สำหรับคนทำงานส่วนใหญ่เชื่อว่ามีเป้าหมายเรื่องการเกษียณไว้ในหัวไม่มากก็น้อย หลายคนอาจจะมีเป้าเรื่องการเงิน พอเก็บเงินได้เท่านี้ก็จะหยุดทำงานและไปนอนอยู่บ้านสบาย ๆ บางคนอาจจะเป็นเป้าเรื่องอายุ พออายุ 65 ก็หยุดละจะได้ใช้ชีวิตบั้นปลายไม่ต้องเหน็ดเหนื่อย

นั่นอาจจะเป็นการเกษียณในแบบที่เราคุ้นเคยกันแล้ว หลัง ๆ มาก็มีเทรนด์การเกษียณรูปแบบอื่น ๆ เพิ่มขึ้นมาด้วยอย่างเช่นพวก FIRE (Financial Independence, Retire Early) ที่ทำงานอย่างบ้าคลั่งเก็บเงินให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และเกษียณอายุตั้งแต่ยังเป็นหนุ่มเป็นสาว บางคนยังอยู่ในช่วงสามสิบต้น ๆ ก็เกษียณแล้วก็มี

แต่แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะมีทางเลือกหรือสามารถทำได้ตามแผนที่ทางวางเอาไว้ บางคนระหว่างทางสูญเสียงาน มีปัญหาสุขภาพ ภาระรับผิดชอบทางบ้าน ฯลฯ เหตุการณ์หลาย ๆ อย่างในชีวิตสามารถกระทบกับแผนเกษียณที่วางเอาไว้ทั้งสิ้น

สำหรับคนที่โชคดี ทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่วางเอาไว้ สามารถหยุดทำงานแล้วเกษียณได้อย่างที่ต้องการ แต่ก่อนที่จะทำแบบนั้นอยากชวนมาดูข้อดีข้อเสียของเรื่องนี้สักหน่อย เพราะแม้เราจะเกษียณอายุได้ บางทีเราอาจจะไม่ควรทำก็ได้

ข้อดี

1. สุขภาพแข็งแรงขึ้น

เมื่อไม่ต้องรีบตื่นไปทำงาน ตื่นสายได้ นอนหลับเพียงพอ ตื่นมาก็ไม่ต้องรีบยัดอาหารเช้าเข้าปากหรือไปนั่งกินแซนด์วิชที่โต๊ะทำงาน ถ้าเกษียณเราจินตนาการได้เลยว่าเมื่อหลุดออกมาจากวงจรชีวิตมนุษย์ออฟฟิศ สุขภาพที่ดีขึ้นก็จะตามมาด้วย แน่นอนว่าสุขภาพจิตก็ดีขึ้นเมื่อเครียดน้อยลงด้วย

2. มีเวลาสำหรับพักผ่อนเดินทางเยอะขึ้น

หลังจากติดอยู่กับข้อจำกัดวันหยุดสองสัปดาห์ต่อปีมานาน เมื่อเกษียณแล้วอยากไปไหนก็ได้ เมื่อไหร่ก็ได้ ตราบใดที่เงินพาไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกษียณตอนอายุยังน้อย ปัญหาสุขภาพก็ไม่ทำให้ชีวิตลำบากด้วย

3. โอกาสใหม่ในการทำงานที่อยากทำ

ถ้าคุณฝันว่าอยากจะทำงานในอุตสาหกรรมอื่นหรืออยากเป็นเจ้านายของตัวเอง ถ้าเกษียณแล้วอยากทำก็ทำได้ ยิ่งถ้าเกษียณเร็วก็มีเวลามากพอที่จะทำงานที่ตัวเองรักโดยไม่ต้องกังวลเรื่องเงินเดือนมากเท่าไหร่นัก

ถ้าอยากทำธุรกิจก็ไม่สายเกินไป บางคนบอกว่าเกษียณตอน 60 แล้วอยากทำธุรกิจเล็ก ๆ ของตัวเอง มันก็จะช่วยทำให้คุณกระฉับกระเฉงไปอีกนานหลายสิบปี ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก ๆ ด้วย

ข้อเสีย

1. มันก็อาจจะส่งผลเสียต่อสุขภาพได้เช่นกัน

มีงานวิจัยจากสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติเป็นองค์กรวิจัยเอกชนที่ไม่แสวงหากำไรของอเมริกา (National Bureau of Economic Research) ในปี 2008 บอกว่าการเกษียณทำให้สุขภาพจิตและความสามารถในการเคลื่อนไหวตัวเองแย่ลง นอกจากนั้นแล้วยังมีเรื่องปัญหาสุขภาพหัวใจและหลอดเลือดสมองตามมาด้วย

แม้ว่านั่นจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่อาจจะทำให้เราตัดสินใจเกษียณอายุช้าลง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนที่เกษียณตั้งแต่อายุยังน้อยจะต้องเผชิญปัญหาเหล่านี้กันทุกคน เพราะในรายงานก็บอกว่าคนที่เกษียณแล้วแต่ยังคงกระฉับกระเฉง ออกกำลังกายสม่ำเสมอและยังเข้าสังคมเจอคนอยู่บ่อย ๆ ก็มีโอกาสลดความเสี่ยงเรื่องพวกนี้ลงไปเยอะด้วยเช่นเดียวกัน

2. เงินที่เก็บมาต้องใช้ไปอีกนานกว่าเพราะเราอายุยืนกว่าเดิม

ถ้าเราเกษียณตั้งแต่อายุ 45-50 ปี แล้วอยู่ไปจนถึง 90-95 ปี นั่นหมายความว่าเงินที่เก็บมาต้องเพียงพอสำหรับ 40-50 ปีข้างหน้าเลยถ้าไม่มีการเติมเพิ่มเข้าไป แต่ถ้าเราเกษียณตอน 65-70 ปี ระยะเวลาตรงนั้นก็จะเป็นแค่ 20-30 ปีเท่านั้น การทำงานที่นานขึ้นก็ทำให้เราสามารถมีเงินเก็บที่เพิ่มขึ้นด้วย ยิ่งถ้าเป็นพอร์ตการลงทุนระยะยาว ผลตอบแทบก็มีโอกาสที่จะเพิ่มสูงขึ้นไปด้วย

อีกอย่างหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงก็คือว่าเงินที่เก็บมานั้นจะร่อยหรอลงไปเรื่อย ๆ ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ค่าหมอ ค่ายารักษาโรค ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันก็แพงขึ้น เราคิดว่ายิ่งแก่ยิ่งจะใช้จ่ายน้อยลงเพราะไม่ได้เอาเงินไปใช้อะไร นี่เป็นความเชื่อที่ผิด เพราะอย่างแรกเลยเราจะมีเวลาว่างเยอะขึ้น ก็มีโอกาสที่จะไปเที่ยว ไปกิน ไปจับจ่ายใช้สอยได้ง่ายขึ้น อย่างที่สองคือเมื่อแก่ตัวก็ต้องใช้จ่ายให้คนมาทำนู่นนี้ให้เสมอ (แม่บ้าน, คนสวน ฯลฯ) และอย่างที่สามที่สำคัญที่สุดคือเรื่องของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่จะมีแต่แพงขึ้นเรื่อย ๆ

การเก็บเงินสำหรับเกษียณต้องคำนึงถึงปัจจัยเหล่านี้ไปด้วย

3. ประกันสุขภาพแสนแพง

ถ้าคุณโชคดีเกษียณอายุออกมาในวัย 65-70 ปีและที่ทำงานเดิมมีสวัสดิการสุขภาพสำหรับพนักงานหลังเกษียณอายุก็ถือว่ารอดตัว แต่ถ้าคุณไม่ได้วางแผนล่วงหน้าแล้วมาซื้อประกันสุขภาพในวัยเกษียณ​ ค่าใช้จ่ายจะแพงเอามาก ๆ เพราะเรามีความเสี่ยงที่จะต้องเข้าโรงพยาบาลอยู่บ่อย ๆ ประกันสุขภาพปีหนึ่งตัวเลข 5-6 หลักถือว่าไม่ใช่เรื่องแปลกเลยด้วยซ้ำ

4. เบื่อและไร้เป้าหมายในชีวิต

คนที่เกษียณอายุไปแล้วหลายต่อหลายคนมีปัญหาในการปรับเปลี่ยนจากชีวิตการทำงานแบบเต็มเวลาไปเป็นชีวิตที่อิสระของการเกษียณ หลายคนจะคิดถึงเพื่อนที่ทำงาน หัวหน้า ลูกน้อง บางคนรู้สึกอยากกลับไปทำงานด้วยซ้ำ แต่เมื่อออกมาแล้วมันก็ไม่ได้ง่ายที่จะกลับไป แม้ตอนนี้หลาย ๆ ธุรกิจบ้านเราก็เริ่มเปิดรับพนักงานที่สูงอายุมาทำงานอย่างเช่น Amazon, HomePro, Big C, SE-ED หรือ IKEA แต่ทางเลือกก็น้อยกว่าคนที่อายุน้อยกว่ามาก

หลายคนถึงเวลาต้องเกษียณแต่ไม่มีแผนในชีวิตเลยว่าจะทำอะไรต่อ พอหยุดงานก็เริ่มเคว้งไม่มีอะไรทำ เป้าหมายในชีวิตหายไป บางคนเฉาเหมือนต้นไม้ที่ไม่ได้รับน้ำ ใส่ปุ๋ยพรวนดิน เพราะก่อนหน้านั้นทำแต่งาน ไม่เคยมีงานอดิเรก พอไม่มีงานทำปุ๊บก็ไม่รู้จะทำอะไร เริ่มเบื่อและสุดท้ายสมองเมื่อได้ใช้งานก็จะช้าลงไปเรื่อย ๆ

จุดสมดุล

สุดท้ายแล้วก็เหมือนทุกอย่าง มากไปก็ไม่ดี น้อยไปก็คงไม่เหมาะ เกษียณเร็วก็อาจจะรู้สึกเสียดายภายหลัง เกษียณช้าไปก็กลัวไม่มีเวลาได้ใช้ชีวิตที่เหลืออย่างมีความสุข เราก็ต้องหาจุดตรงกลาง

มันมีสิ่งที่เรียกว่า Phased Retirement หรือการปรับลดโหลดการทำงานให้น้อยลงแต่ยังทำงานอยู่ เมื่อถึงจุดหนึ่งของชีวิต ในวัยห้าสิบกลาง ๆ เราอาจจะเริ่มคุยกับหัวหน้างาน ปรับโหลดงานให้น้อยลง บางทีมีวันหยุดที่ยาวขึ้น หรือช่วงวันหยุดก็คือไม่ต้องติดต่อเรื่องงานเลย ขอทำงานที่บ้านไปเลยก็ได้ นี่จะช่วยทำให้คุณปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ที่ไม่มีงาน มีตารางชีวิตที่ยืดหยุ่นมากขึ้น และดูว่าการอยู่บ้านเฉย ๆ หรือไม่ต้องทำงานคุณจะรู้สึกยังไงบ้าง

อีกอย่างหนึ่งคือพยายามใช้วันหยุดของปีแบบเป็นก้อนให้เยอะที่สุดเท่าที่จะทำได้ ตรงนี้จะช่วยทำให้เรามีเวลาปลีกออกมาจากงานที่ทำ ใช้เพื่อลองทำอะไรใหม่ ๆ อาจจะเป็นเดินทางหรือหางานอดิเรกบางอย่างที่อยากทำก็ได้

สุดท้ายแล้วการตัดสินใจว่าจะเกษียณเมื่อไหร่และต้องเตรียมตัวแค่ไหนเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและไม่มีคำตอบตายตัว อย่างที่เราเห็นว่ามันไม่ใช่แค่เรื่องเงินหรือค่าใช้จ่ายเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องของสุขภาพของเราเองหรือภาระอื่น ๆ ที่เรายังมีอยู่ด้วย แต่ไม่ว่ายังไงก็ตามสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการวางแผนสำหรับตัวเราเอง ดูว่าสิ่งที่เราต้องการคืออะไร และเวลาที่เหลืออยู่บนโลกใบนี้จะใช้มันเพื่อทำอะไร

การเกษียณไม่ควรเป็นการหยุดทำ แต่มันควรเป็นจุดเริ่มต้นใหม่ที่คุณจะได้ใช้ชีวิตในเแบบที่ต้องการจริง ๆ มากกว่า