เคยได้ยินคำว่า "ถ้ามีลูกแล้วคุณภาพชีวิตลูกไม่ดีก็ไม่มีดีกว่า" สะท้อนให้เห็นถึงมุมมองของคนรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนไปจากคนรุ่นก่อนๆ ที่คิดว่า "การมีลูกจะทำให้ครอบครัวสมบูรณ์แบบมากขึ้น"

จากผลสำรวจสถิติประชากรอัตราการเกิดของประชากรทั่วประเทศไทยจากสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง พบว่าปี 2556 อัตราการเกิดอยู่ที่ 782,129 คน และได้ลดลงมาเรื่อยๆจนปี 2565 อัตราการเกิดเหลืออยู่ที่ 502,107 คน หรือลดลงไปกว่า 35.8%

การมีลูกสักคนในยุคปัจจุบันนั้นต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายๆ อย่าง ความพร้อมของเราเองทั้งทางร่างกาย จิตใจ และเงินในบัญชีด้วย เพราะเราต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจสังคมทำให้การมีลูกเท่ากับมีภาระมากขึ้นสำหรับบางคน

ดังนั้น การวางแผนการเงินสำหรับการมีบุตรอาจจะต้องรัดกุมมากขึ้นเพราะการเลี้ยงดูเด็กให้เติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่ดีได้นั้นอาจจะต้องใช้เงินไม่น้อย

อีกประเด็นหนึ่งก็ต้องบอกว่าหลักคิดของคนแต่ละ Gen ก็จะแตกต่างกันไป คนรุ่นใหม่อาจจะถ้าอยากจะมีลูกตัวเองก็ต้องมีความมั่นคงให้ได้ก่อน ทั้งหน้าที่การงาน ครอบครัว คู่ครอง จึงไม่ได้มองว่าการมีลูกคือเป้าหมายหลักในชีวิตอีกต่อไป เมื่อค่าครองชีพที่สวนทางกับรายได้ อยากมีลูกต้องวางแผนทั้งเงิน เวลา และความเสี่ยง และการมีลูกกลายเป็นค่าใช้จ่ายที่อาจจะยังไม่พร้อมรับเข้ามาเพิ่มในชีวิต

อย่างไรก็ตาม แม้มันเป็นเรื่องที่ดูจะลำบาก แต่สำหรับใครก็ตามที่กำลังวางแผนและเตรียมตัวสำหรับเรื่องนี้ aomMONEY เลยได้ไปเก็บข้อมูลมาฝาก ว่าถ้าอยากมีลูกสักคนต้องวิเคราะห์ปัจจัยต่างๆและวางแผนสำหรับเลี้ยงดูให้เติบโตมาอย่างมีคุณภาพ ต้องทำยังไงบ้าง

1. เช็กสุขภาพทางการเงิน

ในปัจจุบัน เราปฎิเสธไม่ได้ว่าค่าครองชีพของเรานั้นสูงขึ้น ยกตัวอย่างเมื่อปี 2557-2558 ค่าแรงวันละ 300 บาท ข้าวกระเพราไข่ดาวจานละ 30 บาท วันหนึ่งกินได้ 10 จาน แต่มาปี 62-63 ค่าแรงวันละ 336 บาท ข้าวกระเพราไข่ดาวจานละ 50-60 บาท ไปแล้ว กินได้เพียง 5-6 จานเท่านั้น

พูดอีกอย่างคือข้าวของทุกอย่างแพงขึ้น แต่ค่าแรงเราไม่ได้เพิ่มขึ้นในอัตราที่เท่ากัน

เราต้องคำนึงถึงสภาพคล่องทางการเงินของเราว่าการมีบุตร 1 คน จะมีผลกระทบสภาพคล่องทางการเงินมากน้อยแค่ไหน อาจจะมีการคำนวนรายรับ-รายจ่ายในชีวิตประจำวัน และสิ่งสำคัญที่ต้องคำนวนคือค่าใช้จ่ายสำหรับการมีบุตรและการเติบโตของบุตรในอนาคตอย่างครอบคลุม

2. วางแผนการเงิน

การวางแผนทางด้านการเงินสำหรับการมีบุตรถือว่าเป็นเรื่องที่ท้าท้ายพอสมควร สำหรับบางคน เราจึงควรวางแผนทางด้านการเงินให้ดีเพื่อประสิทธิภาพในการเลี้ยงดูบุตร ตามอ้างอิงของธนาคารออมสินจะมีค่าใช้จ่ายค่าใช้จ่ายเริ่มต้นในช่วงต้นของการมีลูกเราจะมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการฝากท้อง การไปพบหมอเพื่อตรวจครรภ์ ค่าใช้จ่ายในการคลอดลูก โดยค่าใช้จ่ายดังกล่าวจะอยู่ระหว่าง 50,000 – 100,000 บาท ในช่วงเวลา 9 เดือน และยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีกด้วย

ค่าใช้จ่ายซื้ออุปกรณ์สำหรับเด็กแรกเกิด

สำหรับเด็กแรกเกิด คุณพ่อ และคุณแม่ต้องเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม อันได้แก่ เสื้อผ้าเด็ก ผ้าอ้อม นม และเครื่องอุ่นนม เปลนอน เครื่องอาบน้ำ อาหารสำหรับเด็ก เป็นต้น โดยค่าใช้จ่ายส่วนนี้จะตกราวๆ 30,000 – 50,000 บาทในการจ่ายขั้นต้น และตลอดระยะเวลาการเลี้ยงจะมีค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายทุกเดือนอีกราวๆ 5,000 – 10,000 บาทต่อเดือน ขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดูของแต่ละครอบครัวครับ

ค่าอาหารการกินของลูก

สำหรับค่าอาหารการกินของลูกจะเป็นสิ่งที่เรียกว่า “ค่าใช้จ่ายประจำ” ประมาณ 3,000 – 5,000 บาทต่อเดือน ซึ่งส่วนนี้ยังไม่รวมค่ารักษา ค่าวัคซีนต่างๆ ที่ต้องฉีดให้กับเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 12 ปี

ค่าพี่เลี้ยงเด็ก

ผู้ปกครองบางคนต้องทำงานประจำไม่มีเวลาเลี้ยงดู จะใช้ค่าใช้จ่ายประมาณเดือนละ 5,000 – 10,000 บาทต่อเดือนเพื่อให้คลุมทุกค่าใช้จ่ายที่จะต้องมีนั่นเอง

ค่าเล่าเรียนลูก

ผู้ปกครองต้องคำนวณให้เหมาะสมกับสภาพคล่องของเราเอง โดยค่าเล่าเรียนเฉลี่ยต่อปีตลอด 9 ปี ราวๆ 20,000 – 50,000 บาท รวมตลอด 9 -10 ปี (ยังไม่รวมอุปกรณ์การเรียนขึ้นอยู่กับโรงเรียน และค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล)

ค่าใช้จ่ายเสริม

สำหรับค่าใช้จ่ายส่วนเสริมต่างๆ เช่น ค่าเดินทางท่องเที่ยว ของเล่นลูก ค่ายานพาหนะ ฯลฯ ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้จะขึ้นลงค่อนข้างกว้าง ขึ้นอยู่กับไลฟ์สไตล์ของแต่ละครอบครัว ภายในระยะเวลา 10 ปีประมาณ 500,000 – 1,000,000บาท

โดยเราเริ่มอาจจะเริ่มจากการประเมิน 3-5 ปีก่อนว่าควรใช้เงินประมาณเท่าไหร่แล้ววางแผนต่อไปเรื่อยๆยิ่งเราว่าเราสามารถวางแผนและบริหารจัดการเพื่อเตรียมสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตได้ยิ่งเราสามารถวางแผนเพื่อรับมือได้ดีมากเท่าไหร่โอกาสที่จะเกิดความล้มเหลวหรือความผิดพลาดทางด้านการเงินที่อาจจะลดลงและอาจจะมีเหตุการณ์ฉุกเฉินสามารถเกิดขึ้นได้โดยที่เราอาจไม่คาดคิดเพราะฉะนั้นเราควรป้องกันความเสี่ยงโดยอาจจะต้องเก็บเงินสำรองฉุกเฉินไว้ประมาณ 6 เท่าของรายจ่ายต่อเดือนเป็นอย่างต่ำเพื่อลดความกังวลกับสถานะการณ์เสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ และเราอาจจะศึกษาวิธีต่อยอดเก็บเงินสำรองให้เกิดประโยชน์สูงสุด

3.วางแผนการจัดสรรเวลา

เด็กช่วงอายุตั้งแต่ 0 - 5 ขวบ เป็นช่วงที่บุตรจะมีการเรียนรู้และซึมซับสิ่งต่างๆ จากพ่อแม่มากที่สุด ซึ่งแน่นอนว่าเป็นช่วงเวลาที่คุณพ่อและคุณแม่ต้องให้เวลาและใส่ใจดูแลบุตรอย่างใกล้ชิด เพื่อให้บุตรมีพัฒนาการที่ดีและเมื่อเราบุตรเริ่มโตขึ้นเราก็ต้องมีวิธีดูแลบุตรอย่างเหมาะสมตามช่วงวัยเพื่อให้บุตรเติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพและจะได้ไม่มีปัญหาทางด้านจิตใจตามมาได้ + พ่อแม่ต้องจัดสรรเวลาทำงานกับเวลาเลี้ยงลูกให้ดี

4.วางแผนสิ่งแวดล้อมให้กับลูก

แน่นอนว่าสภาพแวดล้อมเป็นส่วนสำคัญอย่างมากสำหรับการเติบโตของบุตรเป็นอย่างมากไม่ว่าจะเป็นสภาพจิตใจและพัฒนาการ ถ้าเรามีสภาพทางการเงินที่คล่องตัวมากพอเราก็เป็นการเพิ่มทางเลือกสำหรับสภาพแวดล้อมที่ดีให้กับเจ้าตัวน้อยของเราได้ด้วย

5.วางแผนการทำประกัน

ประกันเป็นเรื่องที่หลายคนอาจมองข้ามไปเมื่อเรามีการวางแผนทางการเงินให้มีสภาพที่คล่องตัวแล้วเราอาจจะคำนึงถึงการซื้อประกันให้ลูกโดยเราอาจจะศึกษาการทำประกันแต่ละตัว และเลือกประกันที่ดีและเกิดประโยชน์สูงสุดในระยะยาว การทำประกันเปรียบเสมือนการบริหารความเสี่ยง ทั้งฝ่ายบิดา มารดาจะได้กังวลน้อยลงเมื่อมีค่าใช้จ่ายเมื่อมีเหตุฉุกเฉิน และบุตรจะรับการรักษาพยาบาลที่ถูกต้อง รวดเร็ว ไม่ต้องกังวลเรื่องค่ารักษาพยาบาลและได้รับการรักษาที่ทันท่วงที

ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่บีบคั้นความกดดันจากหน้าที่การงาน เทคโนโลยีการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น แนวคิดเรื่องการมีลูกเมื่อพร้อมจริงๆ ทั้งร่างกาย จิตใจ และการเงิน โดยภาพรวมจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่อัตราการเกิดของเด็กจะลดลงเรื่อยๆ

ทุกคนมีเป้าหมายของตัวเอง (และครอบครัว) ที่แตกต่างกัน ไม่ว่าเราจะตัดสินใจว่าจะมีบุตรหรือไม่ เราก็อาจจะต้องถามความพร้อมของตัวเองและวางแผนให้รอบครอบเพราะบางสิ่งที่เราตัดสินไปแล้วอาจจะส่งผลกระทบต่อบุตร คู่รัก และตัวเองอย่างมากในอนาคต