ถ้าเอ่ยถึง “หนี้” หลายคนมองว่าถ้าไม่จำเป็นจะไม่ก่อหนี้เด็ดขาด เพราะกังวลว่าจะไม่มีเงินจ่ายหนี้ ถ้าเกิดเหตุที่ไม่คาดคิดในวันข้างหน้า เช่น ถูกลดเงินเดือน ตกงาน แต่ในอีกมุม ถ้ารู้จักก่อหนี้ให้เป็นประโยชน์ สามารถนำมาสร้างผลตอบแทนตามเป้าหมายที่วางเอาไว้ ซึ่งหนี้ประเภทนี้เรียกว่า “หนี้ที่ดี”

การก่อหนี้ที่ดีเพื่อนำมาสร้างผลตอบแทน (หรือสร้างรายได้) ถือเป็นกลยุทธ์ทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะคำว่า หนี้ดี หมายถึง การกู้ยืมเงินเพื่อนำมาลงทุนในสินทรัพย์สินที่มีศักยภาพในการสร้างผลตอบแทน หรือทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น แต่ก่อนจะใช้หนี้ดีนำมาต่อเงินให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด ต้องมีขั้นตอนที่ดีเช่นเดียวกัน

กำหนดเป้าหมายทางการเงิน

ก่อนจะก่อหนี้ดีเพื่อมาสร้างให้เป็นรายได้ ต้องระบุวัตถุประสงค์ทางการเงินของตัวเองอย่างชัดเจน และเข้าใจว่าการก่อหนี้ก้อนดังกล่าวสามารถช่วยให้บรรลุเป้าหมายได้อย่างไร เช่น ลงทุนหุ้น ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ เริ่มต้นประกอบอาชีพที่ตัวเองถนัด หรือก่อหนี้เพื่อการศึกษา หมายความว่า ก่อนตัดสินใจกู้ยืมเงินควรให้สอดคล้องกับเป้าหมายระยะยาว

จัดการหนี้อย่างมีวินัย

ก่อนก่อหนี้เพื่อนำมาต่อเงิน ต้องเลือกก่อหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยและเงื่อนไขที่ดีที่สุดเพื่อลดต้นทุนการกู้ยืม และเมื่อตัดสินใจก่อหนี้ก็ต้องจ่ายหนี้อย่างรอบคอบและมีความรับผิดชอบ จ่ายหนี้ตรงเวลาเพื่อรักษาการเป็นลูกหนี้ที่ดี ขณะเดียวกันควรติดตามข้อมูลอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ เพราะเมื่ออัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ ถือเป็นจังหวะที่เหมาะสมในการกู้ยืมและลงทุน เพราะสามารถลดต้นทุนการกู้ยืม ทำให้ง่ายต่อการสร้างผลตอบแทนที่ดีจากการลงทุน

สร้างแผนการเงินที่มั่นคง

ก่อนตัดสินใจก่อหนี้มาลงทุน ควรสร้างแผนการเงินให้รัดกุม เช่น ตรวจสอบให้แน่ใจว่ามีความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการลงทุนแล้วได้กำไรในระดับเพียงพอ (หรือมากกว่า) กับหนี้ (หรือดอกเบี้ย) ที่ต้องจ่ายคืน รวมถึงประเมินสถานการณ์ต่าง ๆ จัดทำแผนฉุกเฉินเพื่อลดความเสี่ยง เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด เช่น วิกฤติเศรษฐกิจ ซึ่งอาจส่งผลต่อผลตอบแทนจากสินทรัพย์ที่ลงทุน

ประเมินผลตอบแทนจากการลงทุน

ก่อนก่อหนี้เพื่อนำมาสร้างผลตอบแทน ควรประเมินอัตราส่วนผลตอบแทนจากการลงทุน (ROI) ที่จะได้รับของสินทรัพย์ที่วางแผนจะลงทุน เช่น ถ้านำไปลงทุนหุ้นปันผลก็ควรประเมินว่าจะได้รับเงินปันผลต่องวดเท่าไหร่ หรือลงทุนในคอนโดมิเนียมเพื่อเช่า ก็ต้องประเมินว่าจะได้รับรายได้ค่าเช่าต่อปีเท่าไหร่

อัตราส่วนผลตอบแทนจากการลงทุน เป็นการเปรียบเทียบเงินลงทุนกับผลตอบแทนที่จะได้จากการลงทุน จึงถือเป็นเครื่องมือเพื่อวางแผนว่าสินทรัพย์ที่ลงทุน สามารถสร้างผลตอบแทนให้คุ้มค่าหรือไม่

สูตร: อัตราส่วนผลตอบแทนจากการลงทุน = (รายรับ - เงินลงทุน) x 100 ÷ เงินลงทุน

ผลลัพธ์จะได้เป็นเปอร์เซ็นต์
- ถ้าผลลัพธ์ออกมากกว่า 0 แสดงว่า การลงทุนมีกำไร ค่ายิ่งสูงยิ่งดี แสดงว่ากำไรสูง
- ถ้าผลลัพธ์ออกมาน้อยกว่า 0 แสดงว่า การลงทุนขาดทุน ค่ายิ่งต่ำ ยิ่งขาดทุนสูง

ติดตามข้อมูลข่าวสาร

ควรวางแผนลงทุนในสินทรัพย์นั้นอย่างละเอียดถี่ถ้วนและทำความเข้าใจกับการเปลี่ยนแปลงของตลาด ติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิดเกี่ยวกับแนวโน้ม ความเสี่ยง และประเมินสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น พร้อมกับเรียนรู้แนวคิดทางการเงิน กลยุทธ์การลงทุน และเทคนิคการบริหารความเสี่ยงเพื่อประกอบการตัดสินใจ

กระจายการลงทุนให้เหมาะสม

ควรนำเงินที่กู้มานำไปลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่าง ๆ เพื่อลดความเสี่ยง พูดง่าย ๆ หลีกเลี่ยงการใส่ไข่ทั้งหมดในตะกร้าใบเดียว เพราะการกระจายความเสี่ยงจะสามารถช่วยลดผลกระทบการขาดทุนที่อาจเกิดขึ้นขณะเดียวกันจะช่วยสร้างพอร์ตลงทุนโดยรวมที่มั่นคงยิ่งขึ้น

ตรวจสอบและปรับกลยุทธ์

เมื่อลงทุนไปแล้วควรตรวจสอบประสิทธิภาพการลงทุนเป็นประจำ และปรับเปลี่ยนพอร์ตลงทุนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อทำให้พอร์ตลงทุนโดยรวมสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าหนี้ที่ดีจะเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ในการสร้างผลตอบแทน (หรือรายได้) แต่ก็มาพร้อมกับความเสี่ยง ดังนั้น ควรประเมินสถานการณ์ทางการเงิน การวางแผนที่รัดกุม และจัดการหนี้อย่างระมัดระวัง เพื่อให้แน่ใจว่าการลงทุนในสินทรัพย์จะสร้างผลตอบแทนได้ตามต้องการ