เงินสำรองฉุกเฉินสำหรับครอบครัว ทำไมจึงสำคัญและจำเป็น? ถ้าคุณไม่อาจรู้ล่วงหน้าได้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นในอนาคตบ้าง สิ่งที่คุณต้องคำนึงอยู่เสมอคือ ป้องกันมันครับ ป้องกันและเตรียมพร้อมสำหรับเหตุที่ไม่คาดฝัน ไม่ว่าเหตุนั้นจะเกิดขึ้นกับตัวเองหรือคนที่คุณรัก

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าคุณเป็นเสาหลักของครอบครัว คอยหารายได้ให้ครอบครัว หากไม่มีการเตรียมพร้อมไว้ก่อน เมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น เช่น ตกงาน ลาออกจากงาน หรือแม้กระทั่ง เจ็บป่วยกะทันหัน จะดึงเงินจากที่ไหนมาใช้ให้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายของครอบครัวที่มี เชื่อเถอะครับว่า เงินสำรองฉุกเฉินอย่างน้อย 3 - 6 เท่าของรายจ่ายต่อเดือน สำคัญและจำเป็นสำหรับคุณและครอบครัวจริงๆ

และเนื่องในวันครอบครัวปีนี้ 14 เมษายน ถ้าใครยังไม่มีเงินก้อนนี้ ชวนมาดูกันดีกว่า 6 ขั้นตอนทำยังไงให้มีเงินฉุกเฉินสำหรับเราและครอบครัวเสียที

1) ทำมันทุกวัน

คีย์เวิร์ดของกระบวนการนี้ก็คือ คุณต้องทำมันอย่างสม่ำสมอ จงตั้งเป้าหมาย กำหนดตัวเลขของกองเงินให้มันชัดเจนไปเลย เช่น คุณจะเก็บเงินเพื่อตั้งเงินฉุกเฉินสำหรับครอบครัว หรือเงินสำรองเผื่อตัวเอง สิ่งสำคัญคือต้องกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน

เช่น คุณจะเก็บออมเงิน กันมันไว้ในส่วนนี้อย่างน้อยเดือนละ 1,500 บาทบ้าง หรือเดือนละ 3,000 บ้าง หรือถ้ารู้สึกก้อนเงินมันใหญ่ไป คุณอาจจะต้องหลอกตัวเองเสียหน่อยว่า คุณจะเก็บเงินไว้วันละ 100 บาทละกัน

เรื่องความรู้สึกนี่สำคัญมากนะครับ โดยเฉพาะในด้านการเงิน ก็ในเมื่อเขาวิเคราะห์กันมาแล้วว่า การเงินของคนส่วนใหญ่มาจากพฤติกรรม นิสัย ไม่ใช่ความรู้เป็นหลัก คุณก็ควรจะหลอกความรู้สึกตัวเองสักหน่อย เพื่อจะทำให้คุณมีความสามารถในการเก็บออมได้ เพราะมันออมวันละ 100 บาทเอง หากคุณรู้สึกว่าคุณเก็บเงินในจำนวนก้อนใหญ่เกินไป

สุดท้ายคุณจะรู้สึกเสียดายที่จะเก็บออม แม้ว่ามันจะเป็นไปเพื่อตัวคุณเองในอนาคตก็ตาม แล้วในที่สุดคุณจะห้ามใจให้ถอนเงินนั้นออกมาใช้ไม่ได้ และมันก็จบลงด้วยการที่คุณไม่มีเงินสำรองเผื่อกรณีฉุกเฉินอีกตามเคย

2) เก็บบางอย่างไว้ ตัดบางอย่างทิ้ง

อย่างที่เราแนะนำมาตลอด ค่าใช้จ่ายอะไรจำเป็นก็จ่ายไป อะไรที่สิ้นเปลืองก็จงตัดทิ้ง เราเสียค่าเดินทางเพราะค่าน้ำมันรถมามากเท่าไรแล้ว เป็นไปได้ไหมที่คุณจะลองปรับพฤติกรรมหันมาใช้รถหรือเดินทางโดยบริการสาธารณะบ้าง ขนส่งมวลชนบ้าง

ไม่ว่าจะเป็นรถเมล์ รถไฟฟ้า รถวินมอเตอร์ไซค์ที่มันทำให้คุณประหยัดจากค่าน้ำมันรถน่ะ อย่างน้อยสลับใช้ดูจะดีไหม เช่น จันทร์ พุธ ศุกร์ ขับรถไปทำงาน อังคาร พฤหัสบดี ใช้บริการสาธารณะเอา มันช่วยขึ้นได้เยอะนะ ลองดูสิครับ

3) ทำให้มันง่ายเข้าไว้

จงทำให้แผนการเก็บออมเงินเพื่อสำรองฉุกเฉิน เป็นเรื่องง่าย ทำให้มันสม่ำเสมอ มันเป็นเรื่องการหวังผลระยะยาว อย่า อย่าหวังผลสั้น

คุณควรเก็บออมเงินส่วนนี้แบบลืมไปเลยครับ ว่ามีกองเงินตรงนี้อยู่ มันช่วยชีวิตคุณได้นะ เวลาที่คุณต้องเจอเหตุการณ์ฉุกเฉินและหันหน้าพึ่งใครไม่ได้น่ะ

4) อย่าไปคิดว่าหนี้สำคัญกว่าการเก็บออมเงินเพื่อการฉุกเฉิน

บางคนอาจจะคิดว่าหนี้เป็นภาระก้อนใหญ่ ชำระก่อน หมดหนี้แล้วค่อยเก็บออม คุณอย่าลืมว่าเหตุการณ์ที่คุณไม่คาดฝันมันเกิดขึ้นเมื่อไรก็ได้ มันไม่ได้เลือกได้นี่ครับว่าอุบัติเหตุในชีวิตมันจะต้องเกิดขึ้นตอนคุณใช้หนี้หมดเท่านั้น สิ่งที่คุณต้องทำก็คือ ทำไปพร้อมๆ กัน หนี้ก็ต้องชำระ เงินออมเผื่อฉุกเฉินก็ต้องกันสำรองไว้

ทำเล็กทำน้อย มีน้อยเก็บน้อย ทำไปเถอะครับ ค่อยๆ เก็บ เวลาเข้าตาจน ไอ้ก้อนเงินจำนวนเล็กน้อยนี่แหละเป็นตัวช่วยดีๆ ให้คนหลุดพ้นภาวะวิกฤตมามากละ เหมือนเวลาคุณไปเจอเงินที่คุณซ่อนเก็บไว้นานแล้วน่ะ คุณรู้สึกดีใจขนาดไหนเวลาที่คุณเงินหมดพอดี

5) แยกบัญชีเงินฝาก

อย่าปล่อยให้ตัวเลขในบัญชีธนาคารเงินฝากเพื่อการฉุกเฉินยั่วใจคุณครับ ไม่งั้นคุณจะหาเรื่องถอนมันออกมาใช้อยู่นั่นแหละ เอาบัญชีธนาคารไปฝากแม่ ฝากครอบครัว ฝากคนที่คุณรัก ฝากลืมไปเลย พยายามหาทางฝากให้มันง่ายๆ แต่ถอนออกยากๆ หน่อย

6) จงควบคุมตัวเองทำตามแผนให้สำเร็จ

ข้อนี้สำคัญมาก เก็บออมเงินเข้าไป จนกว่ามันจะครอบคลุมค่าใช้จ่ายที่คุณต้องจ่ายในชีวิตทั้งหมดอย่างน้อย 3-6 เดือน แล้วชีวิตคุณจะร่มเย็นขึ้น เวลาที่ต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์ไม่คาดฝัน

ลองเอาไปใช้ดูนะครับ ใครมีวิธีการอื่น แชร์ไอเดียมาได้เลย