การแต่งงานหรือการใช้ชีวิตคู่กับใครสักคนนั้นเป็นเรื่องซับซ้อนเสมอ โดยเฉพาะเรื่องเงินและความสัมพันธ์ สองประเด็นที่แค่ตัวมันเองก็ยุ่งยากแล้ว พอเอามารวมกันยิ่งชวนปวดหัวเข้าไปอีก คือมันน่าปวดหัวถึงขั้นว่ามีการเก็บสถิติมาบอกว่า 36.1% ของคู่สมรสที่หย่ากันมีเหตุผลมาจากเรื่องเงินนี่แหละ ซึ่งก็ยิ่งไม่น่าแปลกใจอีกที่ว่าประมาณ 24% ของคู่รัก (หรือประมาณ 1/4) เลือกที่จะแยกบัญชีเงินของใครของมันไปเลย

แต่สำหรับคู่รักส่วนใหญ่แล้วมักจะเลือกทางที่ง่ายกว่าคือแชร์ไปเลย มีปัญหาอะไรก็แบกด้วยกัน เพราะเป็นคู่กันแล้วก็หมายถึงต้องฟันฝ่าไปด้วยกันนั่นแหละ (ซึ่งที่จริงก็มีผลวิจัยออกมาด้วยนะครับว่าคู่รักที่มีบัญชีร่วมกันแล้วส่วนใหญ่จะมีความสัมพันธ์ที่ดี เพราะสบายใจ มีเป้าหมายร่วมกัน และไม่ก้าวก่ายกันมาก)

โอลิเวีย คริสเตนเซ่น (Olivia Christensen) เล่าถึงเรื่องราวของเธอกับสามีไว้บนเว็บไซต์ Insider ว่าหลังจากคบหาจริงจังกันเมื่อ 14 ปีก่อน ทั้งคู่ก็แชร์บัญชีธนาคารและทุกอย่างในความสัมพันธ์ด้วยกันมาโดยตลอด ใช้หลักคิด “ของคุณก็คือของฉัน” มาตั้งแต่ตอนนั้น แต่แล้วปัญหาเรื่องการเงินก็เริ่มเกิดขึ้น

หลักการเกี่ยวกับเงินของคู่รักไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน

เราอาจจะคิดว่าการเลือกคู่ชีวิตที่มีเป้าหมายเดียวกันและให้คุณค่ากับสิ่งต่าง ๆ เหมือนกันนั้นจะทำให้ไม่ทะเลาะกันเรื่องเงินในความสัมพันธ์ คริสเตนเซ่นบอกว่านั่นเป็นความเชื่อที่เธอคิดเช่นกัน แต่สิ่งที่ประสบจริง ๆ นั้นไม่ใช่เลย เธอกับสามีมีเป้าหมายและให้คุณค่ากับสิ่งที่เหมือน ๆ กัน แต่กลยุทธ์ทางการเงินของพวกเขาแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

แม้ทั้งคู่จะให้ความสำคัญกับความสะดวกสบาย แต่สำหรับสามีของเธอแล้วความสะดวกสบายหมายถึงความรู้สึกปลอดภัย ซึ่งเขาก็ไปถึงจุดนั้นได้โดยการเก็บเงินเพื่อจะจัดการกับปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต สำหรับคริสเตนเซ่นความสะดวกสบายก็คือการใช้ชีวิตอย่างความสะดวกสบายตรงตัวแบบนั้นเลย

พูดอีกอย่างก็คือว่าสามีของเธอเป็นนักเก็บออม ส่วนเธอเป็นคนชอบใช้จ่ายนั่นแหละ

ไม่ว่าคุณจะอยู่ฝั่งไหนของสมการ หลายคนก็อาจจะกำลังอยู่ในความสัมพันธ์แบบสองขั้ว นักออม/นักจ่าย แบบนี้อยู่ก็ได้

ถ้าคุณเป็นฝั่งนักออม การเข้าไปดูบัญชีแล้วเห็นยอดเงินน้อยกว่าที่คิดก็จะเริ่มอยู่ไม่สุข ไม่สบายใจ

ถ้าคุณเป็นฝั่งนักจ่าย คุณก็รู้สึกว่าเดี๋ยวต้องทะเลาะกันอีกแน่เลย หลังจากตอนบ่ายไปซื้อกาแฟแก้วที่สองราคาร้อยกว่าบาท

การแชร์บัญชีการเงินนั้นมักจะมีปัญหาประมาณนี้ ทุกคนไม่มีความสุขเลย บางทีทะเลาะกันบ้านแตก ความสัมพันธ์จบได้เลยถ้าไม่หาวิธีจัดการกับปัญหาตรงนี้แล้วหาแนวทางที่ทั้งสองฝั่งยอมรับ

หลังจากทะเลาะและเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้มาหลายต่อหลายปี คริสเตนเซ่นแชร์กฎความสัมพันธ์ 3 ข้อในการใช้ชีวิตคู่ที่ทำให้อยู่มาได้อย่างสงบสุขจนถึงตอนนี้และที่สำคัญเดินสู่เป้าหมายการเงินแบบเป็นทีมอีกด้วย

1. ความซื่อสัตย์

เรื่องนี้สำคัญมาก เราทราบกันอยู่แล้วว่าความซื่อสัตย์เป็นรากฐานของความสัมพันธ์ที่ดี แต่เมื่อพูดถึงเรื่องเงินมันต่างจากเรื่องการนอกใจหรือมีคนอื่นเล็กน้อย เพราะเมื่อคนสองคนพยายามที่จะแชร์เกี่ยวกับเรื่องเงิน ปัญหามักจะเกิดจากความตั้งใจที่ดีแต่มองแตกต่างกันคนละแบบ

คริสเตนเซ่นเล่าว่าหลายครั้งเธอพยายามเก็บซ่อนการซื้อของต่าง ๆ จากสามีโดยบอกกับตัวเองว่าไม่อยากทะเลาะกันอีกเรื่องนี้ ส่วนสามีก็อาจจะรู้สึกว่าควรจะแบ่งเงินเก็บไว้บางส่วนเพื่อป้องกันไม่ให้คู่ครองใช้จ่ายมากจนเกินไป
แต่ถ้าเอาความตั้งใจที่ดีต่าง ๆ ที่เคลือบการกระทำตรงนี้ออกไป ส่วนใหญ่แล้วมันก็คือการโกหกซึ่งกันและกัน ไม่ซื่อสัตย์นั่นแหละ

การโกหก แอบทำนู้น ทำนี่ โดยคิดว่าเป็นความตั้งใจดี กลายเป็นปัญหาที่ใหญ่กว่าคือเรื่องความเชื่อใจ นอกจากนั้นแล้วพอเป็นเรื่องเงิน ยิ่งทำให้ทั้งคู่ไม่รู้เลยว่าตอนนี้สถานะทางการเงินของครอบครัวเป็นยังไง เมื่อทะเลาะกัน เป้าหมายการเงินก็ไม่ต้องพูดถึงเลยมันไปไม่ถึงอยู่แล้ว

คำแนะนำของคริสเตนเซ่นคือการเปิดเผยทุกอย่างให้กับคู่ของคุณเลยครับ แม้มันจะนำมาซึ่งการทะเลาะกันและสถานการณ์ที่เราอาจจะควบคุมไม่ได้ ตรงนี้จะช่วยทำให้เห็นว่าหลุมที่ช่วยกันขุดด้วยการโกหก ทำอะไรลับหลังนั้นลึกขนาดไหน เมื่อเข้าใจแล้วนี่แหละถึงจะช่วยกันแก้ปัญหาได้

2. ความเคารพซึ่งกันและกัน

เมื่อสงครามสงบลง ทะเลาะกันเสร็จเรียบร้อย อย่าไปหาว่าใครผิดหรือถูก เพราะนั่นยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลงไปกว่าเดิม

สำหรับเธอแล้วชีวิตคู่ของสองขั้วที่แตกต่างกัน นักออม/นักจ่าย นั้นสามารถหาจุดที่ลงตัวได้โดยการจัดหาสมดุลตรงกลาง ใช้ความชอบและความเชี่ยวชาญของแต่ละคนให้เกิดประโยชน์

หลังจากวางแผ่ทุกอย่างบนโต๊ะแล้ว มีเงินเท่าไหร่ ทรัพย์สินอะไรบ้าง หรือ หนี้ก้อนโตที่ซ่อนอยู่ตรงไหน หลังจากนั้นก็เริ่มวางแผนกันได้ครับ

สามีของเธอเป็นนักออมตัวยง เป็นคนที่ทราบดีว่าถ้าอยากไปถึงเป้าหมายอิสรภาพทางการเงินต้องทำยังไงบ้าง ความสามารถและความรู้ตรงนี้จะช่วยทำให้ทั้งคู่เห็นตรงกันว่าต้องมีเงินเก็บเท่าไหร่ ใช้เงินตรงไหนได้บ้างในแต่ละเดือน ตรงนี้ก็ช่วยทำให้เป้าหมายชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งคริสเตนเซ่นเองก็ต้องยอมรับและทำตามกฎกติกาตรงนี้ด้วยความเคารพ

ส่วนคริสเตนเซ่น ด้วยความที่เธอชอบจับจ่ายและกล้าที่จะรับความเสี่ยงได้เยอะกว่า ตรงนี้ก็ช่วยผลักดันให้สามีทำในสิ่งที่มีความเสี่ยงมากหน่อย อย่างเช่นการประกาศขายบ้านในจังหวะที่ตลาดกำลังบูม จนสร้างกำไรได้ 4.2 ล้านบาท หรืออย่างการยอมลงทุนซื้อของที่ดี ๆ มาใช้อย่างฟูกที่นอนหรือการเดินทางท่องเที่ยว ถ้าไม่มีเธอ เขาก็คงไม่ไปไหน อยู่แต่บ้านและนอนฟูกที่นอนมือสองอยู่แบบนั้น ในมุมนี้ฝั่งสามีเองก็ต้องเคารพในตัวคริสเตนเซ่นด้วยเช่นกัน

3. ถ่อมตน

ความเคารพซึ่งกันและกันนั้นเป็นเรื่องที่มากกว่าการแค่มองเห็นว่าอีกฝั่งนั้นมีความสามารถหรือทำอะไรได้บ้าง แต่มันหมายถึงการรับรู้ข้อด้อยของตัวเองที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ด้วยว่าเป็นเพราะอะไร

ถ้าคุณเป็นนักจ่ายก็อาจจะรู้สึกว่าคนที่เก็บเงินทุกบาทนั้นเป็นเรื่องที่ไร้สาระมาก ไม่มีความสุขในชีวิตเลย มัวแต่คิดถึงอนาคตที่ยังมาไม่ถึง คริสเตนเซ่นก็เป็นเช่นนั้น แต่เธอบอกว่าความคิดแบบนั้นไม่ใช่เรื่องถูกต้อง เราต้องตระหนักตรงนี้ก่อน เพราะคนที่เก็บเงินก็เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน ซึ่งเราไม่รู้หรอกว่ามันจะเกิดเมื่อไหร่ แต่เตรียมตัวเอาไว้ก่อนเป็นเรื่องที่สมควรทำ เพราะฉะนั้นเราต้องถ่อมตนแล้วสะท้อนดูความคิดของตัวเองเสมอ

ส่วนคนที่เป็นนักออม ก็ต้องยอมรับครับว่าเราจะไปรอใช้ชีวิตในอนาคตโดยทำให้ชีวิตตอนนี้เหี่ยวแห้งจนไม่มีความสุขก็ไม่ได้เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นการเก็บอย่างเดียวก็ไม่ถูกต้องเสมอไป

ความรู้สึกที่ว่าตัวเองเหนือกว่า ความคิดตัวเองคือสิ่งที่ถูกต้องนั้นเป็นการมองข้ามความรู้สึกหรือสิ่งที่คู่ครองของเราเป็น ซึ่งจะกลายเป็นการสร้างสถานการณ์ที่ต้องกลับไปโกหก ทำอะไรหลบๆซ่อนๆ นั่นเอง

คู่ของคริสเตนเซ่นนั้นมีเป้าหมายทางการเงินเหมือนกัน ทั้งคู่อยากเกษียณและมีความมั่งคั่งมากพอ เพราะฉะนั้นสิ่งแรกที่พวกเขาต้องทำคือยอมรับว่าวิถีของตนเองนั้นไม่ใช่ทางเดียวที่ถูกต้อง สามีของเธอต้องเรียนรู้ที่จะเสี่ยงบ้าง ส่วนคริสเตนเซ่นก็เรียนรู้ที่จะหยุดใช้จ่ายพร่ำเพรื่อ และเก็บเงินเข้ากองกลางเพื่อเกษียณก่อนทุกครั้งเมื่อมีเงินเข้ามา

กฎ 3 ข้อที่ฟังดูไม่ยาก และเชื่อว่าหลาย ๆ คนน่าจะนำไปปรับใช้ในความสัมพันธ์ของตัวเองได้ พอเป็นเรื่องการเงินในความสัมพันธ์ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่สะสมมากขึ้น กัดกร่อนความรู้สึกของทั้งสองฝ่าย ที่แม้จะรักกัน หวังดีต่อกัน แต่กลับไม่เข้าใจซึ่งกันและกัน สิ่งสำคัญคืออย่าเอาแต่ความต้องการของตัวเองเป็นที่ตั้ง แต่เป็นการทำให้ดีที่สุดเพื่อกันและกัน พอเราซื่อสัตย์ เคารพอีกฝ่าย และไม่ถือเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง ทุกอย่างก็จะง่ายขึ้นและเงินในบัญชีก็จะเพิ่มขึ้นด้วย