มาถึงวันนี้แล้ว aomMONEY เชื่อว่าหลายคนได้วางแผนจัดสรรค่าใช้จ่ายของตัวเองกันมาประมาณหนึ่งแล้ว แต่สิ่งที่จะมาพูดถึงกันวันนี้ คือ ‘ค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้วางแผนไว้’ เราเตรียมพร้อมรับมือกับค่าใช้จ่ายส่วนนี้กันหรือยัง?

Greg McBride , CFA, หัวหน้านักวิเคราะห์ทางการเงินของ Bankrate กล่าวว่า “ปกติแล้วค่าใช้จ่ายส่วนนี้จะเกิดขึ้นแบบไม่คาดคิด ยิ่งเราเตรียมตัวเร็วเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้เราปลอดภัยเมื่อสถานการณ์ไม่คาดคิดมาเยือน”

🤦 เชื่อไหมว่าคนส่วนใหญ่ยังไม่พร้อม

มาดูกันว่าคนแต่ละเจนมีสัดส่วนของคนที่มีเงินสำรองยามฉุกเฉินเท่าไหร่กันบ้าง

➡️ Gen-Z: 28%
➡️ Millennial: 41%
➡️ Gen Xers: 43%
➡️ Baby Boomers: 65%

จะเห็นได้ว่ามีแค่ชาวเบบี้บูมเมอรส์เท่านั้นที่มีสัดส่วนคนมีเงินสำรองยามฉุกเฉินเกินครึ่ง วันนี้ aomMONEY เลยอยากมาแชร์ 7 เทคนิคการเก็บสำรองเงินของเราไว้ยามฉุกเฉินฉบับทำตามได้ง่ายๆ แบบไม่ฝืนตัวเอง เพื่อเก็บเงินก้อนนี้ให้สำเร็จ

💰 1. ทำรายรับรายจ่าย เพื่อหาจุดที่สามารถนำเงินมาเติบในกองเงินสำรองยามฉุกเฉิน

เพื่อหาทางบริหารเงินให้เป็นสัดส่วน เราต้องรู้ก่อนว่าเรามีเงินเท่าไหร่ และใช้เท่าไหร่ได้บ้าง การทำรายรับรายจ่าย จะช่วยให้เราเก็บออมเข้ากองเงินสำรองยามฉุกเฉินได้อย่างเหมาะสม โดยไม่รบกวนเงินส่วนอื่นๆ เช่น การลงทุน หรือค่าใช้จ่ายส่วนตัว

💰 2. กำหนดขนาดของเงินสำรองยามฉุกเฉิน

เพราะเราทุกคนมีค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต่อเดือนกันอยู่แล้ว เช่น ค่าที่พักอาศัย ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ไปจนถึงค่าใช้จ่ายบนความจำเป็นอื่นๆ ซึ่งเราจะเห็นได้ชัดเจนมาขึ้นหลังจากทำรายรับรายจ่าย และให้นำค่าใช้จ่ายตรงนี้ไปคูณสาม หรือคูณหกตามความเหมาะสม ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้คือขนาดเป้าหมายเงินสำรองยามฉุกเฉินของเรา

💰 3. ตั้งค่าฝากเงินเข้าบัญชีอัตโนมัติ

การฝากเข้าบัญชีอัตโนมัติ (Direct Deposit) คือการฝากเงินเดือน หรือรายรับอื่นๆ เข้าไปยังบัญชีออมทรัพย์ที่เราเลือกโดยอัตโนมัติ ซึ่งเราสามารถย้ายไปยังหลายบัญชีได้ เช่น เงินจำนวนหนึ่งไปยังบัญชีใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และอีกส่วนหนึ่งเข้าบัญชีเงินสำรองยามฉุกเฉิน โดยที่เราไม่ต้องมานั่งแยกโอนด้วยตัวเอง

💰 4. ค่อยๆ เพิ่มการออมเงินเข้าเงินสำรองยามฉุกเฉิน

ในเดือนแรกเราอาจจะตั้งเป้าหมายไว้ว่า 5% ของเงินเดือนจะถูกเก็บเป็นเงินสำรองยามฉุกเฉิน โดยเราอาจเพิ่มเพียงแค่เดือนละ 1% เท่านั้นก็ได้เช่นกัน เพื่อทำให้กองเงินยามฉุกเฉินของเราไปถึงเป้าหมายได้ไวขึ้น และนำเงินส่วนนี้กลับไปสร้างการเติบโตรูปแบบอื่นต่อไป

💰 5. รายรับที่อยู่นอกเหนือการวางแผน ก็ต้องนำมาคิดคำนวณเช่นกัน

การได้รับเงินมาแบบไม่คาดคิด (Financial Windfall) เช่น การถูกหวย เงินคืนภาษี (tax refund) โบนัส และมรดก เป็นต้น โดยเราควรนำเงินส่วนนี้มาคิดสัดส่วนในการออมเพื่อยามฉุกเฉินด้วย นอกจากว่าเราจะมีเงินสำรองตรงนี้เพียงพออยู่แล้วจึงค่อยนำไปบริหารในส่วนอื่นต่อ

แต่อยากแนะนำให้นำไปสร้างการเติบโตของตัวเองเป็นอันดับแรก เพราะจากผลสำรวจของ สถาบันนักบัญชีรับอนุญาตแห่งสหรัฐอเมริกา พบว่า 70% ของผู้คนที่ได้รับเงินส่วนนี้จะใช้จนหมดโดยไม่ได้คิดเรื่องการลงทุน หรือการออม

💰 6. ออมต่อไปแม้จะทำได้ถึงเป้าหมายแล้ว

ยิ่งเราสามารถเพิ่มเงินเข้ากองทุนฉุกเฉินของคุณได้มากเท่าไหร่ คุณก็จะสามารถใช้ชีวิตต่อไปได้นานขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะในกรณีที่เราตกงาน หรือเจ็บป่วย

สำหรับบางคน การมีเงินเก็บยามฉุกเฉินอาจจะเพียงพอ แต่เชื่อไหมว่าในวันที่เราตกงานเกินหนึ่งปี หรือจำเป็นต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลนานหลายเดือน จะเป็นสถานการณ์ที่เราจะดีใจมากที่ได้เก็บเงินส่วนนี้เอาไว้

💰 7. เลือกใช้บัญชีเงินฝากดอกเบี้ยสูงในการเก็บเงินสำรอง

สุดท้ายแล้ว แม้การเก็บเงินสำรองยามฉุกเฉินจะจำเป็น แต่ก็เป็นการนำเงินไปนอนไว้เฉยๆ เพื่อรอวันที่จำเป็นต้องนำมาใช้ และเป็นเรื่องปกติที่เงินในส่วนนี้จะไม่ได้สร้างการเติบโตใดๆ ให้กับเรา อย่างน้อยบัญชีออมทรัพย์ที่เราเลือกใช้เก็บเงินส่วนนี้ก็ควรเป็นบัญชีแบบดอกเบี้ยสูง เพื่อให้เงินก้อนนี้ยังสามารถทำงานให้เราได้บ้าง

สุดท้ายนี้ อยากให้ทุกคนรีบจัดการบริหาร ‘เงินสำรองยามฉุกเฉิน’ ตรงนี้ให้เร็วที่สุด เพราะไม่มีใครรู้อนาคตว่าจะเกิดอะไรขึ้น เมื่อถึงวันที่สถานการณ์ไม่คาดคิดเกิดขึ้น จะเป็นเรื่องยากมากที่จะขยับตัวหาทางรอด หากเรา ‘ไม่มีเงิน’

เรียบเรียง: ชลทิศ ทองไพจิตร
ภาพ: ภควดี เขมะพานิช