หากพูดถึงประกันรถยนต์สำหรับคนไทยแล้วจะคุ้นเคยมากกว่าการซื้อประกันชีวิตเสียอีก คนไทยที่มีรถส่วนใหญ่จะซื้อประกันรถยนต์เอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นประกันชั้น 1, 2+, 2, 3+,3 ฯลฯ เพราะกลัวกันว่าหากมีเหตุไม่คาดฝันเกิดขึ้น และการมีประกันรถเอาไว้จะช่วยผ่อนหนักเป็นเบา

ทุกครั้งที่เกิดอุบัติเหตุกับรถยนต์ก็มักจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สิน และบุคคล หากรอให้ผู้กระทำผิดชดใช้ความเสียหาย อย่างเช่น ค่ารักษาพยาบาลให้ อาจไม่ทันกาล ดังนั้นภาครัฐจึงมีแนวคิดที่จะคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ และให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยทุกคน โดยไม่สนใจว่าบุคคลนั้นจะเป็นฝ่ายผิด หรือถูก หากเกิดความเสียหายขึ้น ผู้เสียหายก็จะได้รับความคุ้มครองตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้ ไม่ว่าจะบาดเจ็บหรือเสียชีวิต เพื่อให้ได้รับการพยาบาลอย่างทันท่วงที และเป็นค่าปลงศพในกรณีที่ผู้ประสบภัยเสียชีวิต

นอกจากนี้ ยังถือเป็นหลักประกันให้กับโรงพยาบาลอีกด้วยว่าจะได้รับค่ารักษาพยาบาลจากผู้ที่ประสบเหตุจากรถยนต์ หรือที่เรียกว่า สวัสดิการสงเคราะห์ของรัฐบาลที่มอบให้ประชาชนที่ได้รับความเสียหายและครอบครัว เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนนั่นเอง ด้วยประกันรถยนต์ภาคบังคับ (Compulsory Motor Insurance)

ประกัน พ.ร.บ. หรือ ประกันรถยนต์ภาคบังคับ (Compulsory Motor Insurance) เป็นการประกันภัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 5 เมษายน 2536 โดยกำหนดให้ให้เจ้าของรถที่มีชื่อในเล่มทะเบียนรถยนต์หรือผู้ครอบครองรถในกรณีเป็นผู้เช่าซื้อรถรถยนต์รวมถึงรถจักรยานยนต์ทุกคัน ทุกชนิดที่จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก และรถที่ขับเคลื่อนด้วยกำลังเครื่องยนต์ ไฟฟ้า หรือพลังงานอื่น ต้องทำประกันภัย พรบ และต้องต่ออายุในทุก ๆ ปี นอกจากเป็นประกันภาคบังคับที่ผู้ใช้รถต้องทำอยู่แล้ว ประกัน พ.ร.บ. ยังเป็น 1 ในหลักฐานที่จำเป็นต่อการต่อภาษีรถยนต์ในทุก ๆ ปี ในกรณีที่ไม่ทำจะถือว่าทำผิดกฎหมาย

➡️วัตถุประสงค์ของประกัน พ.ร.บ.

✅ เพื่อคุ้มครองและให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนผู้ประสบภัยจากรถที่ได้รับบาดเจ็บ และ/หรือเสียชีวิตเพราะเหตุประสบภัยจากรถ โดยให้ได้รับการรักษาพยาบาลอย่างทันท่วงทีกรณีบาดเจ็บ หรือช่วยเป็นค่าปลงศพกรณีเสียชีวิต
✅ เป็นหลักประกันให้กับโรงพยาบาลและสถานพยาบาลว่าจะได้รับค่ารักษาพยาบาล ในการรับรักษาพยาบาลผู้ประสบภัยจากรถ
✅ เป็นสวัสดิสงเคราะห์ที่รัฐมอบให้แก่ประชาชนผู้ได้รับความเสียหาย เพราะเหตุประสบภัยจากรถ
✅ ส่งเสริมและสนับสนุนให้การประกันภัยเข้ามามีส่วนร่วมในการบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประสบภัยและครอบครัว

➡️ค่าชดเชยที่สามารถเบิกได้จากประกัน พ.ร.บ.

เนื่องจาก ประกัน พ.ร.บ. เป็นประกันภัยภาคบังคับ ดังนั้นเมื่อเกิดอุบัติเหตุและต้องเบิกค่าชดเชย สามารถเบิกค่าชดเชยจาก พ.ร.บ. รถยนต์ได้ก่อนเป็นอันดับแรก ซึ่งค่าชดเชยของประกัน พ.ร.บ. จะคุ้มครองเฉพาะคน ก็คือในกรณีบาดเจ็บหรือเสียชีวิตเท่านั้น สามารถเบิกค่าชดเชยได้ดังนี้

[ สำหรับค่าเสียหายเบื้องต้น จะได้รับทันทีโดยไม่ต้องพิสูจน์ความผิด ]

✅ค่ารักษาพยาบาล พ.ร.บ. จะจ่ายให้ตามจริง โดยจ่ายให้สูงสุดไม่เกิน 30,000 บาท หากต่อมาพิการหรือทุพพลภาพ จะจ่ายเพิ่มเติมโดยรวมแล้วไม่เกิน 65,000 บาทต่อคน
✅ในกรณีสูญเสียอวัยวะหรือทุพพลภาพถาวรทันทีหลังเกิดอุบัติเหตุ พ.ร.บ. จะจ่ายให้ไม่เกิน 35,000 บาทต่อคน
✅ในกรณีที่เกิดการเสียชีวิต หากเสียชีวิตทันทีหลังจากเกิดอุบัติเหตุ พ.ร.บ. จะจ่ายค่าทำศพเป็นจำนวน 35,000 บาทต่อคน แต่หากเสียชีวิตภายหลังจะจ่ายให้แบบเหมารวมกับค่ารักษาพยาบาลไม่เกิน 65,000 บาทต่อคน

[ สำหรับค่าเสียหายส่วนเกินที่สามารถเบิกได้จากประกัน พ.ร.บ. ]

จะมีการจ่ายชดเชยให้หลังจากพิสูจน์ความผิดแล้ว โดยบริษัทประกันของฝ่ายที่กระทำผิดจะชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ประสบภัยหรือทายาท ดังนี้

✅ในส่วนของค่ารักษาพยาบาลกรณีได้รับบาดเจ็บ จะมีการจ่ายเงินชดเชยรวมค่าสินไหมทดแทนให้ไม่เกิน 80,000 บาท
✅ในกรณีสูญเสียอวัยวะ ได้แก่ มือ แขน เท้า ขา ตา ตั้งแต่สองอย่างหรือสองข้างขึ้นไป หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง จะมีการจ่ายชดเชยรวมกับค่ารักษาพยาบาลสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท
✅ในกรณีสูญเสียอวัยวะ ได้แก่ หูหนวก เป็นใบ้ เสียความสามารถในการพูด สูญเสียอวัยวะสืบพันธุ์ มือ แขน ขา เท้า ตา หนึ่งอย่างหรือหนึ่งข้าง จะจ่ายชดเชยรวมกับค่ารักษาพยาบาลสูงสุดไม่เกิน 250,000 บาท
✅ในกรณีทุพพลภาพถาวร จะมีการจ่ายเงินชดเชยรวมกับค่ารักษาพยาบาลสูงสุดไม่เกิน 300,000 บาท
✅กรณีเสียชีวิต จะมีการจ่ายเงินชดเชยรวมกับค่ารักษาพยาบาล (ในกรณีเสียชีวิตภายหลัง) สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท
✅นอกจากนี้จะมีการจ่ายเงินชดเชยเมื่อต้องนอนโรงพยาบาล (ผู้ป่วยใน) โดยจ่ายชดเชยให้วันละ 200 บาท รวมไม่เกิน 20 วัน

➡️ค่าชดเชยส่วนที่เกินจากประกัน พ.ร.บ. สามารถเบิกได้จากประกันภาคสมัครใจ

โดยเฉพาะประกันภัยชั้น 1, ชั้น 2, ชั้น 3 แล้วแต่วงเงินที่ทำประกันไว้ ซึ่งค่าชดเชยที่สามารถเบิกได้ในกรณีรถชนนั้น มีดังนี้

✅ค่ารักษาพยาบาล ในส่วนที่เกินจากวงเงินของประกัน พ.ร.บ. จะสามารถมาเบิกจ่ายเพิ่มเติมได้ตามจำนวนที่ระบุไว้ในกรมธรรม์
✅ค่าทนทุกข์ทรมานจากอาการบาดเจ็บ จะสามารถมาเบิกจ่ายเพิ่มเติมได้ตามจำนวนที่ระบุไว้ในกรมธรรม์
✅ค่าชดเชยจากสินทรัพย์ที่เสียหรือสูญหายเมื่อเกิดอุบัติเหตุรถชน จะสามารถมาเบิกจ่ายเพิ่มเติมได้ตามจำนวนที่ระบุไว้ในกรมธรรม์
✅ค่าชดเชยความเสียหายอื่นๆ ที่เกิดขึ้นขณะรักษาตัว เช่น ค่าขาดโอกาสในการเดินทางหรือการทำงาน ค่าขาดไร้อุปการะ ค่าชดเชยรายได้ ค่าขาดประโยชน์ระหว่างซ่อม จะสามารถมาเบิกจ่ายเพิ่มเติมได้ตามจำนวนที่ระบุไว้ในกรมธรรม์

➡️จะเลือกซื้อประกัน พ.ร.บ. กับบริษัทประกันไหนดี?

มี 2 กรณี คือ

⭐ทำประกันภัย พ.ร.บ. อย่างเดียว ไม่ต้องการทำประกันภาคสมัครใจ แนะนำให้ทำกับบริษัทที่มีสาขามาก หรือมีสาขาอยู่ใกล้บ้าน เพื่อความสะดวกในการติดต่อ เพราะการทำประกันภัย พ.ร.บ. อย่างเดียว การบริการทั้งหมดเป็นของเจ้าของรถผู้เอาประกันหรือผู้เสียหายที่จะต้องดำเนินการเองทั้งหมด ต้องไปรักษาเอง สำรองจ่ายเอง ไปตั้งเบิกเอง ในการไปขอรับเงินค่าสินไหมที่บริษัทประกันภัยก็ต้องนำหลักฐานเอกสารไปเองให้ครบ ตั้งแต่ใบแจ้งความของตำรวจ ใบมรณะบัตร บัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน ใบเสร็จรับเงิน ใบรับรองแพทย์ ใบพ.ร.บ.ที่ติดหน้ารถ และเอกสารเกี่ยวข้องอื่น เพื่อเคลมค่าเสียหายจากบริษัทประกันภัย ถ้าเอกสารดัง กล่าวนำไปไม่ครบ บริษัทก็จะปฏิเสธการจ่าย โดยให้นำเอกสารมาให้ครบก่อนจึงจะทำการจ่ายให้ได้ และที่สำคัญจะจ่ายให้ได้เฉพาะส่วนที่มีใบเสร็จถูกต้องเท่านั้น

⭐ทำประกัน พ.ร.บ. แต่ต้องการทำประกันภาคสมัครใจด้วย ควรทำประกันกับบริษัทเดียวกัน โดยเลือกบริษัทที่มั่นคง ให้บริการที่ดี เพื่อความสะดวกในการเคลม หากความเสียหายที่เกิดขึ้นเกินวงเงินของประกัน พ.ร.บ. ก็จะมีวงเงินคุ้มครองจากประกันภาคสมัครใจมาช่วยอีกแรงหนึ่ง และการทำประกัน พ.ร.บ. และประกันภาคสมัครใจกับบริษัทประกันเดียวกัน เราจะไม่ต้องเสียเวลาไปกับติดต่อประสานงานถึง 2 บริษัทประกันภัย เพราะถ้าเป็นบริษัทประกันเดียวกันก็จะทราบเรื่อง ตั้งแต่เกิดเหตุครั้งแรก การดำเนินการต่อก็จะสะดวกและต่อเนื่อง ซึ่งจะง่ายและสะดวกกับตัวคุณเอง

➡️พ.ร.บ. รถแต่ละประเภทราคาเท่าไหร่

เบี้ยประกัน พ.ร.บ. เป็นอัตราเบี้ยแบบคงที่ ไม่ว่าเราจะเคยประสบอุบัติเหตุหรือมีประวัติไม่ดี เคยเบิกเคลมแล้วไม่ว่ากี่ครั้งหรือมีประวัติดี ไม่เคยประสบอุบัติเหตุหรือไม่เคยเบิกเคลมเลยก็ตาม เบี้ยประกัน พ.ร.บ. ก็จะยังเท่าเดิม ทั้งนี้ ค่าเบี้ยจะขึ้นอยู่กับประเภทรถและขนาดของรถ โดยค่าเบี้ยที่ระบุด้านล่างนี้ได้รวมค่าอากรแสตมป์ และภาษีมูลค่าเพิ่มไว้เรียบร้อยแล้ว

✅ รถยนต์นั่งไม่เกิน 7 คน เบี้ยประกัน พ.ร.บ. = 645.21 บาท/ปี
✅ รถกระบะน้ำหนักไม่เกิน 3 ตัน เบี้ย พ.ร.บ. = 967.28 บาท/ปี
✅ รถยนต์ที่มีที่นั่งเกิน 7 คน ไม่เกิน 15 ที่นั่ง = 1,182.35 บาท/ปี

➡️ถ้าไม่ทำประกัน พ.ร.บ. จะมีโทษ หรือโดนปรับไหม

แน่นอนว่าประกัน พ.ร.บ. นั้นเป็นประกันภาคบังคับ หากไม่ทำ นอกจากต่อทะเบียนรถไม่ได้ ยังมีโทษปรับ ดังนี้
✅ กรณีเจ้าของรถไม่ทำประกัน พ.ร.บ. มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท
✅กรณีคนที่ไม่ใช่เจ้าของรถ ขับขี่รถคันที่ไม่ได้ทำหรือไม่ได้ต่ออายุประกัน พ.ร.บ. มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท
✅กรณีที่เป็นเจ้าของรถไม่จัดทำประกันภัย พ.ร.บ. และได้นำรถคันนั้นไปใช้ ถือว่าผิดทั้ง 2 กระทง มีโทษปรับ ไม่เกิน 20,000 บาท