรียนรู้จากสิ่งที่ผิดพลาดไป มันจะทำให้เราสามารถปิดจุดอ่อนที่เกิดขึ้น และสร้างภูมิคุ้มกันให้กับการลงทุนระยะยาวได้
7. ลดอีโก้และอ่อนน้อมถ่อมตนต่อตลาดลงทุน
การมีอีโก้อาจทำให้เราตัดสินใจทำอะไรด้วยความมั่นใจมากเกินไป แต่ถ้าเราพยายามมองตัวเองตลอดเวลาและมองว่าเราไม่ได้เก่งกว่าตลาดลงทุน เราก็อาจจะเจ็บตัวน้อยกว่า เพราะฉะนั้น เราต้องไม่พยายามคิดว่าเราเก่งกว่าตลาด และควรใช้ความอ่อนน้อมถ่อมตนในการลงทุน ซึ่งจะทำให้เราเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว เราไม่จำเป็นต้องเก่ง แต่ต้องเอาตัวรอดในระยะยาวให้เป็น เมื่อเราทำผลตอบแทนที่น่าพึงพอใจแล้ว หลังจากนั้นเราจึงสามารถนำความเก่งนั้นไปต่อยอดในการลงทุนได้ ในทางกลับกัน หากเราคิดว่าตัวเองเก่ง แต่ไม่สามารถเอาตัวรอดจากตลาดได้ สุดท้ายเราก็ต้องหันหลังให้กับการลงทุนอยู่ดีครับ