หลายคนอาจจะรู้จัก Enron จากการทวิตของนักลงทุนอเมริกัน เจ้าของตำนาน Big Short ก่อนเกิดวิกฤต 2008-2009

และหลายเพจก็อธิบายไปแล้วว่า Enron เป็นบริษัทอะไร เกิดอะไรขึ้น

Enron เป็นเคสที่ใช้สอนมาตลอดเกือบ 10 ปี เวลาที่สอนเรื่อง information asymmetry effect (ผลกระทบของการมีข้อมูลไม่เท่ากัน)

สรุปสั้นๆ คือ Enron ในปี 2000 มีการทำรายการบัญชีที่ไม่โปร่งใส ทำให้ตัวเลขรายได้ & กำไร ดูเติบโตสูงมาก จนเป็นที่สนใจของนักลงทุน และที่โดนหนักคือ ผู้ตรวจสอบบัญชีไม่ได้รายงานความผิดปกติ

นี่เรียกว่า information asymmetry ระหว่างนักลงทุนและบริษัท (ที่เอาเงินทุนไปใช้) โดยเกิดจากการให้ False information กับนักลงทุน ทำให้นักลงทุนให้ราคากับหุ้นของบริษัทสูงเกินจริง

พอความแตก ในปี 2001 ถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือ หุ้นเจอเทขาย จนมูลค่าส่วนทุนหายไปในเวลาอันสั้นเพราะหุ้นราคาตกติด 0 แถมกลายเป็นคดีพิสูจน์ข้อเท็จจริงกันหลังจากนั้นต่อมาอีก

.. สุดท้าย พิสูจน์ได้ว่า Enron มีการให้ข้อมูลที่ไม่จริงแก่นักลงทุน และบริษัทผู้ตรวจสอบบัญชีหนึ่งใน Big5 (Arthur Andersen) มีความผิดไปด้วย

จน Arthur Andersen ต้องปิดตัวไปในปี 2002 ทั้งที่เป็นบริษัทผู้ตรวจสอบบัญชีที่เปิดมาตั้ง 1913

ทำให้คนที่เกิดหลังปี 1990 รู้จักแต่ Big4 ถ้าไม่ได้เรียนบัญชีหรือเศรษฐศาสตร์แล้วได้เรียน Enron case ก็จะงงว่า … อะไรคือ Big5

ซึ่งโดยปกติแล้วงบของบริษัทจะต้องมีผู้ตรวจสอบบัญชีตรวจสอบข้อมูลและความถูกต้องของตัวเลข เมื่อผู้ตรวจบัญชีทำผิดเอง ใครล่ะจะกล้าจ้างอีก

นี่เรียกว่า ปัญหาการขาดความไว้วางใจ (Untrust)

เหตุการณ์เดียวทำเอา 2 บริษัทใหญ่หายไปจากตลาด ในเวลานั้นเกิดคำถามว่า “เราเชื่อข้อมูลที่ผ่านการตรวจสอบจากผู้ตรวจสอบบัญชีได้จริงเหรอ”

อีกเคสนึง ที่มักจะหยิบมาเป็นตัวอย่างอีกอันเวลาสอนเรื่อง Information Asymmetry คือ Tesco (UK) ปี 2014

ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่มีการรายงานตัวเลขกำไรผิดติดต่อกันหลายปี ตัวเลขสูงไปรวมกว่า 250 ล้านปอนด์ ประมาณว่า 12,500 ล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน ณ เวลานั้น)

เริ่มต้นความแตกด้วยการที่ CEO ของบริษัทที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งไม่นานออกมาประกาศว่าตัวเลขในงบที่ประกาศไปมีการประกาศตัวเลขผิด ประมาณว่าขอแก้ไข

ประกาศงบมาได้ระยะนึง นักลงทุนก็เห็นตัวเลขแล้ว … จู่ๆ มาบอกว่าผิด นักลงทุนก็ขาดความเชื่อมั่นทันที ขายหุ้นทิ้ง ราคาหุ้นดิ่งลง (แต่ Tesco บริษัทแม่ ก็ยังอยู่รอดมาได้ อาจเพราะนักลงทุนยังมองว่าผู้บริหารออกมาประกาศความผิดพลาด และพยายามรีบแก้ปัญหาเมื่อเจอข้อผิดพลาด)

เคสนี้ลากยาวมาจนถึงมกราคม 2019 และบริษัทมีสภาพทางการเงินอ่อนแอลงตลอดช่วง 5 ปีที่มีคดี มีการขายสินทรัพย์/บริษัทลูก/สาขาในต่างประเทศ เพราะนอกจากเสียชื่อเสียงแล้ว นักลงทุนก็กังวล แถมต้องเสียค่าใช้จ่ายของคดีอีก

ที่รอดมาได้ อันนี้ต้องยกความดีให้ CEO Dave Lewis ที่กล้าออกมาเปลี่ยน information asymmetry ให้เป็น information symmetry เรียกความไว้วางใจ (Trust) กลับมาได้ระดับนึง

เพราะฉะนั้น ถ้าใครมาบอกว่าเคส SVB หรือ Silvergate เป็นแบบ Enron … ขอบอกว่าไม่ใช่และเข้าใจผิดแล้ว

==========
ดร. นงนุช ตันติสันติวงศ์ (เพจ : Dr. Nuch Tantisantiwong )
Visiting Academic
School of Electronics and Computer Science
University of Southampton, UK
==========