แป๊บๆ ผ่านไป 7 เดือนแล้ว เหลือเวลาอีก 5 เดือนสำหรับการหารายได้สำหรับปีนี้ และก็เหลือ 5 เดือนสำหรับการวางแผนภาษีเงินได้เช่นกัน

ที่ใดภาษีแพง ที่นั่นต้องวางแผนภาษี...เพราะไทยคิดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอัตราสูงสุดสูงถึง 35% (มากกกว่า 1 ใน 3 ของเงินได้สุทธิอีก) จัดว่าแพงมาก เราจึงควรต้องวางแผนภาษี เพื่อจะได้เสียภาษีน้อยๆ แต่ถูกกฎหมาย

วิธีที่แนะนำสำหรับการวางแผนภาษี คือ การใช้ค่าลดหย่อนกลุ่มประกันและการลงทุน เพราะเงินที่จ่ายเพื่อซื้อประกันหรือลงทุน มันไม่ได้หายไปไหน ยังเป็นเงินของเราอยู่ แต่ประโยชน์ที่ได้เพิ่มก็คือ ประโยชน์ทางภาษี ซึ่งแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้

1. [ประเภท 2 เด้ง]

คือ เงินที่ออมลดหย่อนภาษีได้ และผลตอบแทนที่ได้ไม่ต้องเสียภาษี ได้แก่

➡️ เบี้ยประกันชีวิต

ลดหย่อนได้จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10,000 บาท/ปี ส่วนที่เกิน 10,000 แต่ไม่เกิน 90,000 บาท ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้ ดังนั้น หากคู่สมรสไม่มีเงินได้จะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเบี้ยประกันชีวิตได้ตามจ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 10,000 บาทเท่านั้น เหตุผลเพราะไม่มีเงินได้มายกเว้น จึงควรบริหารให้คู่สมรสมีเงินได้ เพื่อจะได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเต็มที่

➡️ เบี้ยประกันสุขภาพ

ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้ตามจ่ายจริง แต่ไม่เกิน 25,000 บาท แม้จะเป็นเบี้ยจ่ายทิ้ง ไม่มีผลตอบแทนในรูปตัวเงิน แต่ก็ช่วยบริหารจัดการค่ารักษาพยาบาล กรณีนี้ก็เช่นกัน หากคู่สมรสไม่มีเงินได้จะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากเบี้ยประกันสุขภาพเลย เหตุผลเพราะไม่มีเงินได้มายกเว้น จึงควรบริหารให้คู่สมรสมีเงินได้ เพื่อจะได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเต็มที่

➡️ เบี้ยประกันสุขภาพพ่อแม่

ลดหย่อนได้ตามจ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท ซึ่งพ่อแม่ต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท/ปี แต่ไม่จำเป็นต้องอายุ 60 ปีขึ้นไป

➡️ เบี้ยประกันชีวิตบำนาญ

ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้ตามจ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 15% ของเงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษี และต้องไม่เกิน 200,000 บาท แต่เมื่อรวมกับการออมเงินเพื่อเกษียณอื่นแล้ว จะต้องไม่เกิน 500,000 บาท

➡️ กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)

ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้ตามจ่ายจริง ไม่เกิน 13,200 บาท แต่เมื่อรวมกับการออมเงินเพื่อเกษียณอื่นแล้ว ไม่เกิน 500,000 บาท

➡️ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)

ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้ตามยอดเงินลงทุนจริงสูงสุด 30% ของเงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษี แต่เมื่อรวมกับการออมเงินเพื่อเกษียณอื่นแล้วไม่เกิน 500,000 บาท

➡️ กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF)

ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้ตามยอดเงินลงทุนจริงสูงสุด 30% ของเงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษี แต่ไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อรวมกับการออมเงินเพื่อเกษียณอื่นแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท

หมายเหตุ จริงๆแล้ว ยังมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนประกันสังคม กบข. ที่ได้ประโยชน์แบบ 2 เด้ง แต่เนื่องจากกองทุนเหล่านี้จำกัดเฉพาะผู้ลงทุนเฉพาะกลุ่ม จึงไม่ได้เอามากล่าวในที่นี้

2. [ประเภท 1 เด้ง]

คือ เงินที่ออมลดหย่อนภาษีไม่ได้ แต่ผลประโยชน์ที่ได้ก็ไม่ต้องเสียภาษี เช่น

➡️ประกันชีวิต ประกันบำนาญ ส่วนที่เกินสิทธิลดหย่อนและยกเว้นเงินได้

➡️กำไรจากการลงทุนในกองทุนรวม หุ้นในตลาดหลักทรัพย์

➡️เงินฝากออมทรัพย์ (ดอกเบี้ยออมทรัพย์รวมทั้งปีต้องไม่เกิน 20,000 บาท)

➡️เงินฝากออมทรัพย์จากธนาคารของรัฐ ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธกส. ธอส.

➡️สลากออมทรัพย์จากธนาคารของรัฐ ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธกส. ธอส.

➡️เงินฝากประจำปลอดภาษี ซึ่งมีเงื่อนไขในการเปิดบัญชี ดังนี้
• ผู้ฝาก 1 คนสามารถเปิดได้เพียง 1 บัญชีเท่านั้น (รวมทุกธนาคาร)
• มีการกำหนดเงินฝากสูงสุดไม่เกินจำนวนที่กำหนด (เช่น ไม่เกิน 20,000 บาทต่อครั้ง)
• มีการกำหนดยอดรวมในบัญชีสูงสุดต้องไม่เกินจำนวนที่กำหนด (เช่น ยอดรวมเมื่อจบบัญชีไม่เกิน 600,000 บาท)

➡️เงินฝาก หรือ เงินลงทุนในสหกรณ์ ดอกเบี้ยและเงินปันผลจากสหกรณ์ยกเว้นภาษี

3. [ประเภท 0 เด้ง]

คือ เงินที่ออมลดหย่อนภาษีไม่ได้ คือ ไม่ช่วยให้เสียภาษีน้อยลง และผลประโยชน์ที่ได้ต้องเสียภาษี เช่น เงินฝากประจำธนาคาร เงินปันผลหุ้น เป็นต้น

สรุป ก็คือ เพื่อประหยัดภาษี (เสียภาษีน้อยลง) ควรใช้สิทธิการออมเงินแบบ 2 เด้งให้เต็มเพดานที่สรรพากรกำหนด และควรบริหารให้คู่สมรสมีเงินได้จะได้ใช้สิทธิประโยชน์อย่างเต็มที่ แต่การออมเงินแบบ 2 เด้งจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของสรรพากรอย่างเคร่งครัด เราจึงควรศึกษาเงื่อนไขของสรรพากรให้ดีก่อนตัดสินใจออมหรือลงทุน