หากเอ่ยถึงรูปแบบกองทุนรวม นักลงทุนคงคุ้นเคยกับกองทุนแบบเชิงรับ (Passive Fund) และกองทุนแบบเชิงรุก (Active Fund)

PassiveFund เป็นกองทุนที่มุ่งสร้างผลตอบแทนใกล้เคียงดัชนีอ้างอิงมากที่สุด ในขณะที่ ActiveFund จะมีผู้จัดการกองทุนบริหารพอร์ตลงทุนเพื่อมุ่งหวังที่จะสร้างผลตอบแทนชนะดัชนีอ้างอิง

จากคำกล่าวดังกล่าว นักลงทุนหลายคนอาจตัดสินใจว่าควรเลือก Active Fund เพราะมีผู้เชี่ยวชาญเฟ้นหาการลงทุนที่ดีที่สุดให้เรา ผลตอบแทนก็น่าจะมากกว่า Passive Fund ที่ไม่ได้ทำอะไร แต่จริง ๆ แล้วอาจจะไม่ใช่แบบนั้นเสมอไป ดังนั้น ก่อนตัดสินใจควรพิจารณาให้ถี่ถ้วน เช่น ความแตกต่าง ข้อดี ข้อเสีย ผลตอบแทน เพื่อค้นหาคำตอบว่ากองทุนแบบไหนที่เหมาะกับเรา

Passive Fund vs. Active Fund

กองทุนแบบเชิงรับ (Passive Fund) หรือกองทุนรวมดัชนี (Index Fund) เป็นกองทุนที่มุ่งสร้างผลตอบแทนใกล้เคียงดัชนีมากที่สุด เช่น SET, SET100, SET50 เป็นต้น โดยนักลงทุนสามารถสังเกตได้จากชื่อของกองทุนประเภทนี้ว่ามักจะมีชื่อของดัชนีอยู่ด้วย

สำหรับการบริหารกองทุน ผู้จัดการกองทุนจะจัดพอร์ตลงทุนให้เหมือนดัชนีที่สุด เพื่อให้ได้ผลตอบแทนใกล้เคียงกัน โดยไม่จำเป็นต้องเฟ้นหา “หุ้นทีดีที่สุด” หรือหลีกเลี่ยง “หุ้นแย่ๆ” เพื่อที่จะชนะตลาด

ดังนั้น กองทุนประเภทนี้จะเคลื่อนไหวไปตามตลาดไม่ว่าตลาดจะดีหรือแย่ ซึ่งสามารถมองได้ 2 ด้าน คือ กองทุนจะไม่มีความเสี่ยงเรื่องฝืมือผู้จัดการกองทุน แต่ถ้าตลาดหุ้นเป็นขาลง ผู้จัดการกองทุนก็ไม่สามารถทำอะไรได้เช่นกัน นอกจากลงทุนตามดัชนี

กองทุนแบบเชิงรุก (Active Fund) จะมีผู้จัดการกองทุนบริหารพอร์ตลงทุนเพื่อมุ่งหวังที่จะสร้างผลตอบแทนชนะดัชนีอ้างอิงให้ได้ โดยใช้กลยุทธ์การลงทุนที่หลากหลาย และมีการเฟ้นหาสินทรัพย์เพื่อมุ่งหวังจะชนะตลาด

ข้อมูลดังล่าว อาจดูเหมือนว่า Active Fund จะให้ผลตอบแทนสูงกว่า Passive Fund เพราะมีผู้เชี่ยวชาญบริหารสินทรัพย์ แต่จริงๆ แล้ว ผลตอบแทนของกองทุน Active Fund จะอาศัยความสามารถของผู้จัดการกองทุน จึงมีโอกาสที่ผู้จัดการกองทุนจะสร้างผลตอบแทนชนะหรือแพ้ดัชนีก็ได้ และเมื่อกองทุนประเภทนี้มักมีการเก็บค่าธรรมเนียมการจัดการในระดับสูง (บางกองอาจสูงกว่า 2%) ซึ่งยิ่งค่าธรรมเนียมสูงขึ้นเท่าไหร่ หมายความว่าผู้จัดการกองทุนต้องสร้างผลตอบแทนชนะดัชนีมากขึ้นเท่านั้น เพื่อชดเชยกับค่าธรรมเนียมที่อยู่ในระดับสูง

นอกจากนี้ อยากให้นักลงทุนตระหนักว่าค่าธรรมเนียมที่เห็นว่าไม่กี่ % ต่อปี สามารถกัดกินมูลค่าหรือผลตอบแทนที่ควรจะได้ในระยะยาว

ตัวอย่าง

เริ่มต้นลงทุน 100,000 บาทในกองทุนหุ้น 2 กองทุนคือ Active Fund ที่มีค่าธรรมเนียมการจัดการปีละ 2.0% และ Passive Fund ที่มีค่าธรรมเนียม 0.5% ต่อปี โดยทั้ง 2 กองทุนให้ผลตอบแทน 7% ต่อปี เท่ากัน เมื่อผ่านไป 20 ปี จะมีมูลค่า ใน Active Fund 265,330 บาท แต่มูลค่าใน Passive Fund จะสูงถึง 352,365 บาท หรือมากกว่า active fund ถึง 33%

ผลตอบแทนของ Passive Fund vs. Active Fund

นักลงทุนอาจคิดว่า Active Fund ให้ผลตอบแทนสูงกว่า Passive Fund เพราะมีการบริหารพอร์ตลงทุนแบบเชิงรุก แต่เมื่อดูข้อมูลในอดีต 10 ปีที่ผ่านมา กลับพบว่ากองทุนรวมส่วนใหญ่นั้นให้ผลตอบแทนน้อยกว่าตลาด

• กองทุนหุ้นสหรัฐฯ ขนาดใหญ่เพียง 8.59% เท่านั้นที่ชนะดัชนี S&P 500
• กองทุนหุ้นยุโรป 10.30% เท่านั้นที่ชนะดัชนี S&P Europe 350
• กองทุนหุ้นญี่ปุ่น 18.06% เท่านั้นชนะดัชนี S&P/TOPIX 150
• กองทุนหุ้นอินเดีย 32.09% ชนะดัชนี S&P BSE100
• กองทุนหุ้นอินเดียขนาดกลาง-เล็ก 50% ชนะดัชนี S&P BSE 400 MidSmallCap Index (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธ.ค. 22)

จะเห็นได้ว่า กองทุนส่วนใหญ่ให้ผลตอบแทนแพ้ตลาด โดยเฉพาะกองทุนของตลาดหุ้นที่มีประสิทธิภาพ เช่น ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่มีนักวิเคราะห์ หรือนักลงทุนจำนวนมากแข่งขันกันเพื่อหาหุ้นที่ดี ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้เหมือนๆ กัน จนสุดท้ายแทบไม่มีใครเลยที่สามารถชนะตลาดได้

กองทุนแบบไหนเหมาะกับเรา

เมื่อนักลงทุนเข้าใจแล้วว่า Active Fund มีโอกาสให้ผลตอบแทนสูง หรือ ต่ำกว่าตลาดก็ได้ ดังนั้น ควรเลือก Active Fund ก็ต่อเมื่อมั่นใจในฝีมือผู้จัดการกองทุนว่าสามารถสร้างผลตอบแทนชนะตลาดได้จริงๆ หรือเชื่อในสไตล์การลงทุนของกองทุนนั้นว่าจะชนะตลาดได้ในสภาวะตลาดช่วงนั้น เช่น ลงทุนในกองทุนหุ้นคุณภาพ (Quality) ในช่วงสภาวะเศรษฐกิจไม่ดี เป็นต้น

ทั้งนี้ นักลงทุนต้องมีการติดตามตลาด สภาพเศรษฐกิจ รวมถึง ผลการดำเนินงานและพอร์ตลงทุนของกองทุนอย่างใกล้ชิด เพราะถ้าวันใดที่ผู้จัดการกองทุน หรือกลยุทธ์การลงทุนนั้นเปลี่ยนไป สภาพเศรษฐกิจเปลี่ยนไป นักลงทุนก็จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนพอร์ตลงทุนตาม

แต่ถ้าเป็นนักลงทุนคนหนึ่งที่อยากลงทุนระยะยาว ไม่ได้มีข้อมูลของผู้จัดการกองทุน หรือไม่ได้เวลามาติดตามผลการดำเนินงานหรือพอร์ตลงทุนอย่างต่อเนื่อง ควรเลือกกองทุน Passive fund เพื่อเพิ่มความมั่นใจได้ว่าผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนจะใกล้เคียงกับผลตอบแทนของดัชนี/ตลาด โดยไม่มีความเสี่ยงเรื่องฝีมือของผู้จัดการกองทุน อีกทั้งค่าธรรมเนียมยังต่ำกว่ามาก

เขียนโดย: พัชรินธ์ อีริคสัน CFA, CFP®