เคยได้ยินคำว่า “ บ้าน คือ วิมานของเรา” เพราะองค์ประกอบสำคัญของบ้าน คือ ครอบครัว หากคุณเป็นหัวหน้าครอบครัว บทบาทหนึ่งที่สำคัญ คือ การบริหารการเงินในครอบครัว (Family Finances) และต่อจากนี้ คือ คำถามที่อาจทำให้คุณและครอบครัว “มั่งคั่ง มั่นคง และมีความสุข” เหมือนอยู่ในวิมานของเรา

มีเป้าหมายชีวิตของครอบครัวที่สามารถแปลงเป็นแผนการเงินเพื่อปฏิบัติให้ถึงเป้าหมาย ใช่หรือไม่

ถ้าตอบ “ใช่”

คุณมีความรู้ มีเหตุมีผล และเชื่อว่าเป้าหมายที่ปราศจากแผน เป็นเพียงแค่ความฝัน” แน่นอนว่าหลายคนอาจวางแผนการเงินเบื้องต้นด้วยการอ่านหนังสือ สื่อออนไลน์จากการเรียน การอบรม แต่บางคนอาจอาศัยผู้รู้หรือใช้บริการนักวางแผนการเงิน แปลงเป้าหมายชีวิตให้เป็นเป้าหมายและแผนการเงินที่สมบูรณ์

แผนการเงินที่สมบูรณ์ของครอบครัว ประกอบด้วยแผนด้านรายได้ รายจ่าย การออม การลงทุน แผนประกันความเสี่ยงในชีวิตและทรัพย์สิน แผนการเกษียณ แผนจัดการมรดก รวมถึงแผนเฉพาะต่าง ๆ เช่น ซื้อรถ ซื้อบ้าน แต่งงานมีบุตร แผนการศึกษา เป็นต้น

ใช้”งบประมาณ” ในการควบคุมค่าใช้จ่ายของสมาชิกในครอบครัว ใช่หรือไม่

ถ้าตอบ “ใช่”

คุณเชื่อในความพอเพียง อาจให้สมาชิกทำบันทึกการใช้จ่ายเพื่อควบคุมไม่ให้จ่ายเกินกว่างบประมาณของแต่ละคน สมาชิกจะเรียนรู้การใช้จ่ายตามความลำดับ ความจำเป็น (Needs ) ความต้องการ (Wants) และใช้จ่ายไม่เกินกว่าฐานะ( living within your means) อันเป็นกฎทองของการสร้างความมั่งคั่ง

มีเงินสำรองฉุกเฉิน สำหรับครอบครัวใช้จ่ายอย่างน้อย 6 เดือน ใช่หรือไม่

ถ้าตอบ “ใช่”

คุณเชื่อในเรื่องการมีภูมิคุ้มกันความเสี่ยง ถึงแม้อาจทำประกันชีวิตและทรัพย์สิน สำหรับครอบครัวตามแผนเป้าหมายชีวิตของครอบครัวแล้วก็ตาม แต่กรณีที่ไม่มีประกันหรือท่านรับความเสี่ยงไว้เอง เช่น ค่าบำรุงรักษาซ่อมแซมเปลี่ยนแปลงบ้านและอุปกรณ์ การขาดรายได้จากการออกจากงานหรือกรณีที่สมาชิกในครอบครัวมีจำนวนมาก (อาจเกิดเหตุไม่คาดคิดมากตามจำนวนคน) และ/หรือ อยู่ในวัยศึกษาเล่าเรียน วัยชรา (ที่ไม่มีประกัน) คุณจึงควรกำหนดจำนวนเงินสำรองให้เหมาะสมกับครอบครัว

ข้อพึงระวัง ไม่ควรคิดว่าวงเงินบัตรเครดิตหรือวงเงินสินเชื่อระยะสั้นดอกเบี้ยสูงเป็นวงเงินสำรองฉุกเฉิน หรือคิดเสมือนว่าเป็นแหล่งรายได้พิเศษ

สามารถสื่อสารเชิงบวกและสร้างการมีส่วนร่วมของครอบครัวในการปฏิบัติตามแผนการเงิน ใช่ หรือไม่

ถ้าตอบ “ใช่”

คุณได้สร้างครอบครัวคุณธรรม เนื่องจากการสื่อสารเชิงบวกหรือการสื่อสารเชิงคุณธรรมมีผลให้ครอบครัวมีความสุขสามัคคีและเข้มแข็ง สมาชิกมีความเข้าใจ มีความสัมพันธ์ที่ดีและมีส่วนร่วมในกิจกรรมของครอบครัว มีผลโดยตรงให้สมาชิกร่วมกันปฏิบัติตามแผนการเงิน เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย

สร้างความตระหนักรู้ให้ครอบครัวไม่ตกเป็นเหยื่อกลโกงทั้งทางออนไลน์และทางอื่น ๆ ใช่หรือไม่

ถ้าตอบ “ใช่”

คุณกำลังบูรณาการความรู้ด้านการเงิน (Money Literacy) ร่วมกับความรู้ด้านสื่อดิจิตอล (Digital Literacy) เพื่อรู้ทันกลโกงรูปแบบเก่าและใหม่ของมิจฉาชีพ แล้วสื่อสารด้วยการพูดคุยกับครอบครัวผ่านสื่อออนไลน์ เช่น line group โดยเชื่อว่าการเตือนสติพร้อมกับให้ความรู้ ก่อให้เกิดสติปัญญา และสติปัญญาก่อให้เกิดความไม่ประมาท ดังนั้น จึงถ่ายทอดทัศนคติ ความรู้ และ mindset การเงินการลงทุนแก่สมาชิกในครอบครัวพร้อมกันไปด้วยเพื่อให้มีภูมิคุ้มกันทางการเงิน

เป็นบุคคลต้นแบบ (Role Model) ด้านการเงินการลงทุนแก่สมาชิกในครอบครัว ใช่หรือไม่

ถ้าตอบ “ใช่”

คุณเชื่อว่า “ทำสิ่งที่ถูก ไม่ใช่เพราะพูดให้ฟัง แต่เพราะทำให้ดู” จึงเป็นบุคคลต้นแบบที่ถ่ายทอดทัศนคติและความรู้การเงินด้วยการทำให้ดูด้วย แต่ผลวิจัยโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและคณะเศรษฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเดือนมกราคม 2565 เรื่อง “พฤติกรรมเชิงลึกและไลฟ์สไตล์ทางการเงินของคนรุ่นใหม่” พบว่าบุคคลต้นแบบในการตัดสินใจทางการเงินและการลงทุนของกลุ่มประชากร คือ พ่อแม่และบุคคลในวงการบันเทิง แต่ถ้าเป็นกลุ่มประชากรออนไลน์ผู้ใกล้ชิดบริการของตลาดหลักทรัพย์ฯ บุคคลต้นแบบกลับกลายเป็น นักธุรกิจต่างประเทศและกูรูด้านการลงทุน จึงเป็นข้อที่ท่านควรเข้าใจพฤติกรรมคนรุ่นใหม่ในครอบครัวด้วย

อนึ่ง บางกรณี เช่น เมื่อบุตรเรียนจบ (และน่าจะทำงานแล้ว) ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาก็จะไม่มี แต่อาจเกิดเหตุไม่คาดฝัน เช่น บุตรไม่ทำงาน ออกจากงาน ขาดรายได้ ขอเงินลงทุน ลงทุนผิดพลาดหรือก่อหนี้สิน อาจจะมาขอความช่วยเหลือด้านการเงิน จึงควรเฝ้ามองหาทางป้องกันหรือหาทางออกให้ด้วยเช่นกัน

เฉลยและสรุป ถ้าคุณตอบ “ใช่” ทุกข้อ คุณและครอบครัวดำเนินชีวิตตามหลักการ 5 ข้อของเศรษฐกิจพอเพียง ได้แก่ มีความพอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกันที่ดี มีความรู้และคุณธรรม อย่างไรก็ตาม ในฐานะหัวหน้าครอบครัวเพื่อความมั่งคั่ง ต้องติดตามสถานการณ์การเงิน ทบทวนแผนการเงิน และหาช่องทางใหม่ ๆ ในการบริหารการเงินในครอบครัว (Family Finances) เพื่อบรรลุเป้าหมายการเงินและเป้าหมายชีวิต

เขียนโดย: กมล กระจ่างวงศ์ชัย นักวางแผนการเงิน CFP®