“เมื่อเอาชนะไม่ได้ ก็ไปเป็นพวกเดียวกันดีกว่า”
(If You Can’t Beat Them, Join Them)

นี่คือคำกล่าวที่น่าจะอธิบายสถานการณ์ของเทคโนโลยี AI’ (Artificial Intelligence - ปัญญาประดิษฐ์) กับสังคมมนุษย์ในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี

โลกกำลังหมุนไปทางนั้น มนุษยชาติกำลังเดินหน้าสู่เส้นทางของการปฏิวัติทางเทคโนโลยีครั้งใหญ่ ที่อาจส่งผลให้เกิดการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดในแง่ของผลิตภาพ เพิ่มพูนการเติบโตของเศรษฐกิจโลก และยกระดับรายได้ของผู้คนทั่วโลก อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีนี้ยังอาจนำไปสู่การแทนที่แรงงานมนุษย์และความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงขึ้นได้เช่นกัน

ความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของปัญญาประดิษฐ์ (AI) ได้สร้างความตื่นตาตื่นใจไปทั่วโลก แต่ในขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดความกังวลใจด้วยเช่นกัน สิ่งนี้จุดประกายให้เกิดคำถามสำคัญมากมายเกี่ยวกับผลกระทบที่ AI อาจมีต่อเศรษฐกิจโลก

ผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่แท้จริงนั้นคาดการณ์ได้ยาก (หรือคาดเดาไม่ได้เลยด้วยซ้ำ) เนื่องจาก AI จะมีความซับซ้อนมากกว่านวัตกรรมทุกอย่างที่เคยเกิดขึ้นมาในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ แต่สิ่งหนึ่งที่พอจะมั่นใจได้คือ เราไม่มีทางต่อต้านหรือหยุดการพัฒนาเทคโนโลยีนี้ได้ ซึ่งนำไปสู่ความจำเป็นที่มนุษย์ในอนาคตจะต้องทำงานร่วมกับ AI (ไม่ว่าจะอยากทำหรือไม่ก็ตาม) และพัฒนาชุดกฎหมายนโยบายต่างๆ เพื่อใช้ประโยชน์จากศักยภาพอันมหาศาลของ AI อย่างปลอดภัย มีมาตรฐาน ระมัดระวัง เพื่อให้มนุษยชาติได้รับผลประโยชน์อย่างเต็มที่

รูปแบบของงานที่จะเปลี่ยนไป

ในปี 1764 เจมส์ ฮาร์กรีฟส์ (James Hargreaves) นักประดิษฐ์ชาวอังกฤษสร้างสิ่งประดิษฐ์หนึ่งขึ้นมาชื่อว่า “Spinning Jenny’ เครื่องปั่นด้ายที่สามารถช่วยให้คนงานทอผ้าได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

ไซมอน จอห์นสัน อาจารย์สอนวิชาเศรษฐศาสตร์แห่งสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) เพิ่งตีพิมพ์หนังสือชื่อ *Power and Progress* ร่วมกับ ดารอน อะซีโมกลู (Daron Acemoglu) นักเศรษฐศาสตร์อีกท่านหนึ่งจาก MIT พวกเขาได้ศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีตลอดช่วง 1,000 ปีที่ผ่านมา ซึ่งครอบคลุมหัวข้อต่างๆ รวมถึง อุตสาหกรรมการผลิตเสื้อผ้า, การเดินทางรถไฟ, และแม้แต่การชอปปิงซื้อของ

พวกเขากล่าวว่าเครื่องปั่นด้ายชิ้นนี้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตเสื้อผ้า และสร้างความมั่งคั่งให้แก่ผู้คนจำนวนมากในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 อย่างไรก็ตาม นอกจากจะส่งผลดีแล้วยังมีด้านมืดด้วย เพราะอุปกรณ์นี้นำไปสู่ความต้องการฝ้ายที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้คนงานต้องทำงานหนักขึ้นเป็นเวลานาน ความต้องการฝ้ายที่สูงยังส่งผลให้ระบบทาสขยายตัวมากขึ้นในภาคใต้ของสหรัฐอเมริกาอีกด้วย

ความเหลื่อมล้ำเริ่มก่อตัวชัดเจนมากขึ้น

บางทีเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้ส่งผลประโยชน์ที่เท่าเทียมกันกับทุกๆ ฝ่าย

จอห์นสัน บอกว่า “มันเป็นเรื่องที่ง่ายกว่าในการสร้างบางอย่างขึ้นมาแทนที่จะทำให้แน่ใจว่ามันเหมาะกับทุกคน” เขายกตัวอย่างเรื่องการเดินทางรถไฟที่ช่วยทำให้ชีวิตคนในอังกฤษสะดวกสบายมากขึ้น เดินทางได้ไกลขึ้นและได้ทานอาหารที่สดใหม่มากขึ้นเพราะการขนส่งที่รวดเร็วจากฟาร์มซึ่ง แต่ในขณะเดียวกันเทคโนโลยีอย่าง ‘Self-Checkout’ (ระบบคิดเงินด้วยตัวเองที่ซูเปอร์มาร์เก็ต) กลับไม่ได้ทำให้ราคาสินค้าลดลงหรือทำให้ชีวิตง่ายขึ้นเลย บริษัทสามารถลดจำนวนพนักงานลงและช่วยประหยัดเงินมากขึ้นเท่านั้น

ผลกระทบของงานจาก AI จะมีความซับซ้อนและเป็นวงกว้างมากกว่านั้น

ในบทวิเคราะห์ล่าสุดจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF พบว่าโอกาสที่ AI จะเข้ามาแทนแรงงานมนุษย์เลยก็มีอยู่บ้าง แต่ในหลายกรณี AI น่าจะเข้ามาเสริมการทำงานของมนุษย์มากกว่า

การวิเคราะห์ของ IMF สะท้อนถึงทั้งสองแนวโน้มตรงนี้ โดยตำแหน่งงานเกือบ 40% ทั่วโลกมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจาก AI ถ้ามองย้อนไปในอดีตเทคโนโลยีอัตโนมัติและไอที มักส่งผลต่องานประจำที่ซ้ำซากน่าเบื่อ แต่สิ่งที่ทำให้ AI โดดเด่นและแตกต่างออกไปก็คือ ศักยภาพในการสร้างผลกระทบต่องานทักษะสูงมากกว่าที่ผ่านมา ดังนั้นในประเทศที่เศรษฐกิจพัฒนาแล้วจึงมีความเสี่ยงจาก AI มากกว่า แต่ในขณะเดียวกันก็มีโอกาสที่จะใช้ประโยชน์จาก AI ได้มากกว่า เมื่อเทียบกับตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา

หมายความว่ายังไง?

พูดง่ายๆ ก็คือในประเทศที่เศรษฐกิจพัฒนาแล้ว AI อาจส่งผลต่องานราว 60% โดยครึ่งหนึ่งอาจปรับตัวเข้ากับ AI ได้ดีขึ้น เกิดการทำงานร่วมกันและเพิ่มผลผลิต อีกครึ่งหนึ่ง AI อาจเข้ามาทดแทนงานบางส่วน ลดความต้องการแรงงาน ส่งผลต่อค่าแรงและการจ้างงานลดลงด้วย

ส่วนในประเทศที่เศรษฐกิจกำลังพัฒนาและประเทศรายได้น้อย คาดว่า AI จะส่งผลต่องาน 40% และ 26% ตามลำดับ แต่อย่าเพิ่งดีใจไป เพราะแม้ได้รับผลกระทบจาก AI น้อยกว่า แต่ด้วยความที่ขาดโครงสร้างพื้นฐานและแรงงานทักษะเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว คนส่วนใหญ่จึงอาจขาดโอกาสที่จะดึงศักยภาพของ AI มาใช้ให้เกิดประโยชน์ ส่งผลให้คนส่วนน้อยหรือผู้ที่เข้าถึงทักษะใหม่ๆ ที่กำลังสร้างผลกระทบระดับโลกในตอนนี้ได้รับผลประโยชน์ไปอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำทั้งในประเทศและระหว่างประเทศมากขึ้น

ความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่แล้วระหว่างคนรวยกับคนจนภายในประเทศมีโอกาสที่จะชัดเจนและถ่างออกมากขึ้น คนที่ประยุกต์ใช้ AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพอาจมีรายได้และค่าแรงเพิ่มขึ้น ในขณะที่คนอื่นที่ตามไม่ทันอาจถูกทิ้งไว้ข้างหลังเลย

นอกจากนั้นแล้วงานวิจัยยังชี้ว่า AI สามารถช่วยให้พนักงานรุ่นใหม่เพิ่มผลผลิตได้เร็วขึ้น คนรุ่นใหม่จึงอาจปรับตัวกับโอกาสใหม่ ๆ ได้ง่ายกว่า ขณะที่คนรุ่นเก่าอาจตามไม่ทัน

ผลกระทบต่อรายได้จากการทำงานจะขึ้นอยู่กับว่า AI เข้ามาเสริมทักษะของคนที่มีรายได้สูงมากแค่ไหน หาก AI ช่วยคนที่มีรายได้สูงมาก ๆ ก็อาจทำให้รายได้ของกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นอย่างเด่นชัด นอกจากนี้ผลกำไรจากการเพิ่มผลผลิตของบริษัทที่ใช้ AI ก็มักจะตกไปที่ผู้ถือหุ้นซึ่งมักเป็นคนรวยอยู่แล้ว ทั้งสองปัจจัยนี้ยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำทวีความรุนแรงมากขึ้นไปอีก

โดยภาพรวมแล้ว IMF มองว่า AI น่าจะทำให้ความเหลื่อมล้ำโดยรวมแย่ลง เป็นแนวโน้มที่น่ากังวลสำหรับผู้กำหนดนโยบายต้องหาทางแก้ไขอย่างจริงจังเพื่อป้องกันความตึงเครียดทางสังคม รัฐบาลต้องสร้างระบบสวัสดิการที่ครอบคลุมและจัดโปรแกรมฝึกอบรมใหม่ให้กับแรงงานที่เสี่ยง จะทำให้การใช้ AI เป็นไปอย่างทั่วถึง ลดความเสี่ยงในการตกงาน และลดความเหลื่อมล้ำที่จะเกิดขึ้นด้วย

โลกของ AI ที่ทุกคนมีส่วนร่วม

ในบทสัมภาษณ์กับ CNN ของบิล เกตส์ (Bill Gates) มหาเศรษฐีและนักธุรกิจชาวอเมริกัน ผู้ก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟท์ เขาได้กล่าวถึงความก้าวหน้าของ AI และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสังคมโลกในอนาคต โดยบอกว่า AI มีศักยภาพที่จะเปลี่ยนแปลงโลกไปในหลายๆ ด้าน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม

ตัวอย่างเช่น AI สามารถช่วยเพิ่มผลผลิต เร่งการวิจัยและพัฒนา และปรับปรุงประสิทธิภาพในการทำงานในหลาย ๆ อุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังสามารถช่วยแก้ปัญหาที่ซับซ้อน เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและโรคระบาด

เกตส์เปรียบเทียบความก้าวหน้าของ AI กับการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรในปี 1900 ว่า

"ตอนนั้นผู้คนกังวลว่า 'แล้วคนเรามีอะไรทำกันล่ะ?' แต่ความจริงคือ เกิดงานใหม่ๆ ขึ้นมากมาย หมวดหมู่ตำแหน่งงานใหม่ๆ ก็เกิดขึ้น และวันนี้เราก็ดีกว่าสมัยที่ทุกคนยังต้องทำงานในไร่กันเยอะ กับ AI ก็จะเป็นแบบนั้นแหละ"

สิ่งที่เกตส์ต้องการสื่อว่า แม้การปฏิวัติ AI อาจทำให้บางตำแหน่งงานล้าสมัย แต่เทคโนโลยีนี้จะไม่ใช่หายนะของมนุษยชาติ กลับกัน การเพิ่มประสิทธิภาพและความสะดวกจาก AI จะส่งผลให้เกิดงานใหม่ๆ และโอกาสใหม่ๆ ในสังคม เหมือนอย่างที่เคยเกิดขึ้นกับการปฏิวัติเทคโนโลยีการเกษตรในอดีต

ซึ่งถึงแม้จำนวนแรงงานในภาคเกษตรจะลดลง แต่ก็มีอุตสาหกรรมและงานใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย ทำให้คุณภาพชีวิตโดยรวมของมนุษย์ดีขึ้นกว่าสมัยที่ต้องพึ่งพาการทำเกษตรเพียงอย่างเดียว

อย่างไรก็ตาม เกตส์ยังเตือนว่า AI อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงที่ร้ายแรงเช่นกัน เช่น การแทนที่แรงงาน การขยายความเหลื่อมล้ำ และการใช้ AI ในทางที่ผิด (โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์) การเกิดขึ้นของเทคโนโลยีใหม่ๆ มาพร้อมกับความน่ากลัวและโอกาสเสมอ

อุตสาหกรรมและการลงทุนที่น่าสนใจกับการเติบโตของ AI

AI มีศักยภาพที่จะเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมมากมาย ทั้งในด้านการเพิ่มผลผลิต ปรับปรุงประสิทธิภาพ และสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ยกตัวอย่าง

* อุตสาหกรรมการผลิต: AI สามารถช่วยเพิ่มผลผลิตและปรับปรุงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ได้ โดยนำมาใช้ในการควบคุมเครื่องจักร ตรวจสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์ และออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ตัวอย่างเช่น โรงงานผลิตรถยนต์ใช้ AI ในการควบคุมหุ่นยนต์เชื่อมและประกอบรถยนต์ ทำให้สามารถผลิตรถยนต์ได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำยิ่งขึ้น

* อุตสาหกรรมบริการ: ยกระดับประสิทธิภาพของการให้บริการแก่ลูกค้าได้ โดยใช้ AI ในการตอบคำถามลูกค้า ให้บริการลูกค้า และแนะนำผลิตภัณฑ์และบริการที่เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละราย ตัวอย่างเช่น ธนาคารใช้ AI ในการตอบคำถามลูกค้าทางโทรศัพท์ ทำให้ลูกค้าไม่ต้องรอที่จะต้องคุยกับพนักงานที่เป็นมนุษย์สำหรับคำถามที่ไม่ซับซ้อนมากนัก

* อุตสาหกรรมการเงิน: ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่และคาดการณ์แนวโน้มตลาด วิเคราะห์ข้อมูลทางการเงิน บริหารความเสี่ยง และจัดการการลงทุน

* อุตสาหกรรมสุขภาพ: ช่วยวินิจฉัยโรค พัฒนายารักษาโรค ให้บริการด้านสุขภาพทางไกล ตัวอย่างเช่น โรงพยาบาลใช้ AI ในการวิเคราะห์ภาพทางการแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรคมะเร็ง ทำให้สามารถวินิจฉัยโรคได้เร็วและแม่นยำยิ่งขึ้น หรือใช้ AI เพื่อช่วยจัดการเอกสารต่างๆ ทางการแพทย์ที่เมื่อก่อนต้องอาศัยแรงงานมนุษย์

* อุตสาหกรรมขนส่งและโลจิสติกส์: ปรับปรุงประสิทธิภาพของการขนส่งและโลจิสติกส์ได้โดยวางแผนเส้นทางการขนส่ง บริหารจัดการคลังสินค้า และติดตามสินค้า ทำให้ขนส่งสินค้าได้อย่างรวดเร็วและประหยัดต้นทุน

นอกจากนั้นแล้ว อุตสาหกรรมพลังงาน อุตสาหกรรมการเกษตร อุตสาหกรรมสื่อ และอุตสาหกรรมการศึกษา ต่างก็คาดว่าจะได้รับผลประโยชน์จากการนำ AI มาใช้เช่นกัน

แมคคินเซย์ (McKinsey) บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจ คาดการณ์ว่า AI มีศักยภาพเพิ่มมูลค่าให้กับเศรษฐกิจโลกได้ระหว่าง 14-22 ล้านล้านเหรียญ

ฝ่ายที่สนับสนุน AI มองว่าเทคโนโลยีนี้จะสร้างความมั่งคั่งและยกระดับคุณภาพชีวิต ช่วยเพิ่มเวลาว่างและส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์มากขึ้น

แต่ฝั่งที่กังวลก็มีเสียงสะท้อนว่า AI จะนำไปสู่การสูญเสียตำแหน่งงาน ตัวอย่างเช่น บรรดาคนเขียนบทและนักแสดงฮอลลีวูดที่กังวลว่าจะถูก AI มาแทนจนเกิดการประท้วงขึ้นมาเมื่อปีก่อน (กว่าจะตกลงกันได้ก็ใช้เวลาหลายเดือน)

ธนาคาร Natixis จากฝรั่งเศสนำเสนอผลวิจัยเมื่อกลางปี 2023 บอกว่าสุดท้ายแล้วความมั่งคั่งส่วนใหญ่ไหลไปสู่มหาเศรษฐีเพียงไม่กี่คน และตำแหน่งงานที่เกิดขึ้นจำนวนมากอาจจะไม่ต้องใช้ทักษะระดับสูงหรือได้รับค่าแรงสูงขนาดนั้น

แต่ท้ายที่สุดแล้วเราไม่มีทางต้านทานกระแสโลกที่ AI เกิดขึ้นทุกที่ทุกแห่งพร้อมๆ กันได้ (เรียกว่าเป็นยุคที่ ‘AI Everywhere All At Once’ ก็คงไม่ผิดนัก) คงได้แต่เรียนรู้และปรับตัวให้เข้าไปอยู่เป็นพวกเดียวกัน ใช้มันให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในขณะเดียวกันก็ต้องควบคุมและทำให้แน่ใจว่าศักยภาพของมันกระจายไปสู่มนุษย์ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน (ให้มากที่สุด) และไม่เพิ่มความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่แล้วในสังคมให้เลวร้ายลงไปมากกว่านี้