ออกจากบ้านช้า 5 นาทีอาจทำให้ถึงที่ทำงานช้าไปครึ่งชั่วโมง นี่คือสิ่งที่คนกรุงเทพฯ น่าจะพบเจอกันอยู่บ่อยๆ

มิหนำซ้ำหากท้องฟ้าไม่เป็นใจ เลือกที่จะกระหน่ำสายฝนลงมาตอนเวลาเลิกงาน การจราจรในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ ก็แทบจะเป็นอัมพาตเลยก็ว่าได้

ทำไมมันจึงสำคัญ

แม้ว่าวิถีชีวิตในเมืองใหญ่จะเต็มไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย แต่ปัญหาเรื่องการเดินทางกลับกวนใจผู้คนจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาเร่งด่วนที่สภาพการจราจรบนท้องถนนติดขัดอย่างหนัก

สภาพการจราจรที่ติดขัดตลอดทั้งปี 2022 ส่งผลให้คนกรุงเทพฯ เสียเวลาไปถึง 93 ชั่วโมง หรือประมาณ 4 วัน และเกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์สู่ชั้นบรรยากาศราว 250 กิโลกรัม อีกทั้งค่าใช้จ่ายในการเติมน้ำมันยังเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 4 พันบาท ขณะที่ผู้ใช้รถ EV ต้องชาร์จไฟเพิ่มขึ้นอีก 237 กิโลวัตต์ เพื่อให้เพียงพอต่อการใช้งานในช่วงเวลารถติด

การอนุญาตพนักงานทำงานจากบ้านในวันศุกร์เพียงวันเดียวต่อสัปดาห์ช่วยประหยัดเวลาที่ใช้เดินทางในกรุงเทพฯ มากถึง 38 ชั่วโมงต่อปี หรือคิดเป็น 40% ของเวลาที่คนกรุงเทพฯ เสียไปกับรถติดในปี 2022

เกิดอะไรขึ้น

มีบันทึกตั้งแต่เมื่อประมาณ 100 ปีก่อนว่าเกิดปรากฏการณ์รถติดขึ้นที่กรุงวอชิงตัน ดีซี เมืองหลวงของประเทศสหรัฐอเมริกา

ในวันที่ 11 พฤศจิกายน ปี 1921 ซึ่งตรงกับวันรำลึกการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 (Armistice Day) จึงมีรถยนต์กว่า 3,000 คันมุ่งหน้าไปที่สุสานแห่งชาติอาร์ลิงตัน (Arlington National Cemetery) เพื่อไปเคารพศพของทหารนิรนามที่เสียชีวิตจากสมรภูมิรบ โดยหนึ่งในนั้นคือรถยนต์ของวาร์เรน จี. ฮาร์ติง (Warren G. Harding) ประธานาธิบดีคนที่ 29 ของสหรัฐฯ ซึ่งใช้เวลานานกว่า 3 ชั่วโมง เพื่อเดินทางจากทำเนียบขาวไปยังสุสานที่อยู่ห่างกันเพียง 4 กิโลเมตร

เนื่องจากเส้นทางจากทำเนียบขาวไปยังสุสานต้องใช้สะพานที่มีเพียง 2 แห่งในปี 1921 เพื่อข้ามแม่น้ำ Potomac ส่งผลให้รถยนต์จำนวนมากต้องมาเบียดเสียดกันที่บริเวณสะพาน โดยหลังจากเหตุการณ์ในวันนั้น สภาคองเกรสก็อนุมัติงบประมาณสำหรับก่อสร้างสะพานเพิ่มอีก 1 แห่ง ชื่อว่าสะพาน Arlington Memorial เพื่อช่วยลดเวลาการเดินทางจากทำเนียบขาวไปยังสุสาน จะเห็นได้ว่าต้นตอของปัญหารถติดในครั้งนั้นเกิดจากปริมาณรถที่สัญจรไปมาในช่วงเวลาหนึ่งมีมากเกินกว่าที่ถนนหรือสะพานจะรับไหวซึ่งเป็นเหตุผลที่ใช้อธิบายปรากฏการณ์รถติดที่เกิดขึ้นในพื้นที่อื่น ๆ ได้เช่นกัน

ในบ้านเราเป็นยังไง

ข้อมูลจากเว็บไซต์ tomtom ที่เก็บสถิติการจราจรใน 390 เมือง จาก 56 ประเทศทั่วโลก ชี้ว่าสภาพการจราจรในพื้นที่ใจกลางกรุงเทพฯ ย่ำแย่เป็นอันดับที่ 57 ของโลก

ผู้ขับขี่รถยนต์ต้องใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 21 นาที เพื่อเดินทางในระยะ 10 กิโลเมตร และยิ่งไปกว่านั้น การขับรถในช่วงเวลาเร่งด่วนยังกินเวลาเพิ่มขึ้นอีก 10 นาทีในตอนเช้า และอีก 15 นาทีในตอนเย็น ช่วงเวลาที่รถติดที่สุดในกรุงเทพฯ คือ 17.00-18.00 น. ของวันศุกร์ ส่วนวันที่รถติดที่สุดในรอบปีคือวันที่ 11 สิงหาคม หรือ 1 วันก่อนช่วงวันหยุดยาวในเทศกาลวันแม่

ข้อมูลตรงนี้ยังบ่งบอกอีกว่าจากสภาพการจราจรที่ติดขัดตลอดปี 2022 ทำให้คนกรุงเทพฯ เสียเวลาไปเกือบ 4 วัน (ประมาณ 93 ชั่วโมง) ที่ติดอยู่บนรถ สร้างมลภาวะ ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์เพิ่มอีก 250 กิโลกรัม เป็นค่าใช้จ่ายในการเติมน้ำมันอีก 4,000 บาท ส่วนผู้ใช้ EV ก็ต้องชาร์จไฟเพิ่มอีก 237 กิโลวัตต์ สำหรับช่วงเวลาที่ติดอยู่บนท้องถนน

อย่างไรก็ตาม ปัญหารถติดที่ว่าแย่ในกรุงเทพฯ ก็ยังไม่หนักหนาเท่าสิ่งที่เกิดขึ้นในกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ และกรุงจาการ์ต้า ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 9 และ 29 ของเมืองที่สภาพการจราจรแย่ที่สุดในโลก ตามลำดับ

โควิดส่งผลกระทบอะไร

การระบาดของ COVID-19 ที่รุนแรงส่งผลให้รัฐบาลต้องสั่งปิดสถานที่สาธารณะหลายแห่ง รวมถึงขอความร่วมมือให้ประชาชนเรียนและทำงานจากบ้าน ซึ่งเป็นผลดีต่อสภาพการจราจรบนท้องถนนของกรุงเทพฯ สะท้อนจากข้อมูลอัตราความเร็วเฉลี่ยในการเดินทางบนถนนสายสำคัญช่วงชั่วโมงเร่งด่วนในปี 2020 และ 2021 ที่เพิ่มขึ้นจากปี 2019 ก่อนจะปรับลดลงในปี 2022 หลังรัฐบาลเปิดให้ประชาชนกลับมาชีวิตได้ตามปกติ

ความกังวลต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสทำให้เกิดคำถามว่าประชาชนจะหันไปเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวแทนรถสาธารณะมากขึ้นหรือไม่

งานศึกษาของ World Bank ใช้ข้อมูลจาก Google COVID-19 Community Mobility Reports ของ 39 ประเทศ รวมถึงไทย มาหาความสัมพันธ์กับตัวแปรต่าง ๆ พบว่ายอดจดทะเบียนรถยนต์ใหม่ที่เพิ่มขึ้นทำให้คนออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านมากขึ้นในช่วงที่มีการระบาด โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ที่มีประชากรเกิน 8 ล้านคน เช่น กรุงเทพฯ แต่ไม่ได้ส่งผลให้ปริมาณการใช้รถสาธารณะลดลง ซึ่งอาจเป็นเพราะไม่ใช่ทุกคนที่เดินทางด้วยรถสาธารณะจะมีรถยนต์ส่วนตัวจอดทิ้งไว้ที่บ้าน หรือมีความพร้อมด้านการเงินมากพอที่จะซื้อรถใหม่มาขับในภาวะที่ COVID-19 ระบาดอย่างหนัก

นอกจากนี้ ความถี่ของการเดินทางไปทำงานยังเปลี่ยนไปหลังการระบาดของ COVID-19 บริษัทหลายแห่งปรับเปลี่ยนนโยบายการทำงานให้ยืดหยุ่นมากขึ้น ทั้งเรื่องเวลาการเข้า-ออกจากที่ทำงาน รวมถึงอนุญาตให้พนักงานสามารถทำงานจากบ้านได้เป็นบางวัน

เว็บไซต์ tomtom ประเมินว่าคนทำงานในกรุงเทพฯ สามารถประหยัดเวลาเดินทางลงได้กว่า 38 ชั่วโมงต่อปี หรือประมาณ 40% ของเวลาที่คนกรุงเทพฯ เสียไปกับรถติดในปี 2022 หากมีนโยบายให้พนักงานทำงานจากบ้านในวันศุกร์เพียงวันเดียวต่อสัปดาห์

ลองดูทางแก้จะประเทศอื่น

ประชาชนในกรุงโบโกตา เมืองหลวงของประเทศโคลอมเบีย ซึ่งอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางค่อนข้างสูงเช่นเดียวกับไทย ต้องเผชิญกับสภาพการจราจรที่ติดขัดมากที่สุดเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก

หน่วยงานภาครัฐจึงกำหนดมาตรการ Pico y Placa ซึ่งแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า Rush Hour and License Plate โดยระบุเงื่อนไขของการเดินทางในช่วงเวลาเร่งด่วนตามเลขตัวสุดท้ายของป้ายทะเบียน เริ่มบังคับใช้ในปี 1998 แต่มีการปรับเปลี่ยนอยู่หลายครั้ง

จนกระทั่งเดือนมีนาคม ปี 2022 ภาครัฐตัดสินใจขยายช่วงเวลาเร่งด่วน จากเดิมกำหนดไว้ที่ 6.00-8.30 น. และ 15.00-19.30 น. เปลี่ยนเป็น 6.00-21.00 น. ของทุกวัน โดยในวันเลขคี่ ผู้ใช้รถที่มีป้ายทะเบียนลงท้ายด้วยเลขคี่จะไม่สามารถนำรถออกมาวิ่งได้ ส่วนวันเลขคู่ ผู้ใช้รถที่มีป้ายทะเบียนเลขคู่ก็ไม่สามารถนำรถออกมาวิ่ง

จากนั้น World Bank ร่วมกับ Development Data Partnership เพื่อศึกษาผลของการปรับมาตรการดังกล่าว ผ่านข้อมูลขนาดใหญ่ที่เก็บผ่าน application นำทางที่ชื่อ Waze of Cities พบว่าความหนาแน่นของการจราจรในกรุงโบโกตาลดลงโดยเฉลี่ยประมาณ 11% ในวันทำงาน เนื่องจากประชาชนออกจากบ้านเช้าขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงช่วงเวลาเร่งด่วนตามมาตรการที่กินเวลาเกือบทั้งวัน

สิ่งที่น่าสนใจจากกรณีศึกษาของกรุงโบโกตาคือความตั้งใจจริงของภาครัฐในการแก้ปัญหารถติดตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา แม้ว่ากรุงเทพฯ จะไม่ได้ประสบปัญหาด้านการจราจรที่ย่ำแย่เท่ากับโบโกตา แต่การริเริ่มแก้ไขปัญหารถติดอย่างเป็นรูปธรรมจะช่วยให้คนมีเวลาไปทำกิจกรรมอื่นที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจมากขึ้น และลดการปล่อยมลพิษที่นอกจากจะทำลายสุขภาพของคนในปัจจุบัน ยังเป็นต้นเหตุของภาวะโลกร้อนที่ทำให้ลูกหลานรุ่นถัดไปใช้ชีวิตยากขึ้น

-----------------------------------
-----------------------------------
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย
ผู้เขียน : พิรญาณ์ รณภาพ
เจ้าหน้าที่ลงทุนอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย
Email: PirayaR@bot.or.th
-----------------------------------
-----------------------------------