“แนวโน้มอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยรวมที่ประชาชนต้องจ่ายในระดับต่ำกว่า 4 บาทต่อ หน่วยคงจะไม่ได้เห็นอีกแล้ว”

เป็นคำกล่าวของ คุณคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ในงานสัมมนาวิชาการประจำปี Energy Symphosium 2022 ที่จัดขึ้นเมื่อเดือนกันยายนปีที่ผ่านมา

ถึงอากาศจะร้อนแค่ไหน แต่ได้พอได้ยินคำนี้เข้าไป เชื่อว่าทุกคนคงรู้สึกหนาวขึ้นมาทันที

ปัจจุบัน “ไฟฟ้า” ถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกคนขาดไม่ได้ ไม่ว่าจะยากดีมีจนแค่ไหน ทุกคนล้วนต้องใช้ไฟฟ้าในการทำกิจกรรมหรือการอำนวยความสะดวกต่างๆ ทั้งสิ้น

"จำเป็น" แต่ทำไมต้อง "แพง" ขนาดนี้? เชื่อว่าหลายบ้านที่ค่าไฟฟ้าพุ่ง เริ่มเกิดความสงสัยว่า มันเกิดอะไรขึ้นกันแน่!

ก่อนอื่นเราต้องรู้ก่อนว่า “ค่าไฟฟ้า” ที่เราจ่ายกันไป ถูกคิดจากอะไรบ้าง?

องค์ประกอบของ “ค่าไฟฟ้า” ได้แก่…

(1) ค่าไฟฟ้าฐาน
(2) ค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่า Ft)
(3) ค่าบริการ
(4) ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)

ทั้งนี้ “ค่าบริการ” จะแตกต่างกันไป ตามประเภทผู้ใช้ไฟฟ้าและขนาดมิเตอร์ไฟฟ้า ส่วน “ภาษีมูลค่าเพิ่ม” หรือ “VAT” คิดในอัตรา 7% เหมือนกับการซื้อสินค้าและบริการทั่วไป

ซึ่งปัญหาที่หลายคนสงสัยเกี่ยวกับ “ค่าไฟฟ้าแพง” มักมาจาก “ค่าไฟฟ้าฐาน” และ “ค่า Ft” มากกว่า

ค่าไฟฟ้าฐาน คืออะไร?

“ค่าไฟฟ้าฐาน” เป็นค่าไฟฟ้าที่คิดจากต้นทุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ระบบสายส่ง สายจำหน่าย และการผลิตพลังงานไฟฟ้า โดยกำหนดอัตราเรียกเก็บ ภายใต้สมมติฐานความต้องการใช้ไฟฟ้า ราคาเชื้อเพลิง อัตราแลกเปลี่ยน และอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งปัจจุบันค่าไฟฟ้าฐานอยู่ที่ประมาณ 3.79 บาทต่อหน่วย

ปัญหาของ “ค่าไฟฟ้าฐาน” คืออะไร?

คุณสฤณี อาชวานันทกุล นักวิจัย และนักวิชาการอิสระด้านการเงิน ให้ความเห็นว่า ค่าไฟฟ้าฐานที่แพงขึ้น มาจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการพยายากรณ์เกินความจำเป็น

โดยมีการคาดการณ์ความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าที่สูงเกินไป ทำให้เกิดการสำรองไฟฟ้าที่สูงขึ้นตามไปด้วย จากที่ควรสำรองไว้ที่ 15% กลับสำรองไว้สูงถึง 55% และสูงเกินจริงตลอดเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ต้องมีการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มเกินความจำเป็น และสะท้อนเป็น “ค่าไฟฟ้าฐาน” ที่เราจ่ายไปนั่นเอง

ค่าไฟฟ้าผันแปร(ค่าFt) คืออะไร?

“ค่าไฟฟ้าผันแปร” หรือ “ค่าFt” เป็นค่าไฟฟ้าที่ถูกกำหนดขึ้นเพื่อให้สะท้อนการเปลี่ยนแปลงที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของการไฟฟ้า ได้แก่ ค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิง ค่าซื้อไฟฟ้า และผลกระทบจากค่าใช้จ่ายตามนโยบายรัฐ

ค่า Ft ปัจจุบัน (พ.ค.-ส.ค.66) อยู่ที่อัตรา 0.9827 บาทต่อหน่วย ซึ่งความพิเศษของค่า Ft คือ สามารถเป็นได้ทั้ง จำนวนบวก(+) และจำนวนลบ(-) ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในช่วงนั้นๆ

ข้อมูลจากเว็บไซต์การไฟฟ้านครหลวง แสดงให้เห็นว่า ค่า Ft มีค่าติดลบตั้งแต่ปลายปี 2558 - 2564 และมีการปรับเป็นบวกเมื่อปี 2565 เป็นต้นมา

ปัญหาของ “ค่า Ft” คืออะไร?

สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ชี้แจงว่า มี 2 ปัจจัย ที่ส่งผลให้ค่า Ft แพงขึ้น ได้แก่

1. ปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยมีปริมาณลดลง ทำให้ต้องนำเข้าก๊าซ LPG มาทดแทน ซึ่งมีราคาสูงกว่ามาก อันเนื่องจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน

2. ผลของการอุ้มค่า Ft ไว้ที่ระดับต่ำกว่าต้นทุนจริงในช่วง COVID-19 เพื่อหวังบรรเทาค่าใช้จ่ายของประชาชน จนทำให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) มีภาระหนี้สูงขึ้น จนทำให้ต้องมีการปรับเพิ่มค่า Ft ขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 2565 เพื่อบรรเทาผลกระทบดังกล่าว

นอกจากนี้ทางการไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) ให้ความเห็นว่า ค่าไฟแพงขึ้นอาจมาจากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นด้วย

ยกตัวอย่าง ในสภาวะอากาศปกติ เช่น อุณหภูมิภายนอกอยู่ที่ 30 องศาเซลเซียส หากเราปรับอุณหภูมิแอร์ในห้องที่ 26 องศาเซลเซียส แอร์จะต้องทำงานเพื่อลดอุณหภูมิให้ได้ 4 องศาเซลเซียส

แต่ในช่วงที่มีอากาศร้อนจัด เช่น อุณหภูมิภายนอก 40 องศาเซลเซียส หากเราตั้งอุณหภูมิแอร์ในห้องเท่าเดิมไว้ที่ 26 องศาเซลเซียส แอร์จะต้องทำงานเพื่อลดอุณหภูมิให้ได้ถึง 14 องศาเซลเซียล

แอร์จึงทำงานหนักมากขึ้น และกินไฟมากกว่าเดิม อีกทั้งยังต้องรักษาอุณหภูมิในสภาวะที่มีความร้อนจัดจากภายนอกรบกวน จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้หน่วยการใช้ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้จากการทดสอบพบว่าอุณหภูมิภายนอกที่เพิ่มขึ้นทุก 1 องศาเซลเซียสแอร์จะกินไฟเพิ่มขึ้นมากกว่า 3% ถึงแม้จะใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าในระยะเวลาเท่ากัน หรือปรับตั้งค่าอุณหภูมิเท่าเดิมก็ตาม

ล่าสุด ที่ประชุมคณะอนุกรรมการค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) มีมติเห็นชอบลดค่า Ft ลงจากเดิมที่ ค่าไฟฐาน รวม ค่า Ft เท่ากับ 4.77 บาทต่อหน่วย ลดเป็น 4.70 บาทต่อหน่วย และจะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในวันที่ 24 เมษายนนี้ ต่อไป