หุ้น ALL ราคาร่วง 96%* นับตั้งแต่ออก IPO ปี 2562 และ ร่วง 75%* นับตั้งแต่ต้นปี 2566 (*ข้อมูล ณ 30 มิ.ย. 66) กลายเป็นหุ้นที่ร่วงแรงมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ในครึ่งปีแรก ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น มาดูกัน..

ALL (บริษัท ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน)) ประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ วันแรกในเดือน พ.ค.2562 สถิติสูงสุดในวันนั้นคือ 2.6 บาท (ราคาหลังเพิ่มทุน) และมีราคาปิดที่ 1.96 บาท

ประเด็นใหญ่ของ All ตอนนี้คือเรื่องผิดนัดชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้ 4 ชุด รวมมูลค่ากว่า 16.9 ล้านบาท

ซึ่งสาเหตุหลักนั้นมาจากบริษัทขาดสภาพคล่อง มีเงินสดหมุนเวียนไม่ทันมาตั้งแต่ปี 2565 เนื่องจากบริษัทเร่งขยายธุรกิจผ่านการซื้อที่ดินและพัฒนาโครงการหลายแห่ง แต่ไม่เป็นไปตามแผน

บางโครงการประสบปัญหาที่ทำให้ไม่สามารถพัฒนาต่อได้ เช่น ติดปัญหาการก่อสร้าง และไม่ผ่านการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เกิดขาดทุนจากการยกเลิกสัญญาซื้อขายที่ดิน ทำให้เกิดปัญหาทางการเงิน ไม่มีเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจ

นอกจากนี้ ในกลางปี 2565 บางโครงการของ ALL อย่างเช่น The Excel, The Impression มีปัญหาการก่อสร้างล่าช้า ไม่ส่งมอบงานให้ลูกค้าตามกำหนด ทำให้มีกลุ่มลูกค้าออกมาฟ้องร้อง

เมื่อไม่มีการส่งมอบงานให้ลูกค้า ก็ไม่เกิดการรับรู้รายได้นั่นเอง

ทั้งหมดนี้ส่งผลให้ ALL ขาดสภาพคล่อง

ALL พยายามแก้ไขปัญหานี้ โดยออกหุ้นกู้จำนวน 709.9 ล้านบาท ในวันที่ 1 ตุลาคม 2564 และออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนเพื่อจัดสรรให้กับบุคคลในวงจำกัดอีก 6 ครั้ง ระหว่างเดือนสิงหาคม-พฤศจิกายน 2565 รวมเป็นเงินมูลค่า 273 ล้านบาท

แต่ปัญหาก็ยังไม่หมดไป สภาพคล่องยังไม่พอ..

ทำให้ปัจจุบัน (1 ก.ค.66) All ผิดนัดชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้ 4 ชุด รวมมูลค่า 16.9 ล้านบาท

กรณีศึกษาของ All จะสังเกตเห็นว่า ปัญหาการผิดนัดชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้มาจากเรื่องการขาดสภาพคล่องเป็นหลักจากการขยายธุรกิจที่ไม่เป็นไปตามแผน ส่งผลให้มีค่าใช้จ่ายที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เป็นจำนวนมาก

เมื่อเรามาดูผลประกอบการ ตั้งแต่จดทะเบียนเข้ามาในตลาดหลักทรัพย์ เมื่อ พ.ค.2562 พบว่า..

ปี 2562 ALL มีกำไร 501 ลบ.
ปี 2563 กำไรเริ่มลดลง เหลือ 242 ลบ.
ปี 2564 พลิกจากกำไรเป็นขาดทุน -347 ลบ
และ ปี 2565 ขาดทุนเพิ่มขึ้นเป็น -1,495 ลบ.

จะเห็นว่า ราคาของ All ก็ปรับตัวลดลงเรื่อยๆ สอดคล้องกับผลประกอบการที่ลดลง

สัญญาณที่สะท้อนสภาพคล่องที่ลดลงของ All ดูได้จาก ‘อัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียนในปี 2565 ของ All อยู่ที่ 0.85 เท่า น้อยกว่า 1 นั่นสะท้อนว่า All มีสินทรัพย์ที่จะแปลงเป็นเงินสดภายในระยะเวลา 1 ปี น้อยกว่า หนี้สินที่ต้องชำระในระยะเวลา 1 ปี’

และอีกอย่างหนึ่งคือวงจรเงินสด ในปี 2565 ของ All อยู่ที่ 2,200 วัน ในขณะที่เพื่อนๆในอุตสาหกรรมเดียวกันมีวงจรเงินสดที่ 800-1,100 วัน

พูดอีกนัยหนึ่งก็คือว่า บริษัทต้องเงินจ่ายชำระหนี้ค่าสินค้าล่วงหน้าก่อนจะได้รับเงินจากการขายสินค้าถึง 2,200 วัน หรือ 6 ปี นั่นเอง

ในส่วนของหนี้สิน All มีหนี้สินสูงมาตั้งแต่ก่อนเข้า IPO ปี 2562 โดยมี D/E อยู่ที่ประมาณ 3 เท่า

ปี 2565 มี D/E 6.69 เท่า

ซึ่งก็ยังไม่มีท่าทีว่าจะดีขึ้น

ไตรมาส 1 ปี 2566 มี D/E สูงถึง 10.43 เท่า ส่วนนี้เป็นสัญญาณที่สะท้อนถึงความเสี่ยงทางการเงินของ All ที่เพิ่มขึ้น

อีกสัญญาณอันตรายที่น่าสนใจ คือ Free Float หรือ ‘สัดส่วนนักลงทุนรายย่อยในตลาด’ เพิ่มอย่างมีนัยสำคัญ จาก 33.36% ในเดือน มี.ค.65 เพิ่มเป็น 69.92% ในเดือน มี.ค.66

ตรงนี้สะท้อนว่ามีรายใหญ่เทขายหุ้นออกมา และเมื่อเข้าไปดูข้อมูลแล้วก็พบว่าเป็นแบบนั้นจริงๆ

ในระหว่างปี 2565 ผู้บริหารของ All มีการทยอยขายหุ้นอย่างต่อเนื่อง รวมขายสุทธิ 397 ล้านหุ้น คิดเป็นมูลค่า 460 ล้านบาท

ณ 30 มิ.ย. 66 All มีราคาหุ้น 0.09 บาท เป็นราคาร่วงแรงถึง 96% จากวันที่ออก IPO ปี 2562
หรือร่วงถึง 75% นับตั้งแต่ต้นปี

ทั้งหมดนี้เราจะเห็นได้ว่า

-ธุรกิจอสังหานักลงทุนต้องติดตามความคืบหน้าของโครงการว่าเป็นไปตามแผนหรือไม่ เพราะส่งผลต่อรายได้และกำไรของกิจการ ซึ่งผลประกอบการก็ย่อมมีผลต่อราคาหุ้น
-หนี้สินที่สูง สะท้อนถึงความเสี่ยงทางการเงิน และปัญหาสภาพคล่องที่อาจตามมา
-สภาพคล่องมีผลต่อความอยู่รอดของธุรกิจ
-ผู้บริหารเทขายหุ้นอย่างต่อเนื่อง อาจเป็นสัญญาณที่บอกว่า ธุรกิจกำลังเจอปัญหาอะไรบางอย่าง

สุดท้าย พวกเรานักลงทุนก็ยังคงต้องติดตามกันต่อไปว่า All จะสามารถแก้สถานการณ์พลิกกลับมาเป็นกำไรได้อีกหรือไม่ และสามารถชำระหนี้หุ้นกู้ได้ตามกำหนดหรือไม่ เพราะถ้าทำไม่ได้ .. ก็อาจทำให้ All ไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้ตามปกตินั่นเอง

เขียนและเรียบเรียงโดย : พัทธนันท์ เตชะเสน (CISA2, Investment Frappe)