เป็นเรื่องที่ง่ายมากในโลกของการลงทุนที่เราเห็นคนประสบความสำเร็จ เป็นนักลงทุนที่ร่ำรวยมหาศาล ขึ้นปกนิตยสารชื่อดัง แล้วเราอยากหา “สูตรลับความสำเร็จ” จากคนเหล่านั้น พวกเขาทำยังไงถึงมาถึงจุดนี้ได้

ถ้าเราลองศึกษาองค์ความรู้ที่เหมือนกันของนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา เราจะเห็นว่าที่จริงแล้วหลักการของพวกเขานั้นไม่ได้ซับซ้อน

อันที่จริงถ้าเรียกว่าเรียบง่ายก็คงไม่ผิดนัก - อดทน มีความรู้ทักษะ ความอ่อนน้อมถ่อมตน และวินัย สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะทำประสบความสำเร็จในการลงทุนเท่านั้น แต่ในชีวิตของเราด้วย

เพราะฉะนั้นถ้าจะมุ่งหาแต่ “สูตรลับ” เพื่อให้พรุ่งนี้ตื่นมาแล้วรวยเลยคงเป็นไปไม่ได้ แต่ว่าถ้าเราอยากจะเรียนรู้บทเรียนจากนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จว่าเขามีแนวคิดยังไง อันนี้น่าจมีประโยชน์มากกว่า

ในบทความนี้เราจะมาดู 8 บทเรียนสั้นๆ จากนักลงทุนในตำนาน 8 คนกัน

แม้ว่ามันจะไม่ได้การันตีว่าจะทำให้คุณรวยหรือมั่งคั่ง แต่เชื่อว่ามันจะสร้างฐานแนวคิดเพื่อจะทำให้คุณเป็นนักลงทุนที่เอาตัวรอดและมีโอกาสชนะในตลาดนี้เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอนครับ

1. คุณไม่ต้องเป็นอัจฉริยะก็ประสบความสำเร็จในตลาดได้

บทเรียนจาก วอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett) ที่เคยบอกว่า

“ขอเพียงคุณมีไอคิว 120 หรือ 130 ที่เหลือก็เอาไม่จำเป็นแล้ว คุณไม่จำเป็นต้องฉลาดล้ำเลิศเพื่อจะประสบความสำเร็จในฐานะนักลงทุน”

คำกล่าวนี้หักล้างความเชื่อผิดๆ ที่ว่าการลงทุนที่ประสบความสำเร็จเป็นเกมสำหรับนักลงทุนที่มีพรสวรรค์ทางสติปัญญาและเป็นอัจฉริยะเท่านั้น

สิ่งที่จำเป็นคือเรื่องของความมั่นคงทางอารมณ์ วินัย ความอดทน ความเข้าใจตลาดและตัวธุรกิจที่กำลังลงทุนมากกว่าที่เป็นปัจจัยทำให้เราประสบความสำเร็จในฐานะนักลงทุน ทุกอย่างล้วนเป็นสิ่งที่สามารถฝึกฝนได้ทั้งสิ้น

2. การลงทุนเป็นส่วนผสมของเศรษฐศาสตร์และจิตวิทยา

บทเรียนจาก เซธ คลาร์แมน (Seth Klarman) นักลงทุนเน้นคุณค่าและนักเขียนหนังสือชื่อดังอย่าง “Margin of Safety” เคยบอกว่า

“การลงทุนเป็นจุดตัดระหว่างเศรษฐศาสตร์และจิตวิทยา”

การลงทุนที่ประสบความสำเร็จนั้นไม่ใช่แค่การเข้าใจงบการเงินหรือเทรนด์ของตลาดเท่านั้น แต่เราต้องเข้าใจพฤติกรรมของมนุษย์ จิตวิทยาเบื้องหลังการตัดสินใจของตลาด และที่สำคัญที่สุดก็คือเข้าใจตัวเองด้วย เราต้องตระหนักถึงอคติต่างๆ ให้การตัดสินใจนั้นเกิดขึ้นบนเหตุผล ไม่ใช่อารมณ์ที่รู้สึกอยู่ในเวลานั้น

3. ตลาดหุ้นเป็นเครื่องชั่งน้ำหนัก

บิดาแห่งการลงทุนแบบเน้นคุณค่า เบนจามิน เกรแฮม (Benjamin Graham) เคยกล่าวว่า

“ในระยะสั้นตลาดหุ้นเป็นเครื่องโหวต ในระยะยาวตลาดหุ้นเป็นเครื่องชั่งน้ำหนัก”

แนวคิดนี้ช่วยสนันสนุนให้เรามองไปไกลมากกว่าแค่การขึ้นลงของตลาดหุ้นในแต่ละวัน สิ่งที่สำคัญคือเรื่องของคุณค่าที่แท้จริงที่อยู่ข้างหลังตัวย่อของหุ้นเหล่านั้นต่างหาก

มูลค่าที่แท้จริงมาจากปัจจัยที่เป็นรูปธรรม เช่น รายได้ สินทรัพย์ และเงินปันผลของบริษัท ซึ่งอาจจะไม่ได้สะท้อนออกมาในราคาหุ้นที่ซื้อขายกันในปัจจุบัน แต่สุดท้ายแล้วปัจจัยพื้นฐานของบริษัทนั่นแหละที่จะเป็นตัวชี้ว่าราคาของหุ้นจะไปในทิศทางไหน

4. การขาดทุนหรือกำไรหุ้นกี่ตัวนั้นไม่สำคัญ เพียงแต่ถ้าขาดทุนอย่าขาดทุนมาก

จอร์จ โซรอส (George Soros) ผู้จัดการกองทุนเฮดจ์ฟันด์ที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งบอกว่า

“มันไม่ใช่เรื่องที่คุณจะถูกหรือผิดในการเลือกหลักทรัพย์ลงทุน แต่เป็นเรื่องว่าคุณจะกำไรเท่าไรถ้าคุณถูก และจะขาดทุนเท่าไรเมื่อคุณเลือกผิด” -

โดย ดร.นิเวศน์หยิบเรื่องหนึ่งของโซรอสมาเล่าบอกว่า เวลาที่ลูกน้องของเขาเสนอซื้อหุ้นอะไรสักอย่าง จะทดสอบโดยการชอร์ตหุ้นตัวนั้นก่อนหนึ่งล็อต ถ้าหุ้นตกเพราะไม่มีคนรับก็จะถอย ปิดชอร์ตและทำกำไรเล็กน้อย แต่ถ้าไม่ตกและปรับตัวขึ้นก็จะยอมขาดทุน ซื้อหุ้นกลับแบบจัดเต็ม เพื่อทำกำไร

สิ่งสำคัญคือโซรอสไม่ได้เล่นทุกวัน และเล่นน้อย ๆ เขาเลือกเล่นตามจังหวะที่คิดว่ามีโอกาสจะชนะและ “กินคำโต” ที่มั่นใจมาก เพราะวิเคราะห์มาแล้วอย่างดีแล้วมากกว่า

5. การลงทุนและออมเงินนั้นจะให้ผลตอบแทนในระยะยาว

ปีเตอร์ ลินช์ (Peter Lynch) หนึ่งในผู้จัดการกองทุนที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดใน Wall Street เคยกล่าวไว้ว่า

“ในระยะยาวแล้ว การหาเงินได้มากเท่าไหร่ไม่ได้เป็นตัวกำหนดความมั่งคั่งของคุณในอนาคต แต่คุณนำเงินตรงนั้นไปทำงานผ่านการเก็บออมและลงทุนมากแค่ไหนต่างหาก”

ประโยคนี้ไม่ต้องตีความอะไรให้ยืดยาว ความหมายตรงตัว คนที่หาเงินได้มากแล้วจ่ายหมดตลอด จะหวังมั่งคั่งคงเป็นไปได้อยาก เพราะฉะนั้นการหาเงินเป็นเพียงครึ่งหนึ่งของสมการ เราต้องรู้จักนำเงินที่หามาได้ไปลงทุนอย่างฉลาดด้วย (ซึ่งอย่างหลังน่าจะสำคัญกว่าด้วยซ้ำ)

แทนที่จะพยายามหาเงินให้ได้มากที่สุด ลองโฟกัสไปที่การสร้างนิสัยการเงินที่ดี อย่าใช้เงินเกินตัว เก็บเงินเผื่อฉุกเฉิน ลงทุนสำหรับอนาคตอย่างสม่ำเสมอ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่าเป็นการทำให้เงินที่หามาทำงานให้เราต่อไปในอนาคตนั่นเอง

6. อย่าปล่อยให้ความกลัวทำให้คุณไม่กล้าลงมือทำ

แคธี วูด (Cathie Wood) ผู้ก่อตั้ง Ark Invest ที่มีชื่อเสียงด้านการลงทุนแบบเน้นการเติบโตบอกว่า

“ตลาดกระทิงที่แข็งแกร่งที่สุดที่เคยผ่านมาถูกสร้างขึ้นบนกำแพงของความวิตกกังวล”

สิ่งนี้ตอกย้ำว่าช่วงเวลาแห่งความไม่แน่นอนและความกลัวมักจะนำมาซึ่งโอกาสในการลงทุนที่ดีที่สุดเช่นเดียวกัน แม้แต่บัฟเฟตต์เองก็เคยพูดว่า “จงกล้าเมื่อคนอื่นกลัว จงกลัวในยามที่คนอื่นโลภ”

เพราะฉะนั้นเมื่อความกลัวตบราคาหุ้นดีๆ ให้ร่วง นั่นเป็นโอกาสที่เราจะสามารถเข้าไปซื้อหุ้นเหล่านั้นได้ในราคาที่ถูกลง

แน่นอนครับ บทเรียนนี้ต้องอาศัยประสบการณ์ ความอดทน และความรู้ เพราะเวลาที่ตลาดร่วง ไม่ได้หมายความว่าจะเข้าไปซื้อหุ้นตัวไหนก็ได้ เพราะถ้าอ้างอิงถึงบทเรียนที่ 3 เมื่อเวลาผ่านไป หุ้นของบริษัทที่แย่สุดท้ายมันก็จะร่วงและอาจจะไม่กลับขึ้นมาอีกเลย

7. โรคกลัวตกกระแส (FOMO) สามารถทำลายความมั่งคั่งของคุณได้

ดอว์น ฟิตซ์แพทริก (Dawn Fitzpatrick) ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุนของ Soros Fund Management เตือนว่าโรคกลัวตกกระแสในการลงทุนในตลาดหุ้นเอาไว้ว่า

“โรคกลัวตกกระแสสร้างก่อให้เกิดความเสียหายต่อนักลงทุนทั่วไปนั้นสูงมาก”

ยิ่งเราใช้เวลาบนโซเชียลมีเดียจะเห็นได้เลยว่าเทรนด์การลงทุนตอนนี้มีอะไรกำลังร้อนแรง “พี่คนนั้น” บอกว่าต้องซื้อตัวนั้นตัวนี้ เข้ากลุ่มไลน์นี้สิเขาแนะนำหุ้นเก่งมาก ฯลฯ จนเรารู้สึกว่าถ้าไม่ตามจะพลาดโอกาสที่จะรวย ภาษาชาวบ้านเรียกตกรถไฟ

แต่ความรู้สึกกลัวตกกระแสเป็นเรื่องที่อันตรายมาก ทำให้เราตัดสินใจบนพื้นฐานของแค่อารมณ์ ไร้กลยุทธ์ ทำตามคนอื่นๆ แบบไม่มีเหตุผล เฮไปฝูงชน เขาทำอะไรก็ทำด้วย

เพราะฉะนั้นเมื่อเห็นโอกาสหรือเทรนด์การลงทุนอะไรก็ตาม รั้งตัวเองเอาไว้ก่อนที่จะกระโดดขึ้นรถไฟขบวนนั้น ถ้าสนใจจริงๆ ควรหาเวลาศึกษาเรื่องนั้นอย่างจริงจัง สำรวจความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ก่อนจะตัดสินใจบนข้อมูลที่ชัดเจนและไปในทิศทางเดียวกับเป้าหมายระยะยาว

การลงทุนคือการวิ่งมาราธอน เพราะฉะนั้นใจเย็นๆ เลือกตัดสินใจให้ดี

8. รู้ตัวเสมอว่ามีอะไรบ้างที่เราไม่รู้

สุดท้ายจะขาดเขาไปไม่ได้เลยคือบทเรียนจาก ชาร์ลี มังเกอร์ (Charlie Munger) คู่หูนักลงทุนของบัฟเฟตต์ คำแนะนำอันยอดเยี่ยมของเขาอันหนึ่งคือ

“สิ่งที่ดีกว่าการเป็นคนเก่งคือการรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่คุณไม่รู้”

ประโยคนี้เน้นย้ำถึงความสำคัญของความอ่อนน้อมถ่อมตนและการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องในการลงทุน

การรู้ว่าขอบเขตความรู้ของเราอยู่ที่ไหน ไม่เพียงแต่จะทำให้ถ่อมตัวเท่านั้น แต่มันยังจะช่วยให้เราหลีกเลี่ยงความผิดพลาดจากสิ่งที่เราไม่มีความรู้ได้อีกด้วย

ความสำเร็จของมังเกอร์และบัฟเฟตต์นั้นถูกสร้างขึ้นมาบนพื้นฐานที่เรียบง่าย ลงทุนในธุรกิจที่เข้าใจ อันไหนที่ไม่รู้จริง ก็ไม่ต้องเข้าไปยุ่ง แม้ว่านั่นจะทำให้พลาดโอกาสในการลงทุนไปบ้าง (อย่างบัฟเฟตต์เองก็เคยมีโอกาสลงทุนใน Google แต่เขาก็ไม่ทำเพราะไม่เข้าใจรูปแบบของธุรกิจ) ก็ไม่เป็นไร (ย้อนกลับไปที่บทเรียนที่ 7)

อย่าลืมว่าแม้เราจะไม่รู้ทุกอย่าง แต่เราสามารถเรียนรู้ได้เสมอ และนั่นก็เป็นเคล็ดลับที่สำคัญมากๆ ในโลกของการลงทุนด้วยครับ