ก่อนจะพูดถึงการลงทุนครั้งแรกคือ คุณมีเงินสำรองฉุกเฉินรึยัง?

ถ้าคำตอบคือ "ไม่" ก็อย่าเพิ่งคิดการใหญ่กระโดดไปลงทุน ถึงจะมั่นใจเต็มร้อยว่าความรู้ของคุณเต็มเปี่ยม เพราะการลงทุนคือ "ความเสี่ยง" หากคุณลงทุนโดยไม่มีแผนสำรอง ถ้าล้มขึ้นมารับรองเจ็บจริงยิ่งกว่าไม่ใช้สตันท์แมนแน่นอน

ถ้าอย่างนั้นก็ลองเริ่มต้นสร้างเงินสำรองเอาไว้เป็นเบาะเพื่อเซฟความปลอดภัยให้กับการเงินของเรากันดีกว่า

✅ 1. สำรวจ “รายจ่ายต่อเดือน” เพื่อรู้ “เงินสำรองฉุกเฉิน” ที่ต้องมี

ก่อนอื่นเราต้องเริ่มจากคำถามว่า ‘แต่ละเดือนมีรายจ่ายเท่าไหร่?’ เพราะถ้าคุณรู้รายจ่ายที่แน่นอนของตัวเอง หรือสามารถวางแผนรายจ่ายได้ก็เพียงนำรายจ่ายต่อเดือนคูณด้วย 3 หรือ 6 เพราะหากเราเจ็บตัวหรือต้องออกจากงานกระทันหัน ก็ยังพอมั่นใจได้ว่ายังมีเงินประทังชีวิตไปได้ระยะหนึ่ง

ยกตัวอย่าง

💵 รายจ่าย 10,000 บาท :
➡️ เงินสำรองฉุกเฉิน = 30,000 - 60,000 บาท

💵 รายจ่าย 20,000 บาท :
➡️ เงินสำรองฉุกเฉิน = 60,000 - 120,000 บาท

💵 รายจ่าย 50,000 บาท :
➡️ เงินสำรองฉุกเฉิน = 150,000 - 300,000 บาท

✅ 2. กัน “รายได้” ลด “รายจ่าย” เพื่อเอามาเก็บ “เงินสำรองฉุกเฉิน”

นั่นคือคำถามที่คุณต้องตอบตามความเป็นจริง อย่าหลอกตัวเองว่ารายจ่ายที่เป็นอยู่ประหยัดที่สุดแล้ว จากนั้นเราก็ตามหารายจ่ายที่ไม่จำเป็นเช่นไปเที่ยวกับเพื่อน, ซื้อเสื้อผ้าชุดใหม่(ทั้งที่เสื้อผ้าชุดเก่ามีสภาพดีอยู่, ดูหนังหรือกินข้าวกับแฟน เราไม่ได้บอกให้คุณตัดทุกสิ่งออกเลย แต่ลองคำนวณว่าพอจะลดหรือเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นที่แทนกันได้ในราคาที่ถูกกว่า ซึ่งนั่นช่วยให้เราเก็บเงินได้มากขึ้น

💵 เพิ่มรายได้ 1,000 บาท = อาจไม่การันตีเงินออม (เพราะรายจ่ายอาจเพิ่มขึ้นตาม)
💵 ลดรายจ่าย 1,000 บาท = เหลือเงินเก็บออมเพิ่มได้ 1,000 บาท

✅ 3. เลือกที่อยู่ให้ “เงินสำรองฉุกเฉิน” สำคัญต้อง “มีสภาพคล่อง”

อย่าลืมว่า “เงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน” มีคำว่า ‘ฉุกเฉิน’ แปะอยู่ด้วย เพราะฉะนั้นเงินส่วนนี้ควรถูกเก็บอยู่ในสภาพเงินสดซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงที่สุด และไม่จำเป็นต้องให้ความสนใจถึงอัตราผลตอบแทนที่ได้รับจากการฝากเงิน นั่นเพราะเงินก้อนนี้มีจุดประสงค์เผื่อฉุกเฉินเท่านั้น เราขอแนะนำให้เป็นการเก็บเงินไว้โดยการเปิดบัญชีออมทรัพย์ที่ไม่มีบัตร ATM เพราะนั่นทำให้การถอนเงินยุ่งยากมากขึ้น

✅ 4. ทำตามเป้าหมาย อย่างมีวินัย = มีเงินสำรองฉุกเฉินได้

เมื่อจำนวนเงินครบตามเป้าแล้ว สิ่งที่ควรโฟกัสเป็นลำดับถัดมาคือการปลดหนี้และเป้าหมายการเก็บออมเงิน (ตามเป้าหมายที่แตกต่างกัน เช่นเพื่อเรียนต่อ, ไปเที่ยวต่างประเทศ, แต่งงาน หรือการเกษียณ) และแน่นอนขณะที่คุณนำเงินไปเก็บออมหรือแม้แต่ลงทุนเพื่อให้ถึงเป้าหมายนั้น หากต้องเจ็บตัวจากการลงทุนแล้วต้องใช้เงินสำรองฉุกเฉิน อย่าลืมนำเงินมาเติมให้เต็มจนครบเท่าเดิมให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

ภาพ: ภควดี เหมะพาณิช