เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เป้าหมายชีวิตของคนทั่วไปก็เปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะเป้าหมายเรื่องของการเกษียณ

ปัจจุบันหลายคนเลือกที่จะตั้งเป้าหมายว่าอยากเกษียณเร็วๆ ก่อนอายุ 60 ซึ่งความจริงแล้ว ไม่ใช่เรื่องผิด สามารถตั้งเป้าได้ แต่ก็ต้องพิจารณาถึงความเป็นไปได้ด้วย

สมมติว่า เราเริ่มทำงานอายุ 25 ปี อยากเกษียณเร็วสักอายุ 55 ปี แสดงว่าต้องทำงานเป็นเวลา 30 ปี และหากคิดว่าอายุขัยเท่ากับ 90 ปี แสดงว่า ระยะเวลาหาเงิน 30 ปีนั้น ต้องใช้เลี้ยงตัวเองถึง 65 ปี เลย (อายุ 25 - 90 ปี) และถ้ายิ่งอยากเกษียณเร็วกว่าเดิม ช่วงเวลาหาเงินก็จะยิ่งน้อยลง แต่ช่วงเวลาใช้เงินกลับเท่าเดิม

อย่างไรก็ตาม การวางแผนการเงินที่ดี ก็ไม่ได้มีสูตรเฉพาะเจาะจงว่า คุณจะต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ ถึงจะประสบความสำเร็จได้ไวขึ้น เพราะแต่ละคนมีวิธีดูแลแผนทางการเงินที่ไม่เหมือนกัน คุณมีความสุขในการวางแผนทางการเงินแบบไหนก็ทำแบบนั้น ต่อให้วันนี้คุณจะเริ่มช้ากว่าคนอื่น ก็ไม่ได้หมายความว่า คุณจะไม่ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ เพียงแค่คุณตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนและใช้ระยะเวลา รวมถึงสร้างวินัยให้กับตัวเอง เพียงเท่านี้ก็สามารถพาไปถึงเป้าหมายได้เช่นกัน

ชวนอ่านสรุป 7 ข้อคิด วางแผนทางการเงินให้เติบโตเพื่อเตรียมความพร้อมในวัยเกษียณอย่างไม่เร่งรีบ โดย วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ นักวางแผนการเงิน CFP®

✅1. การลงทุนไม่จำเป็นต้องมีเป้าหมายเดียว

คุณควรมีเป้าหมายในการลงทุนหลายๆ รูปแบบและยืดหยุ่นกับมันให้มากที่สุด บางคนชอบยึดติดกับการลงทุนอย่างใดอย่างหนึ่ง มันอาจจะไม่ใช่เรื่องที่ผิดครับ แต่การที่คุณยึดติดกับเป้าหมายเดียวมากเกินไป ก็ไม่ได้ทำให้การเงินของคุณเติบโตขึ้น เช่น คุณอาจจะเป็นคนชอบฝากเงินประจำกับธนาคารและกินดอกเบี้ยจากเงินฝากเหล่านั้น ซึ่งมันได้รับผลตอบแทนที่น้อยมาก แต่ถ้าคุณลองเปิดใจหรือยืดหยุ่นกับวิธีที่ทำอยู่ คุณก็อาจจะค้นพบช่องทาง ที่จะทำให้เงินของคุณเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วและสร้างความมั่งคั่งทางการเงินในระยะยาวได้ดีกว่าที่ทำอยู่ก็ได้ครับ

✅2. พลังเงินออมสามารถสร้างความมั่งคั่งทางการเงินได้

หลายคนอาจมองว่าการออมไม่สามารถทำให้รวยได้ แต่การออมแบบมีวินัยและรู้จักเก็บออมในแบบวิธีที่เหมาะสมกับตัวเอง ก็สามารถทำให้เงินงอกเงยขึ้นได้ไม่มากก็น้อย คุณควรจะเริ่มออมตั้งแต่อายุน้อยๆ แม้จะเริ่มต้นจากเงินก้อนเล็ก แต่การออมอย่างสม่ำเสมอในระยะยาว จะทำให้เงินตรงส่วนนั้น เปลี่ยนเป็นเงินก้อนโตในวันข้างหน้าได้ สิ่งสำคัญของการเก็บออมต้องอาศัยระยะเวลา จำนวนในการออม รวมถึงผลตอบแทนในการออมที่เหมาะสมด้วยเช่นเดียวกัน เพราะถ้าคุณเก็บออมด้วยระยะเวลาที่ยาวนาน แต่วิธีที่เก็บออมอยู่ให้ผลตอบแทนได้ไม่เหมาะสมกับจำนวนที่เก็บไว้ เงินของคุณก็ไม่ทางเพิ่มขึ้นแน่นอน

✅3. ไม่มีคำว่าสายเกินไปสำหรับการวางแผนทางการเงิน

การวางแผนทางการเงินสามารถเริ่มต้นเมื่อไรก็ได้ ไม่มีคำว่าสายเกินไปครับ และต่อให้คุณอายุเยอะก็สามารถวางแผนทางการเงินได้เช่นเดียวกัน คุณไม่ควรขีดเส้นใต้ความสามารถ ในการวางแผนทางการเงินเพียงใช้อายุเป็นตัวชี้วัด ต่อให้วันนี้คุณจะอายุ 50 ปี หรือ 60 ปี คุณก็ยังสามารถเริ่มต้นวางแผนทางการเงินได้ เพียงแค่คุณต้องวางแผนให้เหมาะสมกับตัวเอง ถ้าวางแผนระยะยาวไม่ได้ คุณก็อาจจะวางแผนระยะสั้นหรือระยะกลางก็ได้ ไม่จำเป็นต้องวางแผนระยะยาวเสมอไป เพราะการวางแผนทางการเงิน ไม่มีสูตรตายตัวอยู่แล้วครับ

✅4. บันทึกรายรับรายจ่าย = การอุดรอยรั่วทางการเงิน

พยายามทำบันทึกรายรับรายจ่ายในแต่ละวันให้ติดเป็นนิสัย เพราะจะทำให้คุณรู้ว่า เงินของคุณหายไปกับค่าใช้จ่ายตรงส่วนไหน และยังทำให้คุณสามารถวิเคราะห์ต่อได้ว่า ควรจะตัดค่าใช้จ่ายอะไรบ้างที่ไม่จำเป็นออกไป เพื่อที่จะทำให้มีเงินเก็บเพิ่มขึ้น

✅5. การดูแลกระแสเงินสดหลังวัยเกษียณเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม

เมื่อคุณเข้าสู่วัยเกษียณแบบเต็มตัว รายได้ที่เคยมีอย่างสม่ำเสมอจากงานประจำก็เริ่มหายไป เหลือเพียงแต่เงินออมหรือเงินที่มาจากการลงทุน บางครั้งคุณอาจจะนำเงินที่มีมาใช้โดยที่ไม่รู้ตัว และอาจทำให้เงินที่คุณเก็บมาทั้งชีวิตหมดก่อนเวลาที่คุณจะจากโลกนี้ไป ดังนั้น คุณจำเป็นต้องมีการวางแผนในส่วนของกระแสเงินสดให้ดี เพื่อไม่ให้กระทบเงินออมในวัยเกษียณ ที่เอาไว้ใช้สำหรับเรื่องที่จำเป็น

✅6. การเกษียณที่ดีไม่จำเป็นต้องเร่งรีบเสมอไป

เชื่อว่าวัยรุ่นสมัยใหม่มักจะมีเป้าหมายชีวิตคือ การเกษียณก่อนอายุ 60 ปี และเมื่อเข้าสู่วัยเกษียณก็เลิกทำงานทันที ซึ่งมันอาจไม่ใช่วิธีที่เหมาะสมครับ ทางที่ดีหากคุณอยากมีการเกษียณที่ดีหรือมั่นคง คุณไม่ควรเร่งรีบในการเกษียณมากจนเกินไป

อย่างไรก็ดี คุณควรจะวางแผนเกษียณไว้ตอนอายุ 60 ปี น่าจะเป็นช่วงอายุที่เหมาะสมกับคนส่วนใหญ่ บางคนอายุ 60 ปี ก็ยังคงมีความสามารถที่จะหาเงินได้อยู่ คุณไม่จำเป็นต้องเร่งรีบในการเกษียณเร็ว เพราะช่วงเวลาที่คุณทำงานนั่นล่ะครับ จะเป็นช่วงเวลาที่คุณจะหาเงินได้ เพื่อสะสมไว้ใช้ในช่วงบั้นปลายชีวิตได้มากที่สุด ยิ่งคุณอยากเกษียณเร็ว ก็จะทำให้ช่วงเวลาที่คุณหาได้รายนั้นสั้นลง ดังนั้น คุณควรจะวางแผนเกษียณให้พอดีกับความสามารถของตัวเองและประเมินระยะเวลาให้เหมาะสมกับตัวเองน่าจะดีกว่าครับ

✅7. ลงทุนในสิ่งที่เข้าใจและจัดพอร์ตการลงทุนให้อยู่ในความเสี่ยงที่ยอมรับได้

การจัดพอร์ตลงทุนให้เหมาะสมกับความเสี่ยง นับว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีของการลงทุน เพราะจะทำให้คุณสามารถยอมรับได้ เมื่อต้องเจอกับสถานการณ์การที่ไม่คาดคิด บนการลงทุนมีได้ก็ต้องมีเสีย ซึ่งเป็นเรื่องปกติมากครับ แต่เหนือสิ่งอื่นใด คุณจะต้องลงทุนในสิ่งที่คุณเข้าใจจริงๆ ไม่ใช่ลงทุนในสิ่งที่ไม่มีความรู้หรือลงทุนตามคนอื่น ต่อให้วางแผนมาดีแค่ไหน สุดท้ายถ้าคุณไม่เข้าใจหรือไม่ความรู้ในสิ่งที่ลงทุน คุณก็ไม่สามารถสร้างกำไรจากการลงทุนเหล่านั้นได้เลยครับ