บัตรเครดิตแผ่นบางๆ สร้างความเสียหายทางด้านการเงินให้ใครหลายต่อหลายคนมาแล้ว

เราทราบดีกว่าการใช้บัตรเครดิตเป็นเรื่องที่ง่ายขนาดไหน อยากได้อะไร รูดปื้ดๆ แป๊บเดียวของที่อยากได้ก็มาอยู่ในมือเรียบร้อยแล้ว ซึ่งก็มีงานวิจัยออกมาด้วยนะครับว่าเราใช้บัตรเครดิตง่ายกว่าเงินสด เพราะไม่ได้รู้สึกว่าเป็นเงินของเรา ต่างจากเงินสดที่อยู่ในกระเป๋า เวลาจะจ่ายอะไรก็จะคิดหนักหน่อย

จึงไม่แปลกครับที่เราจะติดกับดักความสะดวกสบายตรงนี้

วิธีการทำงานของบัตรเครดิตเข้าใจไม่ยากครับ

บัตรเครดิตจะแบ่งเป็น ‘รอบบิล’

โดยกำหนดว่าวันใดวันหนึ่งในแต่ละเดือนเป็น “วันสรุปยอดบัญชี”

และกำหนดอีกวันในเวลาถัดไปอีกเล็กน้อยเป็น “วันครบกำหนดจ่าย”

สมมุติว่า บัตรเครดิตธนาคาร SBANK กำหนดวันสรุปยอดบัญชีเป็นวันที่ 25 ของแต่ละเดือน นั่นแปลว่ารอบบิลของบัตรนี้ก็คือวันที่ 25 ของเดือนก่อน จนถึงวันที่ 25 ของเดือนนี้

และถ้าบัตรนี้กำหนดวันครบกำหนดจ่ายเป็น 15 วันหลังจากวันสรุปยอดบัญชี นั่นก็หมายความว่าต้องจ่ายยอดที่สรุปนั้นภายในวันที่ 10 ของเดือนถัดไปนั่นเอง

ทีนี้เราทราบดีว่ากฎง่ายๆ ของบัตรเครดิตคือธนาคารยินดีจ่ายเงินค่าสินค้า/บริการนั้นให้ก่อนล่วงหน้า โดยไม่คิดอัตราดอกเบี้ย “ถ้า” เราจ่ายเงินคืนครบในวันครบกำหนดจ่าย แถมยังให้คะแนนหรือมอบสิทธิ์ต่างๆ ให้กับเราอีกด้วย อย่างการสะสมแต้ม หรือส่วนลด ฯลฯ

เพราะฉะนั้นถ้าจ่ายหมดทุกรอบ...ชีวิตก็โอเคครับ

ความวินาศสันตะโรจะเกิดขึ้นเมื่อเราเริ่ม ‘จ่ายขั้นต่ำ’

แม้ว่าช่วงที่ผ่านมาที่เป็นช่วงโควิด-19 จึงมีการผ่อนผันการจ่ายขั้นต่ำอยู่ที่ 5% ของยอดใช้จ่ายมาหลายปี ตอนนี้เริ่มมีข่าวว่าตัวเลขนี้จะกลับมาเป็น 10% ของยอดการใช้จ่ายอีกครั้ง แล้วทีนี้ถ้าเราจ่ายขั้นต่ำจะเป็นยังไง? เดี๋ยวมาลองคำนวณดูกันครับ เพราะตอนนี้สิ่งที่เรียกว่า “ดอกเบี้ยบัตรเครดิต” กำลังทำงานแล้ว

วิธีคำนวณดอกเบี้ยบัตรเครดิต

อย่างแรกเลยคือดอกเบี้ยบัตรเครดิตนั้นสูงมาก ประมาณ 16% ต่อปี (มีโอกาสจะปรับเป็น 18% ในอนาคต) แต่ที่หนักคือบัตรเครดิตจะคิดดอกเบี้ยจาก 2 ส่วน คือ

ส่วนที่ 1 คือ “คิดดอกเบี้ยจากยอดทั้งหมด” ตั้งแต่วันที่รูดสินค้า ถึง วันที่ชำระขั้นต่ำ

ส่วนที่ 2 คือ “คิดจากเงินคงเหลือหลังจากที่จ่ายขั้นต่ำไปแล้ว” ตั้งแต่วันที่ชำระขั้นต่ำ ถึงวันสรุปยอดเดือนถัดไป ซึ่งยอดรวมของดอกเบี้ยทั้ง 2 ส่วนนี้จะถูกเรียกเก็บคุณในเดือนถัดไป

มาดูตัวอย่างกันครับ

สมมุติว่าบัตรเครดิต ​SBANK มีกำหนดวันสรุปยอดบัญชีเป็นวันที่ 25 ของแต่ละเดือน และวันครบกำหนดจ่ายคือวันที่ 10 ของเดือนถัดไป

วันที่ 1 มกราคม คุณไปถอยมือถือเครื่องใหม่ราคา 50,000 บาท เพราะฉะนั้นวันครบกำหนดจ่ายคือวันที่ 10 กุมภาพันธ์​ และเราสามารถเลือกจ่ายขั้นต่ำ 10% ได้ นั่นหมายความว่าก็จ่ายแค่ 5,000 บาท

ตอนนี้ดอกเบี้ยบัตรเครดิตเริ่มทำงานครับ

วันที่ 25 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันที่สรุปยอดวันถัดไป เราจะถูกเรียกให้จ่ายค่าบัตรเครดิตตามนี้ครับ

1. ดอกเบี้ยจากการใช้จ่ายยอด 50,000 บาท ถูกคำนวณย้อนไปถึงวันที่เราได้ใช้บัตรซื้อมือถือเครื่องนั้น (1 มกราคม) ไล่มาจนถึงวันก่อนที่เราจะจ่ายขั้นต่ำ (9 กุมภาพันธ์) ก็คิดเป็น 40 วัน เท่ากับดอกเบี้ยจำนวน

50,000 * 16% * (40/365) = 876.71 บาท

2. ดอกเบี้ยจากยอดหลังจากจ่ายขั้นต่ำแล้ว นั่นคือ 45,000 บาท ถูกคำนวณจากวันที่จ่ายขั้นต่ำ (10 กุมภาพันธ์)​ จนถึงสรุปยอดบัญชี (25 กุมภาพันธ์) คิดเป็น 16 วัน

45,000 * 16% * (16/365) = 315.62 บาท

ทีนี้ถ้าเดือนที่ผ่านมาไม่ได้รูดอะไรเพิ่มเลย ยอดคงค้างคือ 45,000 บาท รวมยอดบัตรเครดิตที่ต้องจ่ายในวันที่ 10 มีนาคม คือ 45,000 + 876.71 + 315.62 = 46,192.33 บาท

และถ้าถึงวันที่ 10 มีนาคม เราเลือกจ่ายขั้นต่ำอีก ทีนี้ดอกเบี้ยมันก็จะพอกพูนขึ้นเรื่อยๆ จ่ายกี่ปีไม่รู้กว่าจะหมด หลายคนก็อาจจะบอกว่าถ้ารูดก็ 0% สิบเดือนไปสิ ใช่ครับ สิ่งเหล่านี้ล้วนทำได้ทั้งสิ้น เพียงแต่ที่อยากจะบอกก็คือว่าบัตรเครดิตนั้นเป็นสิ่งที่อันตราย เวลาจ่ายขั้นต่ำแล้วปัญหาจะเริ่มตามมาเรื่อยๆถ้าไม่รีบปิดหนี้

คำแนะนำของการใช้บัตรเครดิตที่ดีที่สุดก็คือคิดก่อนรูด รูดเสร็จกันเงินไว้เลยเพื่อจ่ายสิ้นเดือน จ่ายเต็มจำนวนทุกครั้ง ถ้าทำไม่ได้ต้องจ่ายขั้นต่ำก็จ่ายเพื่อรักษาเครดิต แต่เดือนต่อไปต้องรีบจ่ายให้หมดแล้วอย่ากดเงินสดหรือจ่ายขั้นต่ำไปเรื่อยๆ