อาจเป็นคำถามในใจใครหลายคนสำหรับการเลือกตัดสินใจระหว่างสองวิธีนี้ ว่าจะเก็บเงินสำรองไว้เพื่อรักษาตัวเอง หรือ ซื้อประกันสุขภาพเพื่อโอนย้ายความเสี่ยง อย่างไรก็ดีทั้งสองวิธีนี้มีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกัน ด้วยเหตุผลประกอบ ดังนี้

การเก็บเงินไว้รักษาตนเอง

กรณีเก็บเงินไว้เพื่อรักษาตัวเอง ข้อแรกที่ควรคำนึงถึงคือ งบประมาณที่ต้องการเก็บของแต่ละคนคือเท่าไร บางคน 1 ล้านบาทรู้สึกเพียงพอ บางคนต้องมี 5 ล้านบาท หรือบางคนต้องมี 30 ล้านบาทถึงจะอุ่นใจ และเพียงพอกับการรักษาที่ตัวเองต้องการ

ตัวอย่าง น.ส.เอ ต้องการเก็บเงินไว้เพื่อรักษาตนเอง 5 ล้านบาท ปัจจุบัน น.ส.เอ อายุ 35 ปี ทยอยเก็บเงินจนได้ครบ 5 ล้านบาท

อายุ 45 ปีเกิดเหตุไม่คาดฝัน ตรวจพบมะเร็งเต้านมระยะที่ 2 ต้องใช้ค่ารักษาพยาบาล ดังนี้

• ค่าผ่าตัด 200,000 บาท
• เคมีบำบัด 445,788 บาท
• รังสีรักษา 200,000 บาท
• Target Therapy (ใช้ 1 ชนิด) 1,766,000 บาท(1)
= รวมค่าใช้จ่าย 2,611,788 บาท

หลังจากใช้ไป ถ้า น.ส.เอต้องการเติมเงินค่ารักษาพยาบาลให้ครบ 5 ล้านบาท น.ส.เอ ต้องเริ่มทยอยเก็บเงินอีกครั้ง ซึ่งถ้าต่อมามีการรักษาซ้ำหรือเป็นโรคร้ายแรงด้านอื่น 5 ล้านบาทที่เตรียมไว้อาจจะไม่เพียงพอจำเป็นต้องขายสินทรัพย์อื่นที่มีอยู่เพื่อมาดูแลรักษาตนเองในอนาคต

ข้อดีของการเก็บเงินเพื่อรักษาตัวเอง

1.สามารถนำเงินที่ยังไม่ต้องใช้ไปลงทุนก่อนเพื่อสร้างผลตอบแทน

2.กรณีไม่ได้ใช้เกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาล เงินออมที่เก็บไว้อาจจะนำไปใช้เพื่อการเกษียณหรือแผนการเงินอื่นๆ ในชีวิตได้

3.ประกันสุขภาพบางแบบอาจจะไม่ได้ครอบคลุมการรักษาทั้งหมด เช่น การรักษาพยาบาลแบบผู้ป่วยนอก ,ทันตกรรม หรือการรักษาแพทย์ทางเลือก

ข้อเสียของการเก็บเงินเพื่อรักษาตัวเอง

1.หากมีการใช้ค่ารักษาพยาบาล จะต้องมีการเริ่มเก็บเงินใหม่อีกครั้ง ซึ่งสุขภาพและระยะเวลาจะมีผลกับการเก็บเงิน ถ้าขณะนั้นสุขภาพไม่เอื้ออำนวยในการหารายได้ ต้องจำกัดการรักษาเท่าที่มีความสามารถจ่ายได้ในเวลานั้น ระยะเวลา ถ้ามีการเจ็บป่วยในช่วงใกล้เกษียณอายุและต้องเริ่มเก็บเงินใหม่ ต้องใช้การเก็บเงินจำนวนมาก เพื่อให้ทันกับระยะเวลาการเก็บเงินที่น้อยลง

2.ไม่สามารถคาดการณ์จำนวนเงินสูงสุดที่ต้องเก็บออมได้ เพราะไม่สามารถกำหนดจำนวนครั้งที่ต้องรักษา และค่าใช้จ่ายต่อครั้งที่ต้องใช้ต่อการรักษาหนึ่งโรค

3.หากไม่สามารถออมเงินใหม่ได้ทัน ทางเลือกถัดไปคือ ต้องดึงเงินในสินทรัพย์ทางการเงินด้านอื่นมาใช้ การขายอย่างกระทันหันอาจทำให้ไม่ได้มูลค่าตามที่เคยคาดหวังไว้ได้

การซื้อประกันสุขภาพ

ปัจจุบันสัญญาประกันสุขภาพมีหลากหลายรูปแบบ ทั้งแบบค่ารักษาพยาบาลต่อการรักษาตัวหนึ่งครั้ง ไม่จำกัดจำนวนครั้งต่อปี หรือค่ารักษาพยาบาลแบบวงเงินเหมาจ่ายต่อปี เริ่มต้นตั้งแต่ 200,000 บาท จนถึง 120 ล้านบาทต่อปี การเลือกแผนใดจะอยู่ที่การวางแผนการรักษาในโรงพยาบาลที่มีค่ารักษาอยู่ในระดับใด ความสามารถในการชำระเบี้ยต่อปี และจำนวนปีที่ต้องการได้รับความคุ้มครองปัจจุบันคุ้มครองสูงสุดอยู่ที่ 99 ปี

ตัวอย่าง ถ้า น.ส.เอ อายุ 35 ปี มีความประสงค์ทำประกันสุขภาพ ณ ปัจจุบันจนถึงอายุ 99 ปีค่าเบี้ยประกันรวมทั้งสัญญาคือ 7,658,800 บาท(2) ถ้าเกิดเหตุต้องใช้ค่ารักษาพยาบาลตามตัวอย่างข้างต้นจะครอบคลุมวงเงินค่ารักษาและในปีต่อไปวงเงินก็จะกลับมาเต็มใหม่ที่ 5 ล้านบาทเสมอทุกปี ทำให้วางแผนค่าใช้จ่ายด้านค่ารักษาพยาบาลได้

จากตัวอย่างถ้า น.ส.เอ ทำประกันสุขภาพวงเงิน 5 ล้านบาทต่อปี ตรวจพบมะเร็งเต้านมระยะที่ 2 จะสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลรักษาพยาบาลได้ ดังนี้

• ค่าผ่าตัด 200,000 บาท
• เคมีบำบัด 445,788 บาท
• รังสีรักษา 200,000 บาท
• Target Therapy(ใช้ 1 ชนิด) 1,766,000 บาท
= หากทำประกันสุขภาพวงเงิน 5 ล้านบาทต่อปี ค่าใช้จ่ายทั้งหมดนี้ อยู่ในวงเงินค่ารักษา

ข้อดีของการซื้อประกันสุขภาพ

1.วางแผนค่าใช้จ่ายในแต่ละปีได้ ทราบจำนวนเงินที่จ่ายได้แน่นอน
2.ลดภาระค่าใช้จ่ายยามฉุกเฉินของครอบครัว
3.สบายใจ และอุ่นใจในการรักษา ได้รับการรักษาที่รวดเร็วและทันท่วงที
4.มีทางเลือกในการรักษา และสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยได้

ข้อเสียของการซื้อประกันสุขภาพ

1.เงินที่นำมาซื้อประกันสุขภาพ อาจเสียโอกาสในการนำเงินจำนวนนี้ไปลงทุน

2.ผู้ทำประกันต้องสุขภาพแข็งแรงดี ถ้ามีโรคประจำตัวอาจจะถูกเว้นโรคที่เป็นมาก่อนการทำประกัน ปฎิเสธการรับประกันหรือเลื่อนการรับประกัน

3.อายุผู้ทำประกัน มีผลต่อเบี้ยประกัน และแบบประกันสุขภาพ เช่น ถ้าเริ่มทำประกันตั้งแต่อายุน้อย จะวางแผนประกันสุขภาพได้หลากหลายกว่า ผู้ที่เริ่มมาประกันสุขภาพตอนอายุมากแล้ว อาจจะจำกัดแผนและแบบประกันที่สามารถทำได้

4.การทำประกันสุขภาพ จะมีระยะเวลาในการรอคอยหลังจากกรมธรรม์อนุมัติ ไม่สามารถใช้ได้ทันที ไม่เหมือนประกันอุบัติเหตุที่คุ้มครองทันทีตั้งแต่กรมธรรม์อนุมัติ

การเก็บเงินสำรองไว้เพื่อรักษาตัวเอง หรือ ซื้อประกันสุขภาพนั้น จะมีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกันตามที่กล่าวข้างต้น อย่างไรก็ตามการวางแผนประกันสุขภาพเป็นหนึ่งในการวางแผนทางการเงิน เพราะจะทราบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นและวางแผนในการเก็บเงินได้ การจัดสรรเงินเพื่อแผนประกันสุขภาพควรอยู่ในงบประมาณที่เหมาะสม เพียงพอกับการรักษาแบบที่เราต้องการ และคำนึงถึงเบี้ยประกันที่มีการปรับเพิ่มตามอายุ หนึ่งแผนการเงินที่สำเร็จจะสามารถต่อยอดไปยังแผนการวางแผนทางการเงินด้านอื่นๆได้

เขียนโดย: สุปาณี เกษมสัมพันธ์ นักวางแผนการเงิน CFP®