หากเราพูดถึง ‘ลงทุนศาสตร์’ เราจะคิดถึงอะไร?

บางคนอาจจะคิดถึงเพจการเงินที่มอบความรู้เกี่ยวกับธุรกิจและการลงทุน บางคนอาจจะคิดถึงหนังสือหุ้นขายดีติดอันดับ Best Seller อย่าง ’Stock Lecture’ หรือบางคนอาจคิดถึงชายหนุ่มอารมณ์ดีคนหนึ่งที่มักถูกเชิญไปเป็นแขกรายการหรือวิทยากรให้ความรู้เรื่องการเงินการลงทุนในรายการต่างๆ

แต่นั่นเป็นเพียงด้านหนึ่งของ “เบส-กิตติศักดิ์ คงคา” หรือลงทุนศาสตร์ ที่เราได้เห็นกันบ่อยๆ เท่านั้น

เขามีความสามารถมากมายหลายอย่างนอกจากเรื่องการลงทุน

เบสเป็นเภสัชกร เป็นเจ้าของธุรกิจ นอกจากนั้นยังเป็นนักเขียนนิยายมือฉมังที่ถูกซื้อไปทำละคร/ซีรีส์ และได้รับรางวัลจากงานเขียนมากมาย

แต่ที่สำคัญเขาเป็นคนช่างสังเกตและนักเล่าเรื่องที่สามารถหยิบโยงเรื่องราวในชีวิตมาร้อยเรียงกันได้อย่างสวยงามและน่าติดตาม

และนั่นก็เป็นที่มาของหนังสือเล่มใหม่ ‘ทรัพย์ หุ้น ทุน ศิลป์’ เล่มนี้

🎬 แนวคิดเบื้องหลังหนังสือ ‘ทรัพย์ หุ้น ทุน ศิลป์’

“ผมเริ่มต้นลงทุนปี 2014 แต่พอมาปี 2018-2019 ผมเข้ามาทำงานฝั่งเขียนบทละคร เป็นคนเบื้องหลังวงการ เขียนบทละคร ทำบทละคร พอเข้ามาทำงานตรงนี้ก็ได้เรียนรู้ศาสตร์ของการเล่าเรื่องผ่านละครและภาพยนตร์มากขึ้น [‘ทรัพย์ หุ้น ทุน ศิลป์’] เหมือนเป็นการประกอบศาสตร์สองด้านเข้าหากัน”

เบสเขียนแนะนำหนังสือเล่มนี้เอาไว้ว่า

“‘ทรัพย์ หุ้น ทุน ศิลป์’ จะพาทุกคนไปผจญภัยกับการตีความศิลปะทั้งละครและภาพยนตร์ เชื่อมสู่โลกเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และตลาดหลักทรัพย์ จากชีวิตประวัติของชายก้องโลกสู่แนวคิดการลงทุนแบบถือลืม จากตำนานรัก 3,650 วันสู่พลวัตการเคลื่อนไหวประชากรระหว่างประเทศ จากภาพยนตร์รางวัลออสการ์สู่แนวโน้มการเคลื่อนไหวทางสังคมโลก”

หนังสือเล่มนี้จะถูกแบ่งออกเป็นบทสั้นๆ อ่านง่าย สนุก แต่เต็มไปด้วยความรู้ แต่ที่สำคัญมันเป็นหนังสือที่เผยด้าน ‘อารมณ์และความรู้สึก’ ของลงทุนศาสตร์ผสมเข้าไปในเรื่องราวเหล่านั้นด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยได้เห็นจากงานเขียนด้านการเงินของเบสเล่มก่อนๆ

ยกตัวอย่างบทแรกที่พูดถึงภาพยนตร์เรื่อง “ยอดมนุษย์เงินเดือน” ที่เป็นหนังเปลี่ยนชีวิตของเขา

เบสเล่าว่าด้วยบริบทของยุคสมัยที่กำลังจะเรียนจบประมาณปี 2012-2013 ตอนนั้นคำว่า ‘ความฝัน’ ถือเป็นเทรนด์ของคนรุ่นใหม่ “ตอนนั้นร้านกาแฟก็จะบูมมาก สตาร์ตอัปก็จะดังมากๆ คนตั้งเป้าหมายไปที่ความฝัน เราทำสิ่งนี้เพราะอะไร แต่ผมเนี้ยมีลักษณะชีวิตคล้าย Gen X เพราะที่บ้านมีธุรกิจ เหมือนชีวิตถูกขีดเส้นไว้อยู่แล้ว”

มันคือช่วงเวลาที่เคว้งคว้าง ไม่รู้ว่าความฝันของตัวเองคืออะไร เลยกลายเป็นการตั้งคำถามกับตัวเองว่า “ถ้าเราไม่มีความฝันมันผิดรึเปล่า?”

“วันที่ได้ดูยอดมนุษย์เงินเดือน ตัวละครหลักเป็นคนที่ไม่มีความฝันอะไร เป็นพนักงานเงินเดือน เลื่อนขั้นไปเรื่อยๆ ทำงานเก็บเงินไปเรื่อยๆ ส่วนภรรยาก็มีความฝันอะไรของตัวเองไป”

เบสบอกว่า “ผมไม่คิดว่าหนังจะให้ทางลงกับคำถามได้ดีเด่อะไรมากมาย ผมตีตั๋วเข้ามาดูหนังตลก ไม่ใช่หนังชีวิต แต่สิ่งที่ไม่น่าเชื่อที่สุดคือผมค้นพบคำตอบในหนังเรื่องนี้ พระเอกตอบกลับคนรักของเขาไปว่า ‘ผมมีของสะสมเป็นเงิน ผมมีความฝันคือการทำงาน ผมรักผมฝันกับสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เหรอ’”

มันเป็นหนังที่บอกกับเราว่า ‘เราเป็นคนธรรมดา มันก็ไม่ได้ผิดอะไรนะ’

“เราสามารถมีชีวิตที่เราอยากมีได้ ไม่ต้องมีชีวิตเหมือนอย่างที่สังคมในยุคสมัยนั้นพยายามบอกเราว่าชีวิตที่ดีคือยังไง”

แต่แน่นอนหลังจากนั้นเบสก็เริ่มเรียนรู้เกี่ยวกับการลงทุน การเขียนหนังสือ ซึ่งกลายเป็นงานอดิเรกที่เขาหลงใหลและทำได้ดีมากๆ

บางทีความฝันก็เกิดขึ้น แบบที่เราไม่รู้ตัวเช่นเดียวกัน

❤️ ถ้ามีคนถามว่าควรเลือกอะไรระหว่างความฝันกับความเป็นจริง

ในตอนที่สองของหนังสือ เบสเล่าถึงเรื่องราวของภาพยนตร์เรื่อง “Fast & Feel Love”

โดยเนื้อหาคือพระเอกต้องการตามหาความฝันมุ่งมั่น ส่วนแฟนก็มีความฝันอยากมีครอบครัวที่อบอุ่น แต่ก็ติดปัญหาที่เรื่อง ‘เงิน’ เพราะทั้งคู่ก็ไม่ได้ร่ำรวยอะไร

“หนังเรื่องนี้จึงกลายเป็นภาพสะท้อนของโลกชีวิตจริงว่า ‘ไม่มีอะไรง่ายเลย’ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนชนชั้นกลางทั่วไป ที่อยากจะทำตามความฝัน แต่สุดท้ายถูกสิ่งที่เรียกว่าข้อจำกัดทางการเงินฉุดรั้งเอาไว้ตลอดเวลา”

เพราะการตามหาความฝันอย่างเดียว โดยไม่สนใจเลยว่าจะเอาเงินมาจากไหน ทุ่มสุดตัวไปก่อนแล้วเรื่องอื่นค่อยว่ากัน มันเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ในโลกแห่งความเป็นจริง

แต่ในขณะเดียวกันการอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริงทั้งหมด หาเงินเป็นก้อนจนมั่นใจว่าจะเอาไปตามความฝันได้แล้ว เมื่อไหร่กันนะที่มันจะเกิดขึ้น

“น่าเสียดายว่าชีวิตจริงไม่มีสูตรสำเร็จ และตัวเลือกแต่ละข้อ ก็อาจจะมีคำตอบเฉลยว่าถูกหรือผิดต่างกันไปในแต่ละคนแต่สิ่งที่ผมเชื่อที่สุดคือ หนังเรื่องนี้เน้นย้ำเป็นอย่างยิ่งถึงการวางแผนการเงินและเข้าใจชีวิตตัวเองด้านการเงินให้ดีมากพอ” เบสเขียนเล่าไว้ในหนังสือ

ผมถามเบสว่า “ถ้ามีคนถามว่าควรเลือกอะไรระหว่างความฝันกับความเป็นจริง?”

เบสตอบว่า “ถ้ามีคนมาถามผมให้เลือกระหว่างความฝันกับความเป็นจริง ผมก็จะบอกทุกคนว่าให้ความสำคัญกับความเป็นจริงก่อนก็ได้ แต่ก็ต้องดูด้วยว่าความฝันเรามีวันหมดอายุไหม เช่นอยากเป็นไอดอล แบบนี้พออายุมากขึ้นมันก็เป็นไม่ได้แล้ว แบบนี้ก็อาจจะต้องวิ่งตามความฝันก่อน แต่ถ้าความฝันไม่ได้เร่งรัดขนาดนั้น ก็ให้เวลากับการตามความจริงดีกว่า”

🔑 “ผมเห็นหลายๆ คนที่วิ่งตามความฝันแล้วไม่มีความมั่นคงทางด้านการเงิน ความเครียด ความกดดันต่างๆ มันทำให้อิสรภาพในการทำตามความฝันมันน้อยลงไปด้วย ไม่มีเวลาได้ทดลอง ไม่มีเวลาให้ได้คิด เพราะสุดท้ายก็มัวแต่มุ่งเน้นที่จะเอาชีวิตรอดก่อน”

เพราะฉะนั้นการออกไปตามความฝันไม่ใช่ทำไม่ได้ แต่อยู่ในโลกความเป็นจริงสักหน่อย แล้วค่อยออกวิ่งตามความฝันก็ได้ถ้าฝันนั้นไม่ได้มีวันหมดอายุเร็วๆ นี้

แม้จะเป็นหนังสือเรื่องการเงินการลงทุน แต่เบสบอกว่า “หนังสือเล่มนี้จะไม่ใช่หนังสือที่อ่านจบแล้วไปซื้อหุ้นตัวนั้นตัวนี้ทันที”

“แต่จะเป็นหนังสือที่ทำให้เราสามารถเชื่อมโยงเรื่องราวรอบๆ ตัว ปรากฏการณ์ สถานการณ์ ข่าวสาร ศิลปะ ภาพยนตร์ หรืออะไรก็ตามเข้ากับเรื่องการเงินการลงทุนได้”

เขายกตัวอย่างเรื่องของ ‘ลาบูบู้’ ที่กำลังเป็นกระแสว่า “คนทั่วไปมองลาบูบู้ก็อาจจะมองว่าเป็นตุ๊กตา น่ารักจังอยากได้สักตัว แต่สำหรับผมมองว่า ใครนะเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ บริษัทไหนที่ได้ประโยชน์ มันเชื่อมโยงกันได้หมด นี่แหละคือสิ่งที่หนังสือเล่มนี้จะมอบให้ เป็นกรอบคิดที่นำเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน มาเกี่ยวโยงกับการเงินการลงทุน”

เรื่องเงินหรือการลงทุนเราอาจจะมองว่าเป็นเรื่องของตัวเลขหรือสัดส่วนหลักการคณิตศาสตร์ แต่อย่าลืมว่าอีกด้านหนึ่งของสมการคือมนุษย์ ซึ่งมีอารมณ์ความรู้สึก เหตุผลหลักการอาจจะอธิบายทั้งหมดไม่ได้

แม้แต่ในโลกทุนนิยมก็มีอะไรที่มากกว่าแค่เงิน และนั่นคือหัวใจของหนังสือ ’ทรัพย์ หุ้น ทุน ศิลป์’ ที่ “เบส-กิตติศักดิ์ คงคา” นักลงทุน นักธุรกิจ นักเขียน นักเล่าเรื่อง และมนุษย์คนหนึ่งพยายามจะบอกกับผู้อ่านทุกคน