“หลายคนเหลือกินเหลือใช้ แต่หลายคนอดมื้อกินมื้อ
หลายคนนอนอุ่น แต่หลายคนไร้บ้าน
หลายคนมั่งคั่งเพิ่มขึ้นทุกนาที แต่หลายคนไม่เคยจะมีแม้วินาทีเดียว
หลายคนสุขสบาย แต่หลายคนขมขื่นข้นแค้น”

สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจากสองสิ่งที่แตกต่าง คือ ‘มีเงิน’ และ ‘ไม่มีเงิน’ แต่ต้นเหตุทั้งหมดมาจากเงิน จริงหรือ?

มอร์แกน เฮาเซิล คอลัมนิสต์ และผู้ชนะรางวัลนักเขียนประเภทธุรกิจ 2 ครั้งซ้อน จากสมาคมบรรณาธิการ และนักเขียนธุรกิจอเมริกัน ได้เขียนหนังสือ ‘The Psychology of Money’ (จิตวิทยาแห่งเงิน) เพื่อเจาะลึกมุมมองใหม่ที่จะทำให้เราเห็นว่า แม้เงินจะวนเวียนอยู่กับเราทั้งชีวิต แต่ทำไม ‘ทักษะการเงิน’ ของเราถึงได้พัฒนาช้านัก กระทั่งหยุดนิ่งอยู่กับที่

แม้เราจะใช้เงินทุกวัน ผ่านเหตุการณ์ ‘สิ้นใจก่อนสิ้นเดือน’ มาก็หลายครั้ง ลงทุนพลาดมาก็นับไม่ถ้วน แต่เชื่อว่าหลายคนก็ยังเจอกับปัญหาเดิมอยู่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

มาย้อนดูกันดีกว่า ว่าความเชื่อที่เรามีต่อเงินเป็นอย่างไร ผ่าน 8 บทเรียนจากหนังสือ ‘The Psychology of Money’ ที่จะทำให้เราตั้งต้นทัศนคติที่มีต่อเงินใหม่อีกครั้ง

💭 1. “ความสำเร็จไม่ได้เกิดจากการทำงานหนักทั้งหมด และความยากจนไม่ได้เกิดจากความเกียจคร้าน”

เพราะแม้เราจะทำงานหนักแค่ไหน มันก็ไม่เท่า ‘ความสำเร็จทางการเงิน’ ไม่กี่ครั้ง แต่กว่าที่เราจะไปถึงความสำเร็จทางการเงินได้ เราเตรียมเส้นทางไปสู่จุดนั้นกันแค่ไหนกันแล้ว?

ยกตัวอย่าง รู้หรือไม่ว่า บิล เกตต์ เรียนในโรงเรียนที่มีคอมพิวเตอร์เป็นแห่งแรกๆ ของโลก ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของ Microsoft แต่แม้จุดเริ่มต้นจะดี หากเขาไม่ลงมือทำอะไรเลย และจบด้วยการนั่งเล่นคอมไปวันๆ บิลล์ เกตต์ที่เรารู้จักกันในวันนี้ก็คงเป็นอีกคน

💭 2. “การยอมรับว่า เราไม่รู้ นั้นเป็นเรื่องยาก เพราะไม่มีใครชอบสิ่งที่อยู่เหนือการควบคุม”

แต่ความจริงก็คือสิ่งส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นในโลกนี้อยู่นอกเหนือการควบคุมของเรา สิ่งที่เราสามารถควบคุมได้มีแค่ตัวเราเอง และวิธีที่เราตอบสนองต่อเหตุการณ์ภายนอกเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด เมื่อเป็นแบบนั้น หากเราไม่ยอมรับว่า “ไม่รู้” จนไม่หาทางทำให้ตัวเองรู้ให้ได้ และนำไปสู่การลงมือที่ผิด ผลลัพธ์ก็คงออกมาไม่สวยเช่นกัน

💭 3. “เรามักจะไขว้เขว เพราะเกมการเงินของคนอื่น”

หลายคนสนใจการเงินของคนอื่นที่อาจจะรวยเร็ว มีเงินมากมาย ซื้อของราคาแพงอยู่บ่อยๆ แต่จริงๆ แล้วสิ่งที่เราควรสนใจคือการเงิน และเป้าหมายของตัวเองต่างหาก

จะเห็นได้ว่าบางคนชอบลงทุนบนความเสี่ยงสูง แต่บางคนชอบลงทุนระยะยาว ลงทุนน้อย แต่สม่ำเสมอ ต้องบอกว่าไม่มีผิด ไม่มีถูกในเรื่องนี้ มีแต่ ‘เหมาะสม หรือ ไม่เหมาะสม’ อยากให้ทุกคนลองค้นหาวิธีเดินหน้าเติบโตของตัวเอง และจดจ่ออยู่กับมันให้มั่นคงที่สุด

💭 4. “ความมั่งคั่ง คือสิ่งที่มองไม่เห็น”

เป็นเรื่องปกติมากๆ ที่เราจะตัดสินเรื่องต่างๆ จากสิ่งที่เรามองเห็น เช่น การมีเงินมาก เท่ากับเรามั่งคั่งสุดๆ แต่เชื่อไหมว่า ความมั่งคั่งนี่แหละ คือสิ่งที่เรามองไม่เห็น เพราะมันไม่สามารถวัดได้ด้วยตัวเลขเงิน หรือรูปลักษณ์ภายนอกที่มองเห็นได้ด้วยตา

อย่างที่เราเห็นกันบ่อยๆ คนรวยหลายคนมักแต่งตัวธรรมดา และนั่งรถราคาถูก ถ้าเราไม่รู้จักเขามาก่อน เราจะตัดสินว่าเขาเป็นคนจนหรือเปล่า? แม้จะเห็นได้ชัดว่าพวกเขานั้นดูซอมซ่อนิดหน่อย แต่พวกเขามีเงินใช้ไปจนตายแน่นอน ทำให้เห็นว่ารูปลักษณ์ภายนอก หรือเงินไม่ได้บอกอะไรถึงความมั่งคั่งเลยแม้แต่น้อย

💭 5. “ถ้าบอกว่า เงินซื้อเวลาได้ จะเชื่อกันไหม?”

หลายคนอาจไม่เชื่อ งั้นถ้าถามว่า เงินซื้อ ‘ความอิสระ’ ได้ล่ะ? เริ่มเห็นความเป็นไปได้แล้วใช่ไหม แน่นอนว่าในวันที่เรามีอิสรภาพทางการเงิน เวลาของเราจะเหลือเฟือทีเดียว เพราะเราไม่ต้องทำงาน ไม่ต้องกังวลถึงวันพรุ่งนี้ ได้ทำในสิ่งที่อยากทำ และอยู่คนที่อยากอยู่ด้วย นี่แหละ คือสิ่งมีค่าที่สุดที่ ‘เงิน’ จะให้ได้

แต่ต้องมีเงินเยอะเท่านั้นหรอถึงจะเป็นอิสระ? ต้องบอกว่า อิสระนั้น ขึ้นอยู่กับความต้องการของเราเองนี่ล่ะ ยกตัวอย่างเช่น คนที่ต้องไปทำงานต่างเมืองคนเดียว เพื่อแลกกับเงินเดือนสูง กับคนที่สามารถทำงานที่บ้าน หรือใกล้บ้าน ใช้เวลากับครอบครัว แมวสักตัว และงานอดิเรกที่ชอบได้ทุกวัน แต่ได้เงินเดือนน้อยกว่า แค่สองตัวเลือกนี้ก็เชื่อว่าน่าจะทำให้หลายคนตอบไม่เหมือนกันแล้ว

💭 6. “การวางแผนเป็นสิ่งสำคัญก็จริง แต่ที่สำคัญกว่าคือแผนสำรอง”

เคยไหมกับการวางแผนทุกอย่างแบบเป๊ะๆ ละเอียดทุกดีเทล แต่พังลงไม่เป็นท่าเพราะจุดเล็กๆ เพียงจุดเดียว เพราะยิ่งแผนการของเรามีความเฉพาะเจาะจงมากเท่าไหร่ แผนนั้นจะยิ่งเปราะบางมากขึ้นไปอีก สิ่งที่เราทำได้คือการวางแผนอย่างยืดหยุ่น โดยคิดอยู่เสมอว่าความผิดพลาดเกิดขึ้นได้เสมอ ซึ่งเราอาจจะคิดแผนสำรองเผื่อไว้ด้วย

💭 7. “การลงทุนที่ดีคือ การลงทุนที่มั่นคง”

คนส่วนใหญ่มักคิดว่าการลงทุนที่ดี คือการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงในคราวเดียว แต่จริงๆ แล้วการลงทุนที่สร้างผลตอบแทนดีมาเสมอคือ ‘การลงทุนระยะยาว’ สิ่งสำคัญที่สุดในการลงทุนจึงเป็น ‘เวลา’ ยิ่งถือไว้นาน ยิ่งได้รับผลตอบแทนดีกว่า

💭 8. “การใช้เงินเพื่ออวดคนอื่น คือวิธีลดเงินที่เร็วที่สุด”

บางครั้งคนเราก็โหยหาการยอมรับจากผู้อื่น แต่หากถึงขั้นต้องใช้เงินช่วยแล้ว อาจต้องลองคิดให้รอบคอบอีกครั้งว่ามันคุ้มค่าจริงๆ ไหม เพราะหลายครั้งที่คนชื่มชมว่าเรามีทรัพย์สินมาก เขาอาจไม่เห็นเราเลยด้วยซ้ำ แต่กำลังชื่นชมข้าวของของเราอย่างเดียวมากกว่า

เพราะทุกการกระทำของมนุษย์นั้นมีเหตุผลทางจิตวิทยาเสมอ ซึ่งรวมถึงการใช้เงินของเราด้วย แม้การสร้างเม็ดเงิน หรือความมั่งคั่งจะสำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือการรักษาสิ่งเหล่านั้นเอาไว้ สุดท้ายแล้วการมีอิสรภาพทางการเงินไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวเลขเงินในบัญชีใดๆ แต่ขึ้นอยู่กับว่าเรามีเงินพอใช้ในเวลาที่เราต้องการหรือเปล่า?

เขียน: ชลทิศ ทองไพจิตร
ภาพ: ภควดี เขมะพานิช