เพราะเรื่องการบริหารเงินให้พอใช้ในยามเกษียณเป็นเรื่องที่ต้องใช้เงินเยอะมาก เอาง่ายๆ เรามีเวลาทำงานโดยเฉลี่ย 40 ปี ตลอดเวลาทำงาน หาเงินด้วย ใช้เงินด้วย เรายังรู้สึกเหนื่อยกับหลายครั้งที่เงินไม่พอใช้

และยิ่งเวลามีเหตุจำเป็นเกิดขึ้น เช่น เจ็บป่วยต้องเข้าโรงพยาบาล (ไม่ว่าจะเป็นเราป่วยเอง หรือ คุณพ่อคุณแม่ป่วย) เรามักเจอปัญหาเงินไม่พอใช้

ยิ่งอยู่ยาว ระยะเวลาทำงานเท่าเดิม ระยะเวลาที่ยาวขึ้น คือ ระยะเวลาหลังเกษียณ

ระยะเวลาหลังเกษียณยิ่งยาว ความเสี่ยงด้านการเงินโดยเฉพาะค่ารักษาพยาบาลจะยิ่งสูงขึ้น โชคดีที่วันนี้ คนเกษียณอายุยังมีประกันสังคม ม. 39 หรือ บัตรทอง (สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) ช่วยอยู่ แต่คนที่จะเกษียณในอนาคต ก็ไม่แน่ใจว่าสิทธิประโยชน์ด้งกล่าวจะหมดไปหรือไม่

“กันไว้ดีกว่าแก้” โดยเฉพาะด้านค่ารักษาพยาบาล ก็คือ การซื้อ “ประกันสุขภาพแบบผู้เอาประกันรับผิดชอบส่วนแรก”

➡️ ประกันสุขภาพแบบผู้เอาประกันรับผิดชอบส่วนแรก คืออะไร?

คือ ประกันสุขภาพที่ผู้เอาประกันจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายการรักษาในส่วนแรกก่อน หากเกินกว่าที่ระบุในกรมธรรม์ บริษัทประกันจะจ่ายค่ารักษาส่วนเกินตามที่ตกลงกันไว้ตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ที่ได้ซื้อไว้

ตัวอย่างเช่น

ผู้ซื้อประกันได้เข้ารับการผ่าตัดไส้ติ่ง ซึ่งมีค่าใช้จ่ายทั้งหมด 50,000 บาท ผู้ทำประกันเลือกซื้อแผนประกันที่มีความรับผิดชอบส่วนแรก 20,000 บาท ผู้ซื้อประกันจะต้องจ่ายไปก่อน 20,000 บาท แล้วอีก 30,000 บาท ทางบริษัทประกันจะจ่ายค่ารักษาให้

ข้อดีของประกันแบบนี้ คือ
✅มีค่าเบี้ยประกันถูกกว่าประกันสุขภาพแบบทั่วไป
✅สามารถนำไปจ่ายส่วนเกินค่ารักษาจากสวัสดิการที่มีอยู่ได้
✅สามารถเพิ่มวงเงินค่ารักษาจากสวัสดิการที่มีให้ครอบคลุมสถานการณ์ปัจจุบันได้
✅ช่วยเซฟค่ารักษาที่อาจบานปลาย หากป่วยหนัก หรือเป็นโรคร้ายแรง

ว่าไปแล้ว ก็คล้ายๆ กับประกันรถยนต์แบบมี deduct นั่นเอง

ค่า Deductible หรือ ค่าเสียหายส่วนแรกภาคสมัครใจ หรืออธิบายง่าย ๆ ก็คือ เป็นค่าเสียหายส่วนแรกที่เรายอมจ่ายให้กับบริษัทประกันภัยทุกครั้งที่มีการเคลมในอุบัติเหตุ และเราเป็นฝ่ายผิด โดยหากเราซื้อประกันรถยนต์ชั้น 1 ถ้าเราเลือกจ่ายค่า deductible ก็จะช่วยลดเบี้ยประกันตามจำนวน ค่า deductible ประกันชั้น 1 ที่ได้ระบุไว้ในกรมธรรม์

ยกตัวอย่างเช่น

ประกันรถยนต์ชั้น 1 เบี้ยรายปี 15,000 บาท แต่เราเลือกที่จะจ่าย ค่า deductible ประกันชั้น 1 หรือ ค่าเสียหายส่วนแรก 5,000 บาท ซึ่งเมื่อหักลบกับเบี้ยประกันภัยแล้ว ทำให้เราประหยัดเงินในการซื้อประกันรถยนต์ชั้น 1 มากขึ้นถึง เท่ากับว่า เราต้องจ่ายเบี้ยประกันต่อปีเพียง 10,000 บาทเท่านั้น แต่เมื่อเราต้องการเคลมประกัน ก็จะต้องชำระค่าเสียหายส่วนแรก หรือ ค่า deductible ประกันชั้น 1 ในราคา 5,000 บาทก่อนจึงจะสามารถเริ่มดำเนินการซ่อมได้

➡️ แต่หลายคนจะสับสนระหว่างค่า “Excess” กับ “Deductible” ว่าต่างกันอย่างไร

💵 ค่า Deductible คือค่าใช้จ่ายส่วนแรกที่เรายอมเสีย “แบบสมัครใจ” ทุกครั้งที่มีการเคลมในอุบัติเหตุ “ที่เราเป็นฝ่ายผิด”

💵 ส่วนค่า Excess คือ “ค่าเสียหายส่วนแรกภาคบังคับ” คือ เป็นค่าใช้จ่ายที่ “บังคับเก็บ” ไม่ว่าเราจะทำประกันชั้นไหน (แม้จะเป็นประกันชั้น 1 ก็ไม่ยกเว้น!) หรือบริษัทใดก็ตาม โดยจะเรียกเก็บในการแจ้งเคลมบางกรณีที่ทำให้สงสัยได้ว่า เราแจ้งเคลมโดยที่ไม่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นจริงเพื่อหวังซ่อมรถฟรี

โดยกรณีที่เข้าข่ายโดนเก็บค่า Excess คือ

✅ (1) จากอุบัติเหตุที่ไม่ได้เกิดจากการชนหรือคว่ำ หรือ ระบุสาหตุที่ทำให้รถเสียหายไม่ได้ เช่น รถถูกขีดข่วน หินหรือวัตถุกระเด็นใส่ รถครูดกับพื้นถนน ตกหลุม ฯลฯ

✅ (2) ชนแต่ไม่สามารถหาคู่กรณีได้ หรือบอกรายละเอียดคู่กรณีไม่ได้

➡️ ต้องเสียค่า excess เท่าไหร่

ค่า excess เรียกเก็บครั้งละ 1,000 บาทต่อ “เหตุการณ์” เช่น หากเราโชคร้าย ก้อนหินตกใส่รถและล้อรถเหยียบตะปูในคราวเดียวกัน นับเป็น 2 เหตุการณ์ (เหตุการณ์ที่ 1 ก้อนหินตกใส่, เหตุการณ์ที่ 2 รถเหยียบตะปู) เราต้องเสียค่า excess 1,000 x 2 = 2,000 บาท

พูดเรื่องประกันสุขภาพแบบรับผิดชอบส่วนแรกอยู่ดี ทำไมมาจบที่ประกันรถได้ก็ไม่รู้ แต่ยังไงก็หวังว่าน่าจะเป็นประโยชน์ในการประหยัดเบี้ยประกันในยุคที่หารายได้ยากแต่ค่าใช้จ่ายแพงอย่างวันนี้นะครับ

เขียนโดย: สาธิต บวรสันติสุทธิ์ นักวางแผนการเงิน CFP®
ภาพ: ภควดี เขมะพานิช