ปัจจุบัน นักลงทุนอาจเริ่มกังวลว่าหุ้นนวัตกรรมกำลังจะจบรอบ เพราะราคาหุ้นปรับขึ้นอยู่ในระดับสูงอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ในอีกมุมมองพบว่าธุรกิจนวัตกรรมเทคโนโลยีมีโอกาสขยายตัวต่อเนื่อง จึงเป็นจังหวะที่ดีสำหรับผู้ที่ต้องการเข้าลงทุนในหุ้นนวัตกรรม เพราะเทคโนโลยีหลายประเภทกำลังพัฒนาและจะกลายเป็นสิ่งจำเป็นของผู้คนทั่วโลกในอนาคต

กระแส AI Boom

กระแส AI ซึ่งเป็นที่พูดถึงกันในปัจจุบันมาจากเทคโนโลยี AI ที่พัฒนาขึ้นไปอีกขั้นเรียกว่า Generative AI ซึ่งมีรูปแบบสำคัญ คือ สามารถสื่อสารกับผู้ใช้งานผ่านภาษามนุษย์โดยตรงแทนที่จะต้องเขียน Code ในการสื่อสารสั่งการเพื่อใช้สำหรับสร้างสรรค์ชิ้นงานต่างๆ ผ่านรูปแบบข้อความ, รูปภาพ, วีดีโอจากฐานข้อมูลขนาดใหญ่โดยใช้ Machine Learning Model ที่เรียกว่า  LLM (Large Language Models) การเปิดตัวโปรแกรม ChatGPT ของบริษัท OpenAI เมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายนปี 2022 ถือเป็นก้าวสำคัญในการจุดกระแส AI ขึ้นมาเป็นที่พูดถึงในวงกว้างทั้งแวดวงผู้ใช้งานและนักลงทุน

กระแสดังกล่าวเป็นปัจจัยหนุนสำคัญให้กลุ่มหุ้น MAG7 (Magnificent 7) ประกอบด้วยหุ้นเทคโนโลยีขนาดใหญ่ 7 ตัวแรกของสหรัฐอเมริกา ได้แก่ Apple, Microsoft, Amazon, Nvidia, Alphabet, Tesla และ Meta ปรับตัวขึ้นได้โดดเด่นกว่าตลาดโดยรวมอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่ต้นปี

AI Boom vs Dotcom Boom

นักลงทุนที่กำลังตัดสินใจว่าจะลงทุนกลุ่มหุ้นนวัตกรรมเทคโนโลยีขนาดใหญ่หรือไม่ อาจมีข้อสงสัยว่า หุ้นกลุ่มนี้ ซึ่งถือว่าเป็นผู้ชนะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จะยังสามารถเป็นผู้ชนะต่อไปได้อีกนานแค่ไหน หรือโฉมหน้าผู้ชนะกำลังจะเปลี่ยนแปลงแล้วหรือไม่

สถิติในอดีต พบว่ากลุ่มอุตสาหกรรมผู้ชนะที่สามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ในแต่ละยุคนั้นมักกินระยะเวลายาวนานกว่า 50 - 60 ปีโดยเฉลี่ย ตั้งแต่ยุคการเงินรุ่งเรือง (ปี 1800 - 1850), ยุคการขนส่ง (ปี 1850 - 1910), ยุคพลังงาน (ปี 1920 - 1970) และปัจจุบันยุคแห่งเทคโนโลยี (ปี 1980 - ปัจจุบัน) ซึ่งกินเวลามาแล้วกว่า 40 ปี

หากพิจารณาตามค่าเฉลี่ยในอดีตก็อาจเหลือเวลาของกลุ่มผู้ชนะปัจจุบันนี้อีกไม่นานมาก แต่ก็เป็นการยากที่จะใช้ระยะเวลาเฉลี่ยของกลุ่มผู้ชนะในอดีตมาคาดการณ์ระยะเวลาของกลุ่มผู้ชนะในปัจจุบัน โดยเฉพาะในยุคที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ดังนั้น จึงควรให้น้ำหนักกับปัจจัยพื้นฐานมากกว่า โดยตั้งแต่ปี 2015 กลุ่ม MAG7 มีอัตราการเติบโตของยอดขายและอัตรากำไรสุทธิสูงกว่าตลาดโดยรวมมาโดยตลอด และหากกลุ่มผู้ชนะยังรักษาความโดดเด่นดังกล่าวได้ต่อเนื่อง ประเมินว่ากลุ่มผู้ชนะเหล่านี้จะยังคงสามารถเป็นผู้ชนะต่อไปในระยะข้างหน้าได้

ถัดจาก Generative AI ที่จะมาเปลี่ยนโลก ประเมินว่าเป็นเทคโนโลยีที่เกี่ยวเนื่องกับ 5 เมกะเทรนด์ของโลก ที่จะช่วยให้ชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คนดีขึ้น สะดวกสบายมากขึ้น รวมถึงเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับความยั่งยืน ได้แก่

เทรนด์สุขภาพและสังคมสูงวัย

เป็นการใช้เทคโนโลยีในเรื่องการรักษาหรือดูแลสุขภาพ การรรักษาโรคร้ายแรง เช่น มะเร็ง หรือการใช้ AI มาวิเคราะห์โรคที่แพทย์มองไม่เห็นด้วยตาเปล่าเพื่อรักษาได้ถูกจุด

เทรนด์ InsurTech

เมื่อนำเทคโนโลยีมาพ่วงกับประกันก็ยิ่งช่วยตอบโจทย์ทั้งคนซื้อประกัน และบริษัทประกัน เช่น ใช้เทคโนโลยี Internet Of Thing หรือ IOT มาจับพฤติกรรมของผู้บริโภค เพื่อสะท้อนทั้งแบบและเบี้ยประกันที่ตรงความต้องการมากขึ้น

เทรนด์ Digital Infrastructure

โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เป็นเรื่องสำคัญมากที่จะทำให้เทคโนโลยีใหม่ๆ เดินหน้าได้อย่างราบรื่น จึงจำเป็นต้องลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานใหม่มารองรับให้พร้อมกับการพัฒนาเทคโนโลยี

เทรนด์ Digital Connectivity

การเชื่อมต่อดิจิทัลเข้ากับชีวิตประจำวันและการทำงาน เช่น การใช้ AI มาวิเคราะห์เรื่องการพ่นสีรถยนต์ให้ดีที่สุดและต้นทุนต่ำสุด หรือการตรวจจับท่อส่งแก๊สรั่วในธุรกิจพลังงาน

เทรนด์ AI & Cloud

เป็นเทคโนโลยีที่กำลังได้รับความสนใจจากบริษัทต่างๆ เข้าใช้บริการ ทั้ง Cloud Computing หรือ Software as a Services เพราะใช้ง่ายเพียงซื้อแพ็กเกจและจ่ายรายเดือน ก็ใช้งานระบบจัดการต่างๆ ได้อย่างสะดวก เช่น ระบบ HR ที่มีซอฟต์แวร์พร้อมใช้ ข้อมูลก็เก็บบนคลาวด์ ทำให้เริ่มต้นธุรกิจง่ายขึ้น

ผู้ได้ประโยชน์จาก AI

Goldman Sachs เสนอเครื่องมือ PEARL Framework สำหรับการจัดกลุ่มบริษัทที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยีใหม่ที่เกิดขึ้น โดยแบ่งออกเป็น 5 กลุ่มเบื้องต้นดังต่อไปนี้

Pioneer กลุ่มบริษัทผู้นำที่ถือครองเทคโนโลยีใหม่ที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงโลก หากเทียบเคียงกับกระแส AI ปัจจุบันได้แก่ NVIDIA ที่เป็นผู้นำชิป GPU ซึ่งเป็นหัวใจหลักในการฝึกฝน AI ให้ฉลาดขึ้น

Enablers กลุ่มบริษัทที่สามารถนำเทคโนโลยีใหม่มาพัฒนาให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เกิดประโยชน์กับภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนในวงกว้าง หากเทียบเคียงกับกระแส AI ในปัจจุบัน คาดว่า บริษัทที่เข้าข่าย ได้แก่ กลุ่มผู้นำ Cloud Providers เช่น Microsoft, Google และ Amazon

Adaptors กลุ่มบริษัทที่อยู่นอกอุตสาหกรรมเทคโนโลยี (non-Tech) แต่สามารถนำผลิตภัณฑ์ใหม่ข้างต้นมาปรับใช้กับโมเดลธุรกิจของตนและทำให้เกิดความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น เช่น การลดต้นทุนหรือเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน

Reformers กลุ่มบริษัทเกิดใหม่ที่นำเทคโนโลยีใหม่มาปฏิวัติวงการอุตสาหกรรมนั้นๆ รวมไปถึง การท้าทายกลุ่มผู้นำเดิมที่ปรับตัวได้ช้ากว่าจากโครงสร้างองค์กรหรือความลังเลในการนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาใช้ที่อาจต้องแลกมากับการสูญเสียรายได้จากผลิตภัณฑ์เดิมของบริษัท เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ Tesla ถือว่าเป็น Reformers ด้วยการนำเสนอรถยนต์พลังงานไฟฟ้าหรือ EV เข้ามาแข่งขันกับเจ้าตลาดเดิมซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการผลิตรถยนต์สันดาปเป็นหลักอย่าง Toyota ที่อาจจะลังเลในการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีไปสู่การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบเต็มตัว เพราะกังวลผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์เดิมที่เป็นเครื่องยนต์สันดาป เป็นต้น

Laggard กลุ่มบริษัทที่ไม่สามารถปรับตัวเท่าทันกับเทคโนโลยีใหม่จนกลายเป็นผู้แพ้ให้กับบริษัทที่สามารถปรับตัวต่อเทคโนโลยีใหม่ได้รวดเร็วกว่า ทั้งนี้ Goldman Sachs มองว่ากลุ่ม Pioneers และ Enablers มักจะเป็น Early Winners ในช่วงแรกของการเกิดเทคโนโลยีใหม่และยังมีมุมมองเชิงบวกต่อกลุ่มดังกล่าว

จากปัจจัยเชิงบวกดังกล่าว ส่งผลให้กองทุนรวมนวัตกรรม ซึ่งเป็นกองทุนรวมที่ลงทุนในบริษัทที่มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่กำลังพัฒนาและเติบโตอย่างรวดเร็ว กองทุนประเภทนี้มีความน่าสนใจในหลายด้าน ดังนี้

โอกาสในการเติบโตสูง

นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ มักจะมีศักยภาพในการเติบโตสูง เนื่องจากเป็นสินค้าหรือบริการที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ดีและสามารถแก้ไขปัญหาหรืออุปสรรคต่างๆ ได้ ตัวอย่างของนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI), เทคโนโลยีบล็อกเชน, เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง (IoT), และเทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือน (VR)

มีกระจายการลงทุนในหลายอุตสาหกรรม

กองทุนรวมนวัตกรรมมักจะลงทุนในบริษัทที่มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ในหลายอุตสาหกรรม เช่น เทคโนโลยีสารสนเทศ เทคโนโลยีสุขภาพ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม การลงทุนในหลายอุตสาหกรรมจะช่วยกระจายความเสี่ยงและลดความเสี่ยงจากความผันผวนของตลาด

บริหารจัดการโดยผู้เชี่ยวชาญ

กองทุนรวมนวัตกรรมมักจะบริหารจัดการโดยผู้จัดการกองทุนที่มีความเชี่ยวชาญในการวิเคราะห์และลงทุนในนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ผู้จัดการกองทุนเหล่านี้จะเป็นผู้คัดเลือกบริษัทที่มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่มีศักยภาพในการเติบโตสูงและลงทุนในบริษัทเหล่านั้น

กองทุนรวม K-USXNDQ-A (A) สะสมมูลค่า, บลจ.กสิกรไทย

K-USXNDG-A (A) สะสมมูลค่า มีนโยบายลงทุนในหุ้นชั้นนำของสหรัฐอเมริกา 100 ตัวแรก ของบริษัทขนาดใหญ่ที่ไม่ใช่สถาบันการเงินที่ซื้อขายในตลาดหุ้น NASDAQ โดยใช้นโยบายเชิงรับ เพื่อสร้างผลตอบแทนให้ใกล้เคียงกับดัชนี NASDAQ-100 ผ่านกองทุนหลัก Investco NASDAQ 100 ETF โดยหุ้นที่ลงทุนสัดส่วนสูงสุด 5 อันดับแรก คือ Apple, Microsoft, Amazon, NVIDIA, Meta Platform

สำหรับผลการดำเนินงาน K-USXNDG-A (A) สะสมมูลค่า 1 มกราคม – 31 ตุลาคม 2566 ให้ผลตอบแทนรวม 31.52% ขณะที่ผลตอบแทนรวมเฉลี่ย (ต่อปี) 1 ปี และ 3 ปี ทำได้ 30.26% และ 8.89% ตามลำดับ

เหมาะกับใคร

1.นักลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นชั้นนำในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีนโยบายให้ผลตอบแทนตามดัชนีหุ้น NASDAQ-100

2.นักลงทุนที่เห็นโอกาสในการลงทุนหุ้นเติบโตสูง และสนใจลงทุนกับบริษัทเทคโนโลยี

3.นักลงทุนที่สนใจในการลงทุนหุ้นต่างประเทศ สามารถรับความเสี่ยงได้สูงและสามารถลงทุนในระยะยาวได้เช่น 5 ปีขึ้นไป

ทำไมต้องลงทุน

1.กองทุนลงทุนในธุรกิจที่มีความสามารถในการแข่งขันสูงและมีอัตราการเติบโตที่สอดคล้องกับการเติบโตของเทคโนโลยี

2.กองทุนได้ประโยชน์จากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินชีวิตที่หันมาใช้การบริโภคผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น

3.เพิ่มโอกาสผลตอบแทนในระยะยาว เนื่องจากลงทุนในกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในกลุ่มเทคโนโลยี ในบริษัทชั้นนำของสหรัฐอเมริกา

ที่มา : บลจ.กสิกรไทย, บลจ.ไทยพาณิชย์, บลจ.บัวหลวง, Morningstarthailand