คุณเคยเป็นหนี้มั้ย..?!! ไม่ว่าจะเป็นหนี้จากการขอยืมเงิน, หนี้ กยศ., หนี้บ้าน, หนี้คอนโดฯ หรือ หนี้บัตรเครดิต เชื่อว่า มนุษย์เงินเดือนอย่างเราๆ คงยกมือกันสลอน!!

เป็นหนี้แล้วรู้สึกยังไง?

บางคนอาจรู้สึกไม่สบายใจ เสียความภาคภูมิใจที่บริหารจัดการเงินในกระเป๋าไม่ดี เสียความมั่นใจ ที่ถูกเรียกว่า "ลูกหนี้" จึงอยากปลดเปลื้องภาระหนี้ที่มีให้หมดโดยเร็ว ขณะที่บางคนอาจแค่ไม่อยากจะเสียดอกเบี้ยเท่านั้น

แต่เชื่อมั้ย…ลูกหนี้บางคน ไม่ได้รู้สึกอะไรแบบนี้เลย ยังคงตั้งหน้าตั้งตาเป็นหนี้ไปเรื่อยๆ เพราะไม่ใส่ใจรับรู้สภาพทางการเงินของตัวเอง ส่วนใหญ่มักใช้จ่ายแบบเดือนชนเดือน แถมไม่เห็นความสำคัญกับการออมเงินไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน หรือ อนาคต พอมีปัญหา ก็ใช้ "การยืมเงิน" โดยไม่ใส่ใจเรื่องของอัตราดอกเบี้ย หรือ อันตรายจากสัญญาการเป็นหนี้ พฤติกรรมแบบนี้แหละเขาเรียกว่า "เสพติดการเป็นหนี้" หรือ “Debt Addiction”

อาการ "เสพติดการเป็นหนี้" ?

ว่ากันว่า อาการแบบนี้ พบได้เกือบทุกเพศ ทุกวัย คนจำพวกนี้ มักใช้เงินเก่ง ฟุ่มเฟือย เห็นอะไรแล้วก็อยากได้ไปเสียหมด แม้แต่สินค้าที่ซื้อไปแล้วไม่ได้ใช้ประโยชน์ ขณะที่รายรับของตนเองก็ไม่ได้มีมากพอกับรายจ่าย สุดท้ายก็จบลงที่การกู้หนี้ยืมสิน และเกิดการยืมไปเรื่อยๆ ทำให้ตนเองอยู่ในสถานะลูกหนี้อยู่ตลอดเวลา

อีกสิ่งหนึ่งที่บ่งบอกถึงอาการ เสพติดการหนี้ คือ นิสัยชอบขอยืม ทั้ง ยืมเงิน ข้าวของ เครื่องใช้ แต่สุดท้ายก็นำมาคืนไม่ได้ เกิดเป็นการก่อหนี้ไม่รู้จบ แถมซ้ำร้าย บางรายมีการสร้างหนี้ใหม่ เพื่อกลบหนี้เก่า ซ้ำเดิมฐานะการเงินของตัวเองไปเรื่อยๆ

"เสพติดการเป็นหนี้" อันตรายมั้ย?

มีบางคน บอกอย่าไปซีเรียส เป็นหนี้ก็แค่หาเงินมาใช้! บอกเลยเป็นความคิดที่ผิดมาก เพราะการเป็นหนี้ที่ไม่จำเป็น นำมาซึ่งผลเสียมากมาย ทั้งกับตัวเอง และ คนรอบข้าง เช่น ไม่มีความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สิน เงินที่หามาอย่างเหนื่อยยาก ต้องหมดไปกับการจ่ายทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย

แถมพอเป็นหนี้นอกระบบ อาจเป็นอันตรายต่อชีวิตด้วย ถ้าหาเงินมาใช้คืนไม่ทัน บางทีอาจถูกเจ้าหนี้ ทำร้ายร่างกาย หรือ ทำลายทรัพย์สิน ก็มีให้เห็นบ่อยไป

ยิ่งเป็นหนี้เยอะๆ ญาติมิตร เพื่อนฝูงก็ไม่อยากเข้าใกล้ ไม่มีใครอยากคบหาสมาคมด้วย เพราะส่วนใหญ่กลัวถูกยืมเงินนั่นเอง

บางคนพอเป็นหนี้ ก็จะรู้สึกเครียด หงุดหงิด จนอารมณ์แปรปรวน บางคนรู้สึกโดดเดี่ยว เมื่อต้องแบกรับภาระหนี้ และมักจะรู้สึกว่าใช้ชีวิตอย่างกดดัน เรียกว่าส่งผลกระทบกับสุขภาพจิต

แต่ที่น่ากลัวที่สุด คือ เสพติดการเป็นหนี้ เป็นบ่อเกิดของอาชญากรรม เพราะเมื่อหาเงินมาใช้หนี้ไม่ได้ หลายคนจะใช้ทางลัด ขอเพียงให้ได้เงินมา อะไรก็ทำได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น การลัก วิ่ง ชิง ปล้น บางรายก็วางแผนฆาตกรรมเจ้าหนี้เพื่อล้างหนี้ก็มี แต่ที่น่ากลัวที่สุด คือ การฆ่าตัวตายล้างหนี้ ก็มีให้เงินบ่อยๆ

แล้วใครล่ะเสี่ยง "เสพติดการเป็นหนี้" ?

บางคนทายว่าเป็น ผู้ใช้แรงงานที่หาเช้ากินค่ำ บางคนบอก มนุษย์เงินเดือนแบบเราๆ นี่แหละ แต่ถ้าดูข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รายงานภาวะหนี้ครัวเรือนของไทย ในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2565 จะพบว่า กลุ่มที่เป็นหนี้มากที่สุด คือ วัยทำงานอายุ 25 - 35 ปี และกว่าครึ่งหนึ่งของคนอายุ 30 ปี มีหนี้จากสินเชื่ออุปโภคบริโภค และหนี้บัตรเครดิต

รับมือเสพติดการเป็นหนี้ยังไงดีล่ะ?

เริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการยอมรับว่า ตัวเองมีพฤติกรรมเข้าข่ายเสพติดการเป็นหนี้ ต้องไม่วิ่งหนีปัญหา แต่เตรียมพร้อมกับการเผชิญหนี้ ด้วยการรวบรวมหนี้ทั้งหมดว่ามีอะไรบ้าง ไม่ต้องอายที่จะไปขอเจรจา กับ สถาบันการเงิน หรือ เจ้าหนี้ เพื่อขอประนอมหนี้ ยืดระยะเวลาชำระ ขอลดอัตราดอกเบี้ย หรือแนวทางอื่นที่เหมาะสมกับสถานะการเงินปัจจุบัน

ที่สำคัญต้องหยุดก่อหนี้ใหม่ด้วย รวมถึงการหารายได้เพิ่มและลดค่าใช้จ่าย ต้องเลิก พฤติกรรมการใช้เงินแบบเดิมๆ รู้จักวางแผนการเงิน เพิ่มความระมัดระวังการใช้เงินและการก่อหนี้ อาจตั้งงบใช้จ่ายในแต่ละวัน และจดบันทึกรายรับรายจ่าย เพื่อดูนิสัยการใช้เงินของตัวเอง และปรับใช้ให้เหมาะสม

ถ้าสถานะทางการเงินเริ่มดีขึ้นแล้วก็อย่าลืมเริ่มต้นออมเงิน เพื่อจะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีในอนาคต

ก่อนจากกันไปมีคำแนะนำดีดีจาก นักลงทุนชื่อดังระดับโลก เพื่อให้คุณใช้เตือนสติตัวเอง ก่อนควักเงินออกจากกระเป๋า..

“ถ้าคุณซื้อแต่ของไม่จำเป็น ไม่นานคุณจะต้องขายของที่จำเป็น” วอร์เรน บัฟเฟตต์