ชาร์ลี มังเกอร์ (Charlie Munger) กล่าวไว้ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในปี 1995 ว่า

“ในการบินจำลองจะมีกัปตันเครื่องบินกับนักบินที่สอง ซึ่งกัปตันเป็นผู้มีอำนาจ กัปตันก็จะทำอะไรสักอย่างที่แม้แต่นักบินที่สองที่โง่ที่สุดก็ยังรู้ว่าจะทำให้เครื่องบินตก นักบินที่สองฝึกบินจำลองมานานและรู้ว่าตัวเองจะต้องไม่ทำให้เครื่องตก แต่กัปตันก็ยังทำต่อไปอยู่ดี นักบินที่สองนั่งเฉยเพราะกัปตันเป็นผู้มีอำนาจ ผลลัพธ์คือเครื่องบินตกประมาณ​ 25% ของการทดลองนี้ นี่เป็นแนวโน้มทางจิตวิทยาที่ทรงพลังมากทีเดียว”

นี่คือสิ่งที่เรียกว่า “Authority Bias” หรือ อคติจากการเชื่อถือผู้มีอำนาจ

มีบทหนึ่งของหนังสือ The Outliers ของ Malcolm Gladwell ที่เขียนอธิบายเรื่องนี้ไว้ว่ามันเป็นวัฒนธรรม “high power-distance culture” ที่ผู้ใต้บังคับบัญชา จะเคารพผู้บังคับบัญชา ผู้ใหญ่ ผู้อาวุโส หรือผู้เชี่ยวชาญอย่างเคร่งครัด มากจนเกินเลย ไม่เคยกล้าขัด ไม่กล้าโต้แย้ง ไม่กล้าแม้จะเสนอความเห็นที่แตกต่าง ไม่เสนอความเห็นที่กลัวจะไม่เป็นที่พอใจ ผู้นำสั่งอะไร แม้จะไม่เห็นด้วย แต่ก็ทำตาม ไม่กล้าทักท้วง

เรื่องนี้เกิดขึ้นได้บ่อยครั้งและพบเห็นได้ทั่วไป ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่ในสถานการณ์ที่มีผู้บังคับบัญชาอย่างชัดเจนอย่างห้องนักบินหรือทหารตำรวจเท่านั้น แต่มันเกิดขึ้นได้กับทุกเรื่อง แม้แต่ในบริษัทที่ทำงาน พอหัวหน้าสั่งมาทุกคนก็ทำตาม แม้จะเห็นว่ามันเป็นไอเดียที่ห่วยแต่ก็ไม่มีใครกล้ายกมือเถียง เราเห็นคนซื้อของตาม influencers อยู่บ่อย ๆ หรือเราเห็นคนซื้อหุ้นตามผู้เชี่ยวชาญอยู่เสมอ

คนเรามักจะทำตามคนที่เราเชื่อว่ามีอำนาจอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะในภาวะที่มีความเสี่ยง หรือไม่แน่นอนเกิดขึ้น อาจจะเพราะรู้สึกว่าตัวเองไม่รู้ หรือรู้น้อยกว่า

ในหนังสือ “Charlie Munger : ชายผู้ไม่เคยยอมอ่อนข้อให้กับความผิดพลาดในการลงทุน” เขียนอธิบายเอาไว้ว่า

“เมื่อผู้คนรู้สึกไม่แน่ใจ พวกเขาจะไม่พยายามหาคำตอบจากภายในตัวเองเพราะพวกเขาจะเห็นแต่ความไม่ชัดเจนและความไม่มั่นใจ พวกเขาจะมองหาข้อมูลจากภายนอกแทนเพื่อช่วยลดความไม่แน่ใจนั้น และที่แรกที่เขาจะมองหาก็คือผู้มีอำนาจ”

สิ่งที่เราจะเห็นคือผู้เชี่ยวชาญทางด้านการชักจูงผู้คนนั้นจะสร้างขอบเขตของอำนาจตัวเองให้ชัดเจนก่อนที่จะเริ่มจูงใจคนอื่น ๆ อาจจะเป็นวุฒิการศึกษา รายได้ รางวัล ความสำเร็จในชีวิต ความมั่งคั่ง ฯลฯ หรือบางทีถ้าอยากให้น่าเชื่อถือมากกว่านั้นก็กล่าวอ้างบุคคลอื่นที่มีชื่อเสียงเพื่อ “หนุน” ความน่าเชื่อถือของตัวเองให้มากขึ้นไป

คนที่ดูมีอำนาจ ใส่สูท ผูกไท มีตำแหน่ง สวมเสื้อผ้าราคาแพง และเครื่องประดับต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้ช่วยเสริมสร้างความน่าเชื่อถือและเป็นการแสดงอำนาจที่ได้ผลด้วย

มีการทดลองหนึ่งที่เบิกเนตรและอธิบายเรื่องนี้ได้ค่อนข้างชัดเจนของ สแตนลีย์ มิลแกรม ที่ทำขึ้นในปี 1961 (ใครสนใจอยากดูคลิปอ้างอิงอยู่ในคอมเมนต์ครับ) โดยผู้ที่เข้าร่วมการทดลองจะต้องกดปุ่มปล่อยกระแสไฟฟ้าช็อตผู้ที่นั่งอยู่อีกด้านของฉากกั้นเมื่อตอบคำถามผิด โดยปุ่มกดนั้นจะเป็นเหมือนแผงสวิตช์ที่อยู่ข้างหน้าเรียงกัน ตั้งแต่ 15 โวลต์, 30 โวลต์, 45 โวลต์ ไปจนกระทั่งถึง 450 โวลต์ที่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้เลย

ต้องบอกก่อนว่าในการทดลองนี้ไม่มีใครถูกช็อตไฟฟ้าจริงๆนะครับ คนที่นั่งอยู่ที่เก้าอี้ที่ถูกรัดเอาไว้นั้นเป็นหน้าม้าที่มาแสดงเหมือนว่าตัวเองโดยไฟช็อต โดยที่ผู้เข้าร่วมการทดลองนั้นไม่รู้เรื่องนี้

ผลการทดลองนั้นทั้งน่าตกใจและน่าขนลุกในเวลาเดียวกัน นั้นคือ ไม่ว่าฝ่ายที่ถูกช็อตจะร้องครวญครางบอกเจ็บปวด ไม่ไหวแล้ว และผู้ที่เข้าร่วมการทดลองก็อยากจะหยุดด้วย (คือเขารู้สึกผิดแหละเพราะตัวเองเป็นคนกดช็อตไฟฟ้า) แต่เมื่อผู้ควบคุม (ที่ในกรณีนี้คือผู้มีอำนาจและผู้เชี่ยวชาญ) บอกว่า

'อย่าหยุดนะครับ การทดลองนี้จะสำเร็จหรือไม่ก็อยู่ตรงนี้แหละ’

เกินกว่า 50% ของผู้เข้าร่วมการทดลองกลับกดปุ่มปล่อยกระแสไฟฟ้าช็อตต่อไปเรื่อยๆจนแตะระดับสูงสุด เพราะพวกเขาเชื่อในคำสั่งของผู้มีอำนาจอย่างเต็มที่

ในบทความของ Douglas T. Kenrick, Ph.D สรุปเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ในบทความของเขาว่า ‘เราไม่อยากทำร้ายใคร แต่ถ้ามีคนที่มีอำนาจเหนือกว่าเราบอกให้เราทำ และย้ำให้เราทำอยู่ตลอดเวลา มันจะเป็นเรื่องที่ยากมากที่จะต่อต้านบุคคลที่มีอำนาจนั้น เราจะยอมจำนนและทำบางอย่างที่เรารู้อยู่แก่ใจว่ามันผิด’

ผู้เชี่ยวชาญในตลาดหุ้น นักการตลาด คนที่แนะนำหุ้นตัวนั้นขึ้น ตัวนี้ลง ลากเส้นนู่นตัดเส้นนี้ วิเคราะห์ตลาด ฯลฯ จริงอยู่ว่าพวกเขาเป็นคนที่ความรู้ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเราในฐานะนักลงทุนจะเชื่อไปหมดทุกอย่างโดยไม่ตั้งคำถามเลย การเชื่อผู้เชี่ยวชาญ อาจจะกลายเป็นหายนะทางการลงทุนที่คาดไม่ถึงเลยก็ได้ เพราะพวกเขาก็ยังเป็นมนุษย์และตลาดก็เป็นสิ่งที่ไม่มีใครคาดเดาได้ถูกต้องทั้งหมด

แล้วถ้าเราไม่รู้ล่ะ?

ในเรื่องการลงทุน ข้อแรกจำไว้เลยว่าเราไม่ได้เป็นนักบินที่สอง เราไม่ได้อยู่บนเครื่องบิน ถ้าผู้เชี่ยวชาญกำลังจะลงเหวแล้วบอกว่ามาด้วยกันสิ นี่แหละคือทางไปสวรรค์ แล้วเราไม่รู้ว่ามันจริงไหม ก็ไม่ต้องไปทำอะไรครับ

เพราะถ้าเราไม่ทำอะไร มันก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้นกับเงินในบัญชีของเรา อย่างน้อยมันก็แค่อยู่ตรงนั้นไม่ได้เติบโตงอกเงย แต่ก็ไม่ได้เสียหาย

ข้อสองที่ต้องทำคือการหาความรู้ใส่ตัว ให้รอบ ๆ ด้าน ฟังข่าวสาร ลองดูการวิเคราะห์จากหลาย ๆ ฝ่าย คนที่เชื่อ คนที่ไม่เชื่อ อย่าตัดสินข้อมูลจากเพียงด้านเดียว

ถามตัวเองว่า “เราไม่รู้อะไรบ้าง?” ค่อย ๆ หาคำตอบ เมื่อพร้อมทั้งกายทั้งใจ ค่อยไปลงทุน

ถ้าผู้เชี่ยวชาญบอกว่าซ้าย แทนที่เราจะเลี้ยวซ้ายตามไปเลย ก็ตั้งคำถามว่า “ซ้ายเหรอ? ทำไมขวาไม่ได้ล่ะ? เราไม่รู้อะไรบ้าง?”

เราฟังข้อมูลและความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญได้ แต่ให้ตัดสินใจบนพื้นฐานของเหตุผลที่ตัวเองสร้างขึ้นมาดีกว่า ข้อดีของการทำแบบนี้คือเมื่อตัดสินใจผิดขึ้นมา และไม่มีผู้เชี่ยวชาญมาชี้ทางสว่างให้แล้ว เราก็ต้องยอมรับผิดครับ แต่อย่างน้อย ๆ มันคือการตัดสินใจของเราเอง ถ้ามันพลาด เราก็เรียนรู้ว่าพลาดจากตรงไหน แล้วเพราะอะไรครั้งหน้าจะได้ไม่ทำอีก