Insight Report ชี้ 25% ของผู้ใช้งานบริการเดลิเวอรี่บ่อยหรือที่เรียกว่า heavy users สร้างรายได้ให้กับบริษัทคิดเป็น 71% ของรายได้ทั้งหมดของบริษัทเดลิเวอรี่ และยังพบอีกว่าผู้ใช้บริการที่ใช้แพ็กเกจสมาชิก (Subscription) มีอัตราการสั่งอาหารหรือสินค้าผ่านเดลิเวอรี่บ่อยขึ้นถึง 44%

เมื่อ 5 ปีที่แล้ว… นิตยสาร Forbes รายงานว่าคนรุ่นมิลเลนเนียม (ผู้ที่เกิดราว ๆ ปี 1981 ถึง 1996 ) มีแนวโน้มจะสั่งอาหารเดลิเวอรี่มากกว่าคนรุ่นอื่นถึง 3 เท่า มาถึงปีนี้ข้อมูลนี้ก็สอดคล้องกับการเติบโตของตลาดอาหารเดลิเวอรี่ที่มีมูลค่าเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วง 2-3 ปีหลัง

ข้อมูลจาก Delivery Trend Report 2022 ของ GRAB ซูเปอร์แอปยอดฮิตของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เผยว่าบริการจัดส่งเดลิเวอรี่บนแพลตฟอร์มแกร็บทั่วทั้งภูมิภาคโตขึ้นถึง 24% ในปี 2022 โดย 7 ใน 10 ของผู้บริโภคระบุว่าได้ใช้บริการเดลิเวอรี่จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตไปเรียบร้อยแล้ว

และเมื่อเทียบกับข้อมูลระหว่างปี 2019 ถึงปี 2022 ไม่เพียงแต่ใช้บริการบ่อยขึ้นผู้บริโภคยังใช้จ่ายต่อออเดอร์เพิ่มขึ้นอีกด้วย โดยเหตุผลหลัก 3 เหตุผลว่าทำไมคนถึงเลือกใช้บริการจัดส่งอาหารเดลิเวอรี่

1.ความสะดวกสบาย
2.การจัดส่งที่รวดเร็ว
3.ทำให้สังสรรค์ได้ง่ายขึ้น

ชีวิตแบบใดกันที่ทำให้เราเสพติดการสั่งเดลิเวอรี่

Food Delivery ถือเป็นธุรกิจหนึ่งที่ได้รับอานิสงส์จากมาตรการเว้นระยะห่างในช่วงโควิดเพื่อลดการแพร่ระบาดของโรค ห้ามนั่งทานอาหารหรือรวมกลุ่มกัน โควิดกลายเป็นตัวเร่งความเปลี่ยนแปลงในเชิงพฤติกรรมของคนเป็นอย่างมาก

แม้ในปัจจุบันผู้คนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตปกติได้แล้วแต่หลาย ๆ คนก็ยังติดกับดักความสะดวกสบายของบริการอาหารเดลิเวอรี่ และมันส่งผลโดยตรงกับวินัยการใช้เงิน เพราะอาหารเดลิเวอรี่ผ่านแอปในปัจจุบันเสนอมื้ออาหารสุดคุ้ม คูปอง และการสะสมคะแนนมาให้เรา

แต่ถ้าคำนวณเงินที่ใช้จ่ายไปกับอาหารจานด่วนในแต่ละเดือน เราอาจประหลาดใจถ้าพบว่ากาแฟและไก่ทอดไม่กี่ชิ้นที่เราสั่งผ่านแอปเดลิเวอรี่สามารถเปลี่ยนเป็นอาหารทำเสิร์ฟร้อน ๆ ได้อีกประมาณ 2 มื้อ เปรียบเทียบจากราคาที่ผู้ใช้สั่งซื้ออาหารเฉลี่ยออเดอร์ละ 105 - 150 บาทต่อมื้อ (ข้อมูลจาก GRAB Delivery Trend Report 2022)

วิธีหลีกเลี่ยงการตลาดและประหยัดเงินจากการกดแอปฯซื้ออาหาร

1. ปิดแจ้งเตือนแอปเดลิเวอรี่ไปซะ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าแพลตฟอร์ม Food Delivery ที่มีการแข่งขันมากขึ้นจำเป็นต้องปรับบริการให้ตอบโจทย์ลูกค้ามากขึ้น เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กลับมาขับเคลื่อนได้ตามปกติ และผู้บริโภคกลับมาใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้น ทำให้การเติบโตของตลาดธุรกิจจัดส่งอาหารชะลอตัวลง แอปเดลิเวอรี่จึงต้องมีการพัฒนาฟังก์ชันอย่างเช่นการใช้ AI ช่วยวิเคราะห์ข้อมูล และนำเสนอ Customized loyalty program เพื่อนำเสนอบริการหรือส่วนลดที่น่าดึงดูดมากขึ้น

เทคโนโลยีทำให้เราควบคุมชีวิตทางการเงินได้มากขึ้น แต่ไม่ได้ช่วยให้เราเก็บเงินได้ดีขึ้นและอาจเปลี่ยนวิธีที่เรามองและให้คุณค่ากับเงินด้วย ความง่ายของระบบเดลิเวอรี่ที่พัฒนาขึ้นในทุกวัน บวกกับระบบปัญญาประดิษฐ์ที่จะแนะนำผลิตภัณฑ์ที่ "คุณอาจจะชอบ" จึงเป็นเครื่องมืออย่างดีในการผลักดันให้ผู้คนใช้จ่ายผ่านแอปเดลิเวอรี่มากขึ้นเพื่อความพึงพอใจในทันที

2. ลองขยับร่างกายเดินดูร้านอาหารรอบ ๆ และวางแผนมื้ออาหารล่วงหน้า

รู้หรือไม่ว่าเราใช้เวลาอย่างน้อย 17 นาทีก่อนที่จะกดสั่งซื้ออาหารบนแพลตฟอร์ม การวางแผนเกือบทั้งหมดเป็นเรื่องที่ดีรวมไปถึงการวางแผนในการกินของเราด้วย พอกันทีกับการเลื่อนหาร้านอาหารก่อนเวลาพักกลางวันว่ากินอะไรดี จะดีกว่าไหม ถ้าเราเริ่มมองหาร้านใกล้ตัวที่จะทำให้เราไม่ต้องเสียเวลาและเสียค่าบริการจากเดลิเวอรี่ วิธีนี้จะช่วยให้เราประหยัดเงินและสร้างพฤติกรรมที่ดีต่อตัวเราเอง

3. อย่าเล่นเกมกับระบบส่วนลดอัตโนมัติ

แม้ว่าส่วนลดอัตโนมัติจะเป็นเรื่องดีแต่การสั่งอาหารแบบคอมโบเพื่อให้ได้ส่วนลด 5-10% มีแนวโน้มว่าคุณจะได้กินอะไรที่คุณไม่ได้ต้องการจริง ๆ หรือซื้อน้ำเปล่าในราคาที่สูงกว่าร้านชำใกล้ ๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งส่วนลด

และเมื่อถูกถามว่าคุณต้องการเพิ่มสินค้าพิเศษในคำสั่งซื้อของคุณหรือไม่ ให้รีบปิดมันไปเพราะนั่นหมายถึงการใช้จ่ายเพื่ออาหารที่เกินจำเป็น จากแบบสอบถามผู้ใช้งานต่อเนื่อง 1,954 คนในไทยพบว่าผู้ใช้ยอมจ่ายเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 45 บาทต่อออเดอร์ไปกับเครื่องดื่ม อาหารเรียกน้ำย่อยและของหวานเพื่อให้ได้ค่าส่งฟรี

4. พกของว่างมาจากบ้านหรือหารกันซื้อทั้งออฟฟิศ

รายงานจาก GRAB ยังรายงานว่าคนไทย 2 ใน 5 นิยมสั่งอาหารว่างหรือขนมขบเคี้ยวอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง และในปี 2565 คนไทยสั่งกาแฟและชาเกือบ 5 ล้านลิตร (ใครนึกภาพไม่ออกอาจจะลองนึกถึงภาพสระว่ายน้ำโอลิมปิก 2 สระ)

จะดีกว่าไหม ถ้าเปลี่ยนจากการกดสั่งซื้ออาหารว่างระหว่างพักมาเป็นการเตรียมของว่างที่ทำเองมาจากบ้าน หรือซื้อขนมจากร้านขายปลีกใกล้ ๆ

5. ระวังส่วนลดสำหรับสมาชิก

จากผลการสำรวจผู้ใช้บริการ GRAB พบว่าผู้ใช้ที่สมัครแพ็กเกจสมาชิก (Subscription) จำนวน 3,190 คนในประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทยและสิงคโปร์ยอมเปลี่ยนร้านใหม่เพื่อให้ได้รับส่วนลดและสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมจากเดิม และระบบสมาชิกนี้เอง ยังทำให้ผู้ใช้ที่สมัครแพจเกจสมาชิกมีอัตราการสั่งอาหารหรือสินค้าผ่านเดลิเวอรี่บ่อยขึ้นถึง 1 ใน 3 และใช้จ่ายต่อออเดอร์มากขึ้นถึง 18% เมื่อเทียบกับผู้ใช้บริการทั่วไป

สำหรับคนที่อยากออมเงินถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องถอยออกมาหนึ่งก้าวและพิจารณาถึงผลที่ตามมาในระยะยาวจากนิสัยการกินของเรา ไม่แปลกถ้าเราอยากจะสั่งอาหารเดลิเวอรี่บ้างเป็นครั้งคราว แต่ขอให้แน่ใจว่าเราไม่ได้ทำสิ่งนี้จนเป็นเรื่องประจำวัน