มีการสำรวจคนยุค Millennials ถามว่าเป้าหมายสูงสุดในชีวิตของพวกเขาคืออะไร?

มากกว่า 80% ตอบว่า เป้าหมายสูงสุดคือความร่ำรวย และอีก 50% คือการมีชื่อเสียงโด่งดัง

เรามักจะถูกสอนให้มุ่งไปที่งาน ทุ่มเทให้กับงานมากๆ และประสบความสำเร็จให้มากขึ้น เราถูกฝังหัวว่านี่คือสิ่งที่เราต้องไขว่คว้า เพื่อที่จะมีชีวิตที่ดี

โครงการ Harvard Study of Adult Development เป็นโครงการศึกษาชีวิตมนุษย์ ที่นานที่สุดเท่าที่เคยมีมาตลอด 85 ปี ศึกษาชีวิตของคนกว่า 724 คน ถามพวกเขาเกี่ยวกับงาน ความเป็นอยู่ และสุขภาพ ปีแล้วปีเล่า โดยไม่รู้เลยว่าสุดท้ายแล้วชีวิตของพวกเขาจะเป็นอย่างไร

การศึกษาวิจัยแบบนี้หายาก เพราะเกือบทุกโครงการลักษณะแบบเดียวกันนี้มักล้มเลิกไปภายใน 10 ปี บางทีกลุ่มตัวอย่างขอออกจากโครงการหรือไม่ก็ ไม่มีเงินสนับสนุนโครงการต่อ หรือบางทีนักวิจัยดันเกิดหมดความสนใจขึ้นมา หรือบางทีนักวิจัยเสียชีวิตและไม่มีใครสานต่อโครงการ

โครงการศึกษานี้รอดมาได้กลุ่มตัวอย่างของราวๆ 60 คน จาก 724 คน ยังมีชีวิตอยู่ และยังร่วมอยู่ในโครงการนี้ ส่วนใหญ่ก็อายุราวๆ 90 ปีแล้ว

ตั้งแต่ปี 1938 การศึกษานี้ศึกษาชายอยู่สองกลุ่ม กลุ่มแรกเริ่มเข้าโครงการขณะเรียนอยู่ปีสองที่วิทยาลัยฮาร์วาร์ด พวกเขาทุกคนจบวิทยาลัย ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และเกือบทุกคนก็ออกมาเข้าร่วมสงคราม กลุ่มที่สองเป็นกลุ่มเด็กชายจากชุมชนที่จนที่สุดในบอสตัน เด็กๆถูกคัดเลือกเข้าโครงการเพราะพวกเขามาจากครอบครัวที่มีปัญหาและด้อยโอกาสมากที่สุด ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในห้องเช่าที่ไม่มีน้ำใช้ด้วยซ้ำ

เมื่อพวกเขาเข้าร่วมโครงการ เด็กทุกคนถูกสัมภาษณ์และได้รับการตรวจร่างกาย สัมภาษณ์พ่อแม่ จากนั้นพวกเขาก็เติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ มีชีวิตที่แตกต่างกัน บางคนเป็นพนักงานโรงงาน ทนายความ ช่างปูน และหมอ หนึ่งคนเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาด้วย บางคนติดสุราเรื้อรัง บางส่วนเป็นโรคจิตเภท บางคนไต่บันไดของสังคมจากชนชั้นล่างสุดไปเป็นชนชั้นสูงสุด บางคนดำเนินชีวิตไปในทางตรงกันข้าม

ผ่านมา 85 ปีโครงการนี้ยังดำเนินต่อ ทุกๆ สองปีนักวิจัยจะโทรหากลุ่มตัวอย่างเพื่อถามเกี่ยวกับชีวิตของพวกเขาอีกครั้งหนึ่ง

ชายในกลุ่มเด็กยากจนจากบอสตันหลายคนถามว่า “ทำไมพวกคุณถึงยังอยากศึกษาชีวิตผม? ชีวิตผมไม่ได้น่าสนใจขนาดนั้น” แต่ชายจากฮาร์วาร์ดไม่เคยถามคำถามนั้นเลย

หลังจากสัมภาษณ์ ก็เก็บตัวอย่างเลือดและสแกนสมอง คุยกับลูกๆ อัดวิดีโอขณะที่พวกเขาเล่าความกังวลใจให้ภรรยาฟัง สิ่งที่การศึกษาชิ้นนี้ค้นพบจากข้อมูลจำนวนหลายหมื่นหน้า บทเรียนไม่ได้เกี่ยวกับความร่ำรวย ความโด่งดัง หรือการทำงานหนัก สิ่งที่ชัดเจนที่สุด ที่งานวิจัย 75 ปีบ่งบอกคือ ‘ความสัมพันธ์ที่ดี’ จะช่วยให้เรามีความสุขและแข็งแรงมากขึ้นแค่นั้นเลยจริง ๆ

ข้อคิด 3 ข้อหลักๆ เกี่ยวกับความสัมพันธ์ที่พวกเขาสรุปมาคือ

1. ความสัมพันธ์ทางสังคม มีประโยชน์กับเรามาก และความโดดเดี่ยวโหดร้ายมาก กลายเป็นว่า คนที่มีความสัมพันธ์อันดี กับครอบครัว เพื่อน และสังคมของเขา มีความสุข สุขภาพดี และอายุยืน กว่าคนที่มีความสัมพันธ์กับผู้อื่นน้อยกว่า คนที่ถูกทิ้งอย่างโดดเดี่ยวจากคนอื่นจะกลายเป็นคนไม่มีความสุข สุขภาพเสื่อมโทรมตั้งแต่ช่วงกลางของชีวิต การทำงานของสมองเสื่อมลงเร็วกว่า และอายุสั้นกว่าคนที่ไม่โดดเดี่ยว

ท่ามกลางผู้คนมากมาย คุณอาจรู้สึกโดดเดี่ยวได้เช่นกัน

2. คุณภาพของความสัมพันธ์ใกล้ชิดนั้นสำคัญ การมีชีวิตอยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง ส่งผลเสียต่อสุขภาพ เช่น ชีวิตแต่งงานที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง เป็นสิ่งที่ทำร้ายสุขภาพ อาจจะมากกว่าการหย่าร้างด้วยซ้ำไป และการมีชีวิตอยู่ท่ามกลาง ความสัมพันธ์ที่อบอุ่นช่วยทำให้เราแข็งแรงและมีความสุขมากขึ้น

สิ่งที่ทำนายว่าคนจะมีความสุขในวัย 80 คือระดับความพึงพอใจของความสัมพันธ์ที่พวกเขามี คนที่พอใจกับความสัมพันธ์ที่มีตอนอายุ 50 จะมีสุขภาพแข็งแรงกว่าตอนอายุ 80

3. ความสัมพันธ์ทำให้สมองของเราแข็งแรงด้วย คนที่มีความสัมพันธ์ที่ดีจะรู้สึกว่าพึ่งพาอีกคนได้ มีความจำที่เฉียบคม ส่วนคนที่มีความสัมพันธ์ที่รู้สึกว่าไม่สามารถพึ่งพาอีกคนได้ ความจำจะเสื่อมถอยเร็วกว่า

ความสัมพันธ์ที่ดีที่ว่าไม่จำเป็นต้องราบรื่นตลอดเวลา คู่รักวัย 80 บางคู่อาจจะทะเลาะ ไม่หยุดไม่หย่อน แต่ตราบเท่าที่พวกเขารู้สึกว่าสามารถพึ่งพากันได้ แค่นั้นก็ถือว่าโอเค

เมื่อครั้งที่พวกเขายังเป็นหนุ่มวัยรุ่นคนเหล่านี้ก็เชื่อเหมือนกันว่าชื่อเสียง ความร่ำรวย และการประสบความสำเร็จสูงสุดคือสิ่งที่พวกเขาต้องได้มาถ้าอยากมีชีวิตที่ดี แต่ตลอด 75 ปีที่ผ่านมา งานวิจัยชี้ให้เห็นแล้วว่าคนที่ประสบความสำเร็จที่สุดคือคนที่ทุ่มเทเวลาให้กับ ครอบครัว เพื่อน และสังคม

แล้วคุณล่ะครับ ตอนนี้ คุณอาจจะอายุ 25 หรือ 40 หรือ 60 คุณกำลังทุ่มเทให้กับอะไรอยู่?

Mark Twain เขียนเอาไว้ว่า

“ชีวิตสั้นนัก จนไม่มีเวลา สำหรับการทะเลาะ การขอโทษ การอิจฉาริษยา และการต่อว่า มีเพียงเวลาเพื่อรัก และจะว่าไปแล้ว แค่นั้นก็แสนสั้นเช่นกัน”