“อยากพาคุณแม่ไปเที่ยว แต่ไม่รู้ว่าจะเอาเงินมาจากไหน”

“อยากจะซื้อรองเท้าวิ่งคู่ใหม่มาแทนคู่เก่า ถ้าจะดึงเงินเดือนมาซื้อก็กังวลว่าจะไม่พอกิน พอใช้จนถึงสิ้นเดือน”

จากตัวอย่าง หากมีเงินออมก็คงไม่มีปัญหา แต่เมื่อไม่เคยออมเงินและเมื่อดึงเงินเดือนมาใช้จ่าย อาจจะส่งผลกระทบต่อสถานะการเงินโดยรวม เช่น เงินหมดก่อนถึงวันเงินเดือนออก หรือต้องใช้วิธีกู้ยืม

หากถามเหตุผลว่าทำไมไม่สามารถออมเงินได้ คำตอบ คือ อาจเกิดขึ้นได้ในหลายสถานการณ์ เช่น ไม่มีการวางแผนการเงินที่ดี หรือมีพฤติกรรมการเงินบางอย่างจนส่งผลให้ไม่สามารถออมเงินได้

(1) มีรายได้น้อย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ค่าไฟฟ้า, ค่าอาหาร, ค่าใช้จ่ายเพื่อสุขภาพของครัวเรือนไทยปี 2566 เฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ระดับประมาณ 9,666 บาทต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้นประมาณ 9% จากปีที่ผ่านมา พูดง่ายๆ ค่าครองชีพคนไทยเพิ่มสูงขึ้น และประเมินว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ดังนั้น ผู้ที่มีรายได้เท่าเดิมหรือมีรายได้น้อย อาจมีเงินไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายขั้นพื้นฐาน เช่น เงินเดือน 30,000 บาท มีค่าใช้จ่ายเดือนละ 9,666 บาท นอกจากนี้ต้องแบ่งไปจ่ายหนี้อื่นๆ เช่น ผ่อนบ้าน, ผ่อนรถ, ค่าน้ำมัน จ่ายค่าเทอมลูก เดือนละ 19,000 บาท ก็จะเหลือเงินติดบัญชี 1,334 บาท แน่นอนว่าคงต้องเก็บเอาไว้เผื่อฉุกเฉิน ผลที่ตามมา คือ ไม่มีเงินเหลือเก็บออม

(2) มีค่าใช้จ่ายสูง

บางคนคนอาจมีรายได้สูงและเพียงพอต่อค่าใช้จ่ายขั้นพื้นฐาน แต่กลับต้องแบ่งเงินไปจ่ายหนี้ต่างๆ ที่ก่อเอาไว้ในสัดส่วนมาก เช่น ค่าผ่อนบ้าน ค่าผ่อนรถ ค่าผ่อนสินค้าฟุ่มเฟือย ค่าหนี้บัตรเครดิต ค่าท่องเที่ยว เช่น เงินเดือน 50,000 บาท แต่ต้องกันไว้เพื่อจ่ายหนี้แต่ละเดือน 40,000 บาท ผลที่ตามมาคือ ไม่มีเงินเหลือที่จะนำมาเก็บออม

(3) ติดกับดักหนี้

ถึงแม้จะมีรายได้สูง แต่หากมีพฤติกรรมชอบก่อหนี้ไปเรื่อยๆ เช่น ใช้จ่ายทุกอย่างผ่านบัตรเครดิต หรือชอบผ่อนสินค้าฟุ่มเฟือยทุกเดือน ส่งผลให้มีภาระผ่อนหนี้ที่ต้องจ่ายทุกๆ เดือน ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ยิ่งจ่ายหนี้ไม่ตรงเวลา ยิ่งเสียดอกเบี้ยและค่าปรับเพิ่มเติม ผลที่ตามมาอาจทำให้ไม่มีเงินเพื่อไปเก็บออมเลย

(4) ไม่มีเป้าหมายการเงิน

หากไม่มีเป้าหมายด้านการเงินที่ชัดเจน เช่น ไม่เคยเก็บเพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉิน ไม่เคยเก็บเงินสำหรับพาคุณแม่ไปเที่ยว ไม่เคยเก็บเงินเอาไว้สำหรับดาวน์รถ หรือเพื่อเป้าหมายต่างๆ ในอนาคต ประมาณว่ายังไม่มีแรงจูงใจในการเก็บเงิน ทำให้เรารู้สึกว่ามีเงินเข้ามาก็ใช้ไป หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ มักจะมีโอกาสให้เกิดความล้มเหลวด้านการออมเงินในระยะยาว

(5) ไม่วางแผนการเงิน

การไม่มีการวางแผนการเงิน เป็นจุดเริ่มต้นหนึ่งที่สืบเนื่องมาจากการไม่มีเป้าหมายทางการเงิน นอกจากจะส่งผลให้เราไม่มีเงินออมแล้วยังทำให้สูญเสียโอกาสในการสร้างความมั่งคั่งในระยะยาว ทำให้เกิดการใช้เงินเกินความจำเป็น หรือไม่มีแรงจูงใจในการออมเงิน เป็นต้น

(6) มีความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับรายได้

เหตุการณ์นี้มักเกิดขึ้นกับคนที่มีรายได้ในระดับปานกลางถึงสูง โดยรายได้เพียงพอต่อการใช้จ่ายแบบไม่เหลือไม่ขาด ทำให้คนกลุ่มนี้มักคิดว่า เงินออมไม่ใช่สิ่งสำคัญ การใช้เงินเพื่อปัจจุบันสำคัญกว่า หรือมีความคาดหวังว่าจะมีรายได้หรือเงินเดือนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนทำให้ไม่ค่อยสนใจในการออมเงินในปัจจุบัน

(7) ไม่เริ่มต้นลงมือสักที

เชื่อว่าทุกคนรู้ว่าเงินออมมีความสำคัญอย่างไร หลายคนเห็นถึงความสำคัญของเงินออม แต่กลับไม่เห็นความสำคัญของการ “เริ่มต้น” เก็บเงินแบบจริงจัง ชอบใช้คำว่า “เดี๋ยว” และบอกว่า รอให้มีรายได้เยอะกว่านี้ก่อน รอให้ภาระค่าใช้จ่ายลดลงกว่านี้ก่อน รอสิ่งนั้น รอสิ่งนี้ ไปเรื่อยๆ สุดท้ายแล้วนอกจากจะไม่มีเงินออมแล้วยังเสียสูญเสียโอกาสในการเพิ่มมูลค่าให้กับเงินออมอีกด้วย

(8) ไม่มีวินัยและใจไม่แข็ง

วินัยเป็นสิ่งสำคัญในการทำให้เงินออมเพิ่มมากขึ้น เพราะถ้าออมบ้างไม่ออมบ้าง ไม่ทำให้เป็นประจำสม่ำเสมอ เชื่อเถอะว่าเดี๋ยวเราก็จะหยุดมันไปเอง แบบนี้เงินออมก็เกิดขึ้นไม่ได้จริง ซ้ำร้ายกว่านั้น การไม่มีวินัยมักสร้างความล้มเหลวด้านการเงินในเรื่องอื่นๆ ด้วย หรือแม้บางคนมีเงินออมขึ้นมาระดับหนึ่งก็มักจะถอนไปใช้ในสิ่งที่อยากได้

หากสงสัยว่าทำไมตัวเองไม่สามารถออมเงินได้ ต้องมองหาต้นตอของปัญหาและลงมือแก้ไข คล้าย ๆ กับที่แพทย์ต้องวินิจฉัยโรค ซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญที่ทำให้สามารถรักษาโรคได้ เช่นเดียวกันถ้าต้องการออมเงินได้ ก็ต้องจัดการกับปัญหาเพื่อให้หลุดพ้นจากปัญหาทางการเงิน