‘ประวัติศาสตร์มักจะซ้ำรอยเสมอ’ กับทุกเรื่องในโลก รวมถึงกลโกงที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในโลกการเงินอย่างแชร์ลูกโซ่ (Ponzi scheme)

วันนี้ aomMONEY อยากหยิบเรื่องราวกลโกงสุดคลาสสิกนี้มาเล่าเคล้าบรรยากาศซีรีส์น่าติดตาม เพราะพึ่งได้ดูสารคดีทางเน็ตฟลิกซ์ (Netflix) ที่ชื่อว่า ‘Madoff the monster of wall street’

เรื่องราวของ ‘เบอร์นาร์ด แมดอฟฟ์’ (Bernard Madoff) ชายผู้เป็นดั่งวีรบุรุษในโลกการเงิน ภาพลักษณ์น่าเชื่อถือ แต่อีกด้านของเขา ก็เป็นปิศาจร้ายที่หลอกลวงผู้คนมากมาย สร้างความเสียหาย 2.3 ล้านล้านบาท หรือกว่า 65,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ พร้อมเฉลยคำถามที่ว่า ทำไมเขาจึงขยายอาณาจักรแชร์ลูกโซ่นี้ ได้นานถึง 40 ปี

📌 จุดกำเนิด

แมดอฟฟ์ ถือกำเนิดเมื่อวันที่ 29 เมษายน 1938 ในกรุงนิวยอร์ก พ่อแม่ทำธุรกิจบริษัทหลักทรัพย์ชื่อว่า ‘Gibraltar Securities’ แต่ถูก คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (Securities and Exchange Commission (SEC)) หรือ ก.ล.ต. ของสหรัฐ สั่งปิดเพราะมีเรื่องทุจริต จากนั้นครอบครัวตกอยู่ในสถานะลำบาก ทำให้แมดอฟฟ์คิดมาตลอดว่า “เขาต้องรวย” ให้ได้

แมดอฟฟ์จบปริญญาตรีสาขารัฐศาสตร์จากนั้นก็ไปเรียนต่อด้านกฎหมาย ต่อมาได้แต่งงานกับ ‘รูธ อัลเพริน’ (Ruth Alpern) คนรักที่คบกันมาตั้งแต่มัธยมปลาย ร่วมกันก่อตั้ง ‘Bernard L. Madoff Investment Securities LLC’ หรือ BLMIS ด้วยเงินจดทะเบียน 5,000 ดอลลาร์จากเงินที่เก็บมาจากการทำงานกู้ภัยทางน้ำ (Lifeguard) และติดตั้งระบบสปริงเกอร์ ในปี 1960

🌑 Dark Side

จุดเด่นของ BLMIS คือการรับซื้อขาย ‘หุ้นเพนนี’ (Penny Stock) หรือหุ้นสามัญของบริษัทขนาดเล็กที่ซื้อขายกันในราคาต่ำกว่าหนึ่งดอลลาร์ต่อหุ้น ซึ่งทำเงินให้เขาได้อย่างมหาศาล แต่นอกจากการเปิดบริษัทนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์แล้ว แมดอฟฟ์ ก็เปิดบริษัทให้คำปรึกษาด้านการลงทุน ซึ่งตรงนี้เองเป็นจุดเริ่มของความฉ้อฉลครั้งประวัติศาสตร์

โดยบริษัทให้คำปรึกษาด้านการลงทุนนี้ แรกเริ่มทำธุรกิจด้วยการนำเงินลูกค้ามาลงทุนในหุ้นเก็งกำไร และเมื่อได้ผลตอบแทนก็นำมาแบ่งกัน

คล้ายเป็นกองทุนรวมแบบผิดกฎหมาย ไม่มีการควบคุม เพราะไม่ได้จดทะเบียนรับรองกับ ก.ล.ต. โดยลูกค้าที่มาร่วมลงทุน ส่วนใหญ่เพื่อนหรือคนรู้จักของ ‘ซาอูล อัลเพริน’ (Saul Alpern) พ่อตาของเขานั่นเอง

สรุปง่ายๆ คือแมดอฟฟ์เปิดบริษัท BLMIS แบบถูกกฎหมายพร้อมๆ กับ บริษัทให้คำปรึกษา แต่ทำธุรกิจผิดกฎหมายควบคู่กันไปด้วยนั่นเอง

ช่วงปี 1962 เศรษฐกิจอเมริกาถดถอย ตลาดหุ้นร่วงกราว เงินลูกค้าที่แมดอฟฟ์นำมาลงทุนเกิดความเสียหายกว่า 30,000 ดอลลาร์ แต่แมดอฟฟ์แก้สถานการณ์ด้วยยืมเงินพ่อตามาจ่าย โดยบอกว่าบริษัทของเขาไม่ได้รับความเสียหายใดๆ กลับทำกำไรเสียด้วยซ้ำ

ต่อมา BLMIS (บริษัทถูกกฎหมาย) ของเขาสร้างชื่อด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทำให้นักลงทุนสามารถดูความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นผ่านคอมพิวเตอร์ได้ ทำให้การลงทุนง่ายและรวดเร็วขึ้น ช่วยให้หุ้นเล็กๆ นอกตลาดง่ายต่อการซื้อขาย และพัฒนากลายเป็น ‘แนสแด็ก’ (Nasdaq) ตลาดหุ้นที่เป็นศูนย์กลางของบริษัทเทคโนโลยีในโลกปัจจุบัน

ส่วนบริษัทให้คำปรึกษาลับๆ ที่ดูแลโดยพ่อตาของเขานั้นก็สร้างผลตอบแทนไม่น้อย จากนั้นซาอูลก็จ้าง ‘แฟรงก์ อเวลลิโน’ (Frank Avellino ) และ ‘ไมเคิล บิเอเนส’ (Michael Bienes) เข้ามาดูแลบริษัทเพื่อที่ตัวเองได้เกษียณ

ทั้งคู่เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น ‘Avellino & Bienes’ (A&B) และเริ่มสร้างกองทุนเพื่อรวมเงินลงทุนของลูกค้าส่งให้แมดอฟฟ์บริหาร โดยบอกลูกค้าว่ากองทุนนี้จะบริหารด้วยผู้จัดการลับที่เปิดเผยชื่อไม่ได้ แต่สามารถสร้างผลกำไรให้นักลงทุนได้อย่างแน่นอน

ก้าวสู่ยุค 70’s แมดอฟฟ์พัฒนา BLMIS ให้กลายเป็น ‘Market Maker’ ทำหน้าที่ดูแลสภาพคล่องของการซื้อขายหุ้น เหมือนพ่อค้าคนกลางที่ซื้อหุ้นมาเก็บไว้ขายต่อ ทำกำไรจากค่าคอมมิชชัน พอยุค 80’s ตลาดหุ้นกลับมาคึกคัก ทั้ง 2 บริษัทของเขาต่างทำเงินได้อย่างมหาศาล

BLMIS ย้ายมาประจำการที่ชั้น 19 บนตึกลิปสติก (Lipstick Building) ที่หรูหราในสมัยนั้น และด้วยชื่อเสียงที่มี ทำให้แมดอฟฟ์ได้ร่วมเป็นคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แนสแด็ก

1987 ตลาดกลับมาซบเซา นักลงทุนต่างเทขายหุ้น ไม่มี Market Maker เจ้าไหนกล้าเสี่ยง มีเพียงบริษัทของแมดอฟฟ์เจ้าเดียวที่กล้ารับซื้อทุกหุ้นที่ต้องการขาย และเขาได้รับเสียงชื่นชมมากมาย จนก้าวขึ้นเป็นประธานคณะกรรมการแนสแด็ก ถึง 3 สมัย ในปี 1990,1991 และ 1993 และถูกขนานนามว่า วีรบุรุษแห่งวอลสตรีต

🧐 กลิ่นที่ไม่มีใครสนใจ

1992 ความผิดของแมดอฟฟ์เริ่มส่งกลิ่น เมื่อมีใบปลิวโฆษณาการลงทุนที่มีการันตีผลตอบแทนหลุดออกไป ทำให้ ก.ล.ต. ต้องมาสืบสาวราวเรื่อง จนสามารถจับแฟรงก์ อเวลลิโนและไมเคิล บิเอเนส ที่ดูแลบริษัทนี้ได้ในที่สุด

ทั้งคู่ซัดทอดว่า เงินทั้งหมดของ A&B ถูกส่งต่อไปที่บริษัทของแมดอฟฟ์ ทำให้แมดอฟฟ์ต้องพิสูจน์ให้ได้นำเงินไปลงทุนจริง เขาจึงให้ ‘แฟรงค์ ดิปาสคาลี’ (Frank DiPascali) ผู้บริหารฝ่ายการเงินและมือขวา สร้างหลักฐานเท็จเพื่อยืนยันธุรกรรม จากนั้นก็เอาไปยื่นให้เจ้าหน้าที่

ก.ล.ต. ทำการตรวจสอบแล้วบอกว่า บริษัทของแมดอฟฟ์ไม่พบความผิดปกติ จึงหันไปลงโทษนักบัญชีทั้ง 2 ด้วยการปิด A&B เพราะไม่ได้จดทะเบียนกองทุน และจ่ายเงินคืนลูกค้ารวมกว่า 440 ล้านดอลลาร์ (15,600 ล้านบาท) และเพื่อไม่ให้ลูกน้องทั้งสองคนติดคุก แมดอฟฟ์จึงไปยืมเงิน ‘เจฟฟรี พิคาวเวอร์’ (Jeffry Picower) นักลงทุนชาวอเมริกันที่เป็นลูกค้าตั้งแต่สมัยซาอูลบริหาร เพื่อนำมาจ่ายคืนลูกค้าตามคำสั่งของ ก.ล.ต. โดยหลายฝ่ายเชื่อว่า พิคาวเวอร์ รู้ว่าแมดอฟฟ์ทำอะไร จึงให้เงินช่วยเหลือ เพื่อที่จะขู่ถอนทุนคืนในภายหลัง

หลังจากจัดการจ่ายเงินคืนให้ลูกค้า A&B สิ่งเกิดขึ้นคือ ลูกค้าเหล่านั้นพยายามขอลงทุนกับแมดอฟฟ์โดยตรง ซึ่งแมดอฟฟ์ก็ลังเล แต่เมื่อเขาปรึกษากับ ก.ล.ต. ก็ได้รับคำตอบว่า เขาสามารถทำธุรกิจด้วยการนำเงินจากลูกค้าเหล่านี้ไปลงทุนต่อได้ และนั่นทำให้ แมดอฟฟ์จัดตั้งกองทุนเพื่อนำเงินไปบริหารได้อย่างเปิดเผย และที่สำคัญ ก.ล.ต. ไม่ได้บอกให้เขาไปจดทะเบียนกองทุน ทำให้บริษัทของแมดอฟฟ์ไม่ได้ถูกตรวจสอบตามเกณฑที่กำหนด ซึ่งนั้นเป็นความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวง

แมดอฟฟ์มอบหมายให้ แฟรงค์ ดิปาสคาลี ดูแลบริษัทที่ปรึกษาและกองทุน (แชร์ลูกโซ่) โดยเปิดสำนักงานใหม่ที่ชั้น 17 ตึกลิปสติกเช่นกัน และการที่ ก.ล.ต. บอกว่าเขาไม่ได้ทำความผิด ก็ยิ่งสร้างชื่อเสียงให้เพิ่มมากขึ้น เขารักษาฐานลูกค้าเก่าจาก A&B ไว้ได้ และมีลูกค้าใหม่เพิ่มมากขึ้นด้วย แมดอฟฟ์เข้มงวดในการรับลูกค้า โดยจะปฏิเสธลูกค้าใหม่ (ถ้าเงินไม่มากพอ) และใครที่พยายามสอบถามวิธีการหาเงินของเขา ก็จะถูกตัดออกจากกองทุนทันที

ความยากที่จะเข้าถึงและผลตอบแทนที่สม่ำเสมอนี้เอง ที่ทำให้มีนักลงทุนแห่มาลงทุนทั้งผ่านคนรู้จักและติดต่อแมดอฟฟ์โดยตรง มีทั้งมหาเศรษฐี คนดัง เชื้อพระวงศ์จากทั่วโลก รวมถึง ‘เฮดจ์ฟันด์’ (Hedge Fund) ที่ต่างเอาเงินมามอบให้แมดอฟฟ์บริหาร

ปี 2000 แม้จะเกิดวิกฤตการณ์ฟองสบู่ดอทคอม (Dot-com bubble) แต่แมดอฟฟ์ยังส่งกำไรให้นักลงทุนแชร์ลูกโซ่ของเขา ทำให้บริษัทบริหารความเสี่ยงอย่าง ‘Rampart Investment’ บังคับให้ ‘แฮรี มาโคโปลอส’ (Harry Markopolos) ผู้เชี่ยวชาญด้านคณิตศาสตร์ของบริษัท ให้คิดวิธีทำกำไรแบบที่แมดอฟฟ์ทำให้ได้

แต่เมื่อมาโคโปลอสดูตัวเลขกำไรแมดอฟฟ์ทำแล้ว ก็บอกว่า มันเป็นไปไม่ได้ ที่ใครจะลงทุนที่ให้ผลตอบแทน 1-2% ต่อเดือนเป็นเวลาหลายปีโดยไม่ขาดทุนเลย จึงยื่นเรื่องร้องเรียนว่าบริษัทสายมืดของแมดอฟฟ์เป็นแชร์ลูกโซ่ แต่สิ่งที่ ก.ล.ต.ทำคือ ให้นักศึกษาจบใหม่ 2 คน เข้าไปตรวจสอบแมดอฟฟ์

และคนที่คอยตอบคำถามเด็กจบใหม่ที่ ก.ล.ต. ส่งมานั้น คือ แมดอฟฟ์เอง ระหว่างตรวจสอบแมดอฟฟ์บอกเจ้าหน้าที่ว่า เขามีชื่อเป็นแคนดิเดตที่จะได้เป็นหัวหน้า ก.ล.ต. คงจะดีถ้าได้ทำงานร่วมกัน หลังจากนั้นไม่นาน เจ้าหน้าที่ตรวจสอบก็กลับไปแล้วบอกว่า ไม่พบความผิดปกติใดๆ

แต่มาโคโปลอสไม่ละความพยายาม เขายื่นเรื่องร้องเรียนอีกหลายครั้งตลอดหลายปี ซึ่งการทำเช่นนั้นก็ทำให้เขาต้องระวังตัวอย่างสูง เพราะส่งผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายกลุ่ม ถึงขั้นต้องตรวจระเบิดทุกครั้งที่ขับรถ ไม่เดินในที่มืดหรือจุดเสี่ยงเพื่อความปลอดภัยของตัวเอง

❌ จุดจบ

เล่ามาถึงตรงนี้หลายคนคงคาดเดาว่า จะมีพระเอกสักคนมาจัดการเรื่องนี้ แต่เปล่าเลย แชร์ลูกโซ่ของแมดอฟฟ์นั้นขาดสภาพคล่องและในที่สุดก็ล้มลงไปเอง

เหตุการณ์เริ่มต้นในปี 2005 ที่มีข่าวกองทุนเฮดฟันด์อื่น (ไม่ใช่ของแมดอฟฟ์) ทำธุรกิจแชร์ลูกโซ่ ส่งผลให้เกิดความไม่มั่นใจในกลุ่มนักลงทุน มีการถอนเงินจากกองทุนต่างๆ รวมถึงเฮดฟันด์ของแมดอฟฟ์ด้วยเต็มๆ มีคำสั่งถอนเงินจนเขาจ่ายไม่ไหว มีหนี้ค้างกว่า 100 ล้านดอลลาร์ (3,600 ล้านบาท) ทำให้ต้องยืมเงินจากพิคาวเวอร์อีกครั้ง

ปลายปี 2005 มาโคโปลอส ยื่นหนังสืออีกครั้งโดยกล่าวว่า เฮดฟันด์ของแมดอฟฟ์ทำธุรกิจมูลค่าสูงกว่า 50,000 ล้านดอลลาร์ (1,760,000 ล้านบาท) แต่ไม่พบว่ามีข้อมูลของบริษัทคู่ค้าเลย ทำให้ ก.ล.ต. ถูกกดดันจนต้องตั้งทีมขึ้นสอบสวน

ต้นปี 2006 แมดอฟฟ์เข้าพบ ก.ล.ต. เพื่อตอบคำถามและจดข้อมูลคู่ค้าปลอมๆ ใส่กระดาษเพื่อให้ ก.ล.ต. นำไปสืบสวนต่อ แล้วขอตัวกลับบ้านไป คล้ายกับยอมแพ้และกลับไปนั่งรอให้เจ้าหน้าที่มาจัดการเขา

แต่นั่นไม่เคยเกิดขึ้น ไม่มีความจริงจังในการสืบสวนแมดอฟฟ์ สิ่งเดียวที่ ก.ล.ต. ทำ คือให้เขาจดทะเบียนบริษัทให้คำปรึกษาการลงทุนของเขาให้ถูกต้องเพื่อจะเข้าไปตรวจสอบได้ในอนาคต ซึ่งหมายความว่า มันเป็นไฟเขียวดวงใหญ่ให้เขาทำธุรกิจนี้ต่อไปอีกครั้ง

ปี 2006-2008 เป็นยุครุ่งโรจน์ทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา ช่วงก่อนวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ (Hamburger Crisis) ทุกคนต่างมีเงินและอยากลงทุน แมดอฟฟ์ได้รับประโยชน์มหาศาล

แต่พอเกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ คนทั่วโลกหวั่นว่าเศรษฐกิจจะพังยับเยิน จึงขอถอนหุ้นออกอีกครั้ง เงินในกระเป๋าแมดอฟฟ์ไหลออกจนเกือบจะไม่เหลือ พิคาวเวอร์ปฏิเสธที่จะให้ยืมเงิน แมดอฟฟ์หมดหนทาง เขาจึงออกมายอมรับกับครอบครัวว่าเขาสร้างแชร์ลูกโซ่มานานกว่า 40 ปี

ธุรกิจถูกกฎหมายที่ดูแลโดย ‘มาร์ก แมดอฟฟ์’ (Mark Madoff) และ ‘แอนดรูว์ แมดอฟฟ์’ (Andrew Madoff) ลูกชายทั้ง 2 ไม่มีกำไรมาสักพักแล้ว อยู่ได้เพราะเงินจากเหยื่อแชร์ลูกโซ่

เรื่องนี้สร้างความผิดหวังให้ลูกชายทั้ง 2 ของเขาเป็นอย่างมาก ส่วน รูธ แมดอฟฟ์ ภรรยาที่อยู่ด้วยกันมาตั้งแต่มัธยมปลายทำหน้ามึนงงแล้วถามแมดอฟฟ์ว่า

“อะไรคือแชร์ลูกโซ่ (What is Ponzi scheme?)”

แอนดรูว์ แมดอฟฟ์โทรหาพ่อตาที่เป็นทนาย ได้รับคำแนะนำว่า เขาต้องโทรแจ้งความเพื่อแสดงให้เห็นว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ แอนดรูว์เลยแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจให้มาจับกุมพ่อของตนเอง ปิดตำนานแชร์ลูกโซ่ที่ใหญ่ที่สุดตลอดกาลของเบอร์นาร์ด แมดอฟฟ์

หลังการจับกุม แมดอฟฟ์รับสารภาพว่า ทำเรื่องนี้เพียงคนเดียว มีการประเมินความเสียหายอยู่ที่ประมาณ 65,000 ล้านดอลลาร์ (2.3 ล้านล้านบาท) แม้ทางแมดอฟฟ์จะอธิบายว่า นั้นเป็นตัวเลขที่รวมกับกำไรแบบมโนของเขา ความเสียหายจริงน่าจะอยู่ราว 19,000 ล้านดอลลาร์ ( 7 แสนล้านบาท) แต่นั่นก็เป็นตัวเลขที่สูงอยู่ดี

แมดอฟฟ์ถูกสั่งจำคุกเป็นเวลา 150 ปี มีผู้ร่วมขบวนการครั้งนี้อย่าง แฟรงค์ ดิปาสคาลี และพนักงานอีกไม่กี่คนถูกตัดสินว่ามีความผิด ผู้คนทั่วโลกต่างสงสัยว่า การฉ้อโกงระดับโลกครั้งนี้ มีผู้ต้องหาแค่นี้จริงหรือ

❓ หน่วยงานรัฐและเอกชนหลายแห่งถูกตั้งคำถาม เช่น

- ธนาคารที่แมดอฟฟ์ใช้ทำธุรกรรมอย่าง ‘เจ.พี. มอร์แกน’ (J.P. Morgan) ไม่มีส่วนรู้เห็นด้วยหรือ ทั้งที่มีเงินหมุนเวียนมากมายขนาดนี้ (แต่ความผิดปกติของคนธรรมดานิดหน่อยกลับถูกส่งตรวจสอบอย่างเข้มงวด)

- พิคาวเวอร์ น่าจะมีส่วนรู้เห็นเพราะถอนเงินจากธุรกิจของแมดอฟฟ์หลายพันล้านดอลลาร์ตลอดหลายปีที่ผ่านมา แต่กลับไม่มีความผิดใดๆ เลย

- สำนักงานตรวจบัญชีชื่อดังหลายแห่งเข้าไปตรวจสอบ ไม่พบความผิดปกติ (?)

- และคำถามสำคัญ ก.ล.ต. ปล่อยให้แมดอฟฟ์ทำเรื่องเสียหายระดับนี้ ใต้จมูกพวกเขาได้อย่างไร ซึ่งทั้งหมดยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน

เมษายน 2021 เบอร์นาร์ด แมดอฟฟ์เสียชีวิตอย่างเดียวดายในคุก ความเสียหายที่เขาก่อขึ้นส่งผลกระทบหลายภาคส่วน เหยื่อหลายคนสิ้นเนื้อประดาตัว นักลงทุนหลายคนฆ่าตัวตาย รวมถึง มาร์ก แมดอฟฟ์ ลูกชายของเขาด้วยที่ทนแรงกดดันจากสังคมไม่ไหว

คดีนี้สะท้อนให้เห็นหลายอย่าง

ทั้งความโลภของมนุษย์ที่มักมองไม่เห็นความผิดปกติ ถ้ามีผลประโยชน์มาเกี่ยวข้อง ความเกรงใจในชื่อเสียง อำนาจบารมี ความเชื่อมั่นที่ไร้การตรวจจสอบของเจ้าหน้าที่รัฐ

แม้เหตุการณ์ครั้งนี้จะสร้างความสูญเสียมากมายแค่ไหน แต่เชื่อว่า นี่ไม่ใช่ครั้งสุดท้าย แชร์ลูกโซ่และกลโกงรูปแบบอื่นก็ยังจะดำเนินต่อไป หากความละโมบยังคงอยู่

จะมีแมดอฟฟ์คนใหม่เกิดขึ้นมาอีก เหยื่อคนใหม่ๆ ที่หลงกล และประวัติศาสตร์ก็ยังคงหมนุกลับมาซ้ำรอยอีกครั้ง