ทักษะและความรู้เกี่ยวกับเรื่องการเงินนั้นถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นมากในโลกปัจจุบัน ปัญหาคือเรื่องบริหารจัดการเงินมักไม่ได้ถูกสอนในโลกเรียน หรือแม้แต่ที่บ้านเองพ่อแม่บางครั้งก็ไม่ได้ใส่ใจเรื่องนี้และหวังเอาว่าพอเด็กโตขึ้นจะเรียนรู้ด้วยตัวเอง ซึ่งบางทีอาจจะสายเกินไปก็ได้

รายงานของเว็บไซต์ CNBC บอกว่าพ่อแม่กว่า 31% หรือเกือบ 1/3 นั้นไม่เคยคุยหรือสอนลูกเกี่ยวกับเรื่องเงินเลย และมีเพียง 15% เท่านั้นที่คุยกับลูกเรื่องความรับผิดชอบเรื่องการเงินทั้งในบ้านและชีวิตประจำวันมากกว่าหนึ่งครั้งต่อสัปดาห์ ซึ่งในรายงานนี้ก็ยังบอกอีกว่าเด็กที่มีความรู้เรื่องการบริหารจัดการเงินนั้นมีโอกาสที่จะตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องค่าเทอมและการใช้เงินช่วงมหาวิทยาลัยได้ดีกว่าเด็กคนอื่น ๆ ด้วย

เพราะฉะนั้นในชีวิตประจำวันหน้าที่ของพ่อแม่นอกจากจะดูแลลูกให้ปลอดภัยและเติบโตอย่างดีที่สุดแล้ว ยังต้องคอยสอนความรู้เรื่องการเงินเป็นประจำให้ลูกได้เตรียมพร้อมรับมือกับการใช้ชีวิตเมื่อโตขึ้นด้วย

วิธีเริ่มต้นที่ง่ายที่สุดก็มาจากเงินก้อนแรกที่เด็กส่วนใหญ่จะได้รับในชีวิตก็คือเงินค่าขนมนั่นเอง เงินตรงนี้มากน้อยแตกต่างกันไปตามสถานะของครอบครัวและความจำเป็น มันเป็นจำนวนเงินที่เด็กจะได้แน่นอน นำไปใช้จ่ายในเรื่องที่เราตกลงกันไว้แล้ว เราสามารถใช้มันเพื่อสร้างนิสัยทางการเงินที่ดีให้กับเด็ก ๆ ได้ด้วย และในหนังสือ “เลี้ยงลูกให้ใช้เงินเป็น” ก็บอกเหตุผล 3 ข้อที่เราควรให้ค่าขนมกับเด็ก ๆ อย่างสม่ำเสมอ

  1. เปิดโอกาสให้ทำผิดพลาดในขณะที่ผลเสียนั้นยังไม่ร้ายแรงมาก - ก็เหมือนการหัดขับรถในลานจอดรถโล่ง ๆ นั่นแหละครับ การให้เด็กใช้เงินซื้อของเล่นราคา 100 บาทแล้วเรียนรู้ว่ามันเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดนั้นดีกว่าเขาควักเงินแสนเงินล้านเพื่อซื้อของที่ไม่จำเป็นเมื่อโตขึ้นมานั่นเอง
  2. สอนให้เด็กประเมินราคาของสิ่งของต่าง ๆ วางแผนว่าจะใช้เงินไปกับอะไรเมื่อมีของอย่างได้มากกว่าอย่างเดียว - สมมุติว่าถ้าลูกอยากไปดูหนังกับเพื่อนตั๋วใบละ 100 บาท แต่ดันใช้เงินค่าขนมของอาทิตย์นี้ไปหมดแล้วเพราะเอาไปซื้อของที่ไม่จำเป็น ครั้งต่อไปก็จะใช้เงินให้รอบคอบมากยิ่งขึ้น
  3. ทำให้เห็นคุณค่าของสิ่งที่ตัวเองซื้อ - สิ่งที่เราได้มาฟรี ๆ กับสิ่งที่เราต้องพยายามเก็บเงินหลายสัปดาห์หรือเป็นเดือนเป็นปีเพื่อไปซื้อนั้นมีค่ามากกว่าของที่ได้มาฟรี ๆ อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเมื่อลูกเก็บเงินเพื่อไปซื้อของด้วยตัวเอง เขาก็จะเห็นคุณค่าของสิ่งที่ซื้อด้วยความอดออมของตัวเองด้วย

การให้ค่าขนมควรเริ่มให้เมื่อเขาพอจะเข้าใจว่าเงินสามารถนำไปซื้อของต่าง ๆ ได้ ปกติแล้วก็จะสัก 6-7 ขวบที่พอจะเริ่มให้ได้ บางโรงเรียนเด็ก ๆ ก็สามารถเอาเงินไปซื้อขนมได้ แต่ถ้าเป็นโรงเรียนที่ทุกอย่างรวมในนั้นหมดแล้ว เงินค่าขนมเหล่านี้เด็ก ๆ ก็สามารถเก็บออมสำหรับเอาไว้ใช้ซื้อของที่ตัวเองอยากได้

สิ่งจำเป็นอีกอย่างหนึ่งคือการบอกความคาดหวังของคุณว่าลูกจะใช้เงินนี้ยังไงด้วย ไม่ได้หมายความว่าต้องบอกเขาว่าซื้ออะไร แต่เพียงแนะนำว่า ‘ควร’ ใช้มันยังไง อาจจะบอกวิธีการจัดสรรเงินเบื้องต้นเช่น 10 บาท ควรแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ใช้สูตร 7-2-1 ก็ได้

7 บาท เอาไป “ใช้” ซื้อของทั่วไป อาหาร เครื่องดื่ม ขนมทั่วไปที่อยากกินในชีวิตประจำวัน
2 บาท เก็บไว้ซื้อของที่ตัวเองอยากได้ “ออม” เรื่อย ๆ เพื่อให้มันเป็นก้อนก่อนจะเอาไปซื้อรองเท้าคู่ใหม่ กล่องดินสอ หรืออะไรก็ตาม
1 บาท “ปัน” เอาไว้เพื่อเป็นเงินสำหรับฉุกเฉิน อาจจะซื้อของขวัญวันเกิดให้เพื่อนหรือบางทีจำเป็นต้องใช้เงินสำหรับบริจาคในงานของโรงเรียน

เทคนิคหนึ่งที่ในหนังสือแนะนำคือแบ่งกระปุกหมูออกเป็นสามใบแล้วก็เขียนติดหน้ากระปุกว่า “ใช้” “ออม” และ “ปัน” ก็ได้ เพื่อให้เด็ก ๆ เข้าใจว่าเงินแต่ละส่วนนั้นใช้กับอะไรบ้าง หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ลองนำไปปรับใช้กันดูครับ

https://www.cnbc.com/2022/04/06/americans-think-parents-should-teach-kids-about-money-yet-many-dont.html