1. รายได้จากการทำงาน

ขาที่หนึ่งที่ต้องทำให้แข็งแรงเป็นลำดับแรก คือ “ขารายได้จากการทำงาน” เป็นขาสำคัญที่ทุกคนต้องมีกันอยู่แล้ว แต่จะมีมากหรือน้อยก็แตกต่างกันไป ซึ่งไม่สามารถบอกตัวเลขที่เหมาะสมเป็นจำนวนที่เท่ากันได้

เช่น บางคนบอกว่า รายได้ 30,000 บาทต่อเดือนพอแล้ว แต่ถ้าถามอีกคนอาจบอกว่า รายได้ 40,000 บาทก็ยังไม่พอ

แน่นอนว่า รายได้จากการทำงาน ยิ่งหาได้มากเท่าไรก็ยิ่งดี อย่างไรก็ตาม เราไม่สามารถกำหนดรายได้ส่วนนี้ตามอำเภอใจได้ และอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่ารายได้ที่มีอยู่จะสิ้นสุดลงแบบกระทันหันหรือไม่ และนั่นคือ “ความเสี่ยง”

ทั้งนี้ ความหมายของ “รายได้” แต่ละคนก็อาจจะต่างกัน บางคนใช้ความหมายแคบ บางคนใช้ความหมายกว้าง

ความหมายแคบ: รายได้ = เงินเดือน
ความหมายกว้าง: รายได้ = เงินเดือน + รายได้เสริม

ดังนั้น การมีรายได้จากเงินเดือนแค่ทางเดียว ย่อมมีความเสี่ยงมากกว่า คนที่มีรายได้ทั้งจากเงินเดือน และอาชีพเสริม

และถึงแม้ว่ารายได้ของแต่ละคนไม่อาจวัดกันแบบเปะๆ ได้ แต่มันสามารถประเมินระดับที่เหมาะสมได้ ด้วยการคำนวณอัตราส่วนความอยู่รอด (Survival Ratio)

🔎สูตรคำนวณ: อัตราส่วนความอยู่รอด = รายได้ต่อเดือน ÷ ค่าใช้จ่ายต่อเดือน

➡ค่าที่เหมาะสม: มากกว่า 1

คำนวณอัตราส่วนความอยู่รอด (Survival Ratio) จะช่วยให้เรารู้ได้ว่าในแต่ละเดือนรายได้ที่เรามีสามารถทำให้เราอยู่ได้บนค่าใช้จ่ายที่เรามีหรือไม่ ถ้าค่ามากกว่า 1 คือ “อยู่รอด” แต่ถ้าค่าน้อยกว่า 1 ค่อนข้างน่าเป็นห่วง เพราะรายได้ที่มีไม่ครอบคลุมรายจ่ายในแต่ละเดือน

📌ยกตัวอย่างเช่น

คุณออมสิน มีรายได้จากเงินดือนอยู่ที่ 30,000 บาท และมีรายได้เสริมจากขายของออนไลน์ประมาณ 20,000 บาทต่อเดือน และมีค่าใช้จ่ายต่อเดือนอยู่ที่ 40,000 บาท

คำนวณ: อัตราส่วนความอยู่รอด = (30,000 + 20,000) ÷ 40,000 = 1.25

ในเคสของคุณออมสิน Survival Ratio อยู่ที่ 1.25 หมายความว่า “อยู่รอด” คือ มีรายได้จากการทำงานที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมดแล้ว ซึ่งถือว่า ขาของการหารายได้จากการทำงานค่อนข้างแข็งแรง

2. รายได้จากการลงทุน

ขาที่สองเป็น “ขารายได้จากการลงทุน” เบื้องต้นให้ลองสำรวจตนเองว่า ถ้าวันหนึ่งทำงานไม่ได้แล้ว หรืออยู่ในภาวะที่ไม่มีรายได้จากการทำงาน เรามีช่องทางทำเงินมาจากส่วนอื่นอีกหรือไม่?

ถ้าคำตอบคือ “ไม่มี” นั่นแสดงว่า เรากำลังมีรายได้แค่ทางเดียว ที่มาจาก Active Income เท่านั้น

ในโลกของรายได้ จริงๆอาจแบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลักๆ ได้แก่

(1) Active Income = รายได้จากการทำงาน
(2) Passive Income = รายได้ที่เกิดจากการลงทุน

แน่นอนว่า ถ้าอยากมีชีวิตที่มั่งคั่งและมั่นคง การมี Active Income อย่างเดียวไม่เพียงพอ ต้องสร้าง Passive Income ที่มาจากการลงทุนด้วย

ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในกิจการห้างร้าน ลงทุนปล่อยเช่าอสังหาฯ หรือลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินก็ตาม

ซึ่งถ้าอยากรู้ว่าเรามีความมั่งคั่งแล้วหรือยังก็สามารถคำนวณได้ด้วย “อัตราส่วนความมั่งคั่ง (Wealth Ratio)”

🔎สูตรคำนวณ: อัตราส่วนความมั่งคั่ง = รายได้จากการลงทุนต่อเดือน ÷ ค่าใช้จ่ายต่อเดือน

➡️ค่าที่เหมาะสม: มากกว่า 1

การคำนวณอัตราส่วนความมั่งคั่ง (Wealth Ratio) จะช่วยให้เรารู้ได้ว่าในแต่ละเดือน เรามีรายได้ที่มาจากการลงทุนครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่มีแล้วหรือยัง ถ้าค่ามากกว่า 1 แสดงว่า ครอบคลุมแล้ว แม้เราจะไม่มีรายได้จากการทำงานเลย เราก็จะไม่เดือดร้อนอะไร เพราะยังมีรายได้ที่มาจากการลงทุนนั่นเอง

📌ยกตัวอย่างเช่น

คุณออมทรัพย์ มีรายได้จากผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้น และการปล่อยเช่าอสังหาริมทรัพย์ประมาณ 30,000 บาทต่อเดือน ซึ่งคุณออมทรัพย์มีค่าใช้จ่ายต่อเดือนคร่าวๆ อยู่ที่ 40,000 บาท

คำนวณ: อัตราส่วนความมั่งคั่ง = 30,000 ÷ 40,000 = 0.75

ในเคสของคุณออมทรัพย์ Wealth Ratio อยู่ที่ 0.75 ซึ่งมีค่าไม่ถึง 1 หมายความว่า แม้คุณออมทรัพย์จะมีรายได้จากลงทุน แต่ก็ยังไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายที่มี ดังนั้น ยังคงต้องทำงานอยู่เพื่อนำเงินมาเป็นค่าใช้จ่าย และถือว่าคุณออมทรัพย์ยังไม่มีความมั่งคั่งทางการเงินนั่นเอง

3. เงินสำรองฉุกเฉิน

ขาที่ 3 เป็นขาที่จะช่วยให้มีความมั่นใจพร้อมตั้งรับเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันในระยะสั้นได้ นั่นก็คือ “ขาเงินสำรองฉุกเฉิน”

ถึงแม้ว่าเราจะมีรายได้จากการทำงาน หรือรายได้จากการลงทุน ที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายแล้ว แต่อย่าลืมว่ามันอาจจะมีเหตุไม่คาดฝันไว้ เช่น ถูกให้ออกจากงาน ทำให้ขาดรายได้กระทันหัน หรือต้องการใช้เงินแบบเร่งด่วน การไปถอนเงินลงทุนออกมาก็อาจจะไม่ทันการณ์

แต่ทั้งนี้ “เงินสำรองฉุกเฉิน” ....

มีน้อยไป = ไม่ดี (เพราะอาจจะไม่เพียงพอให้ใช้ยามฉุกเฉินได้จริง)
มีมากไป = ไม่ดี (เพราะส่วนที่เกินจะทำให้เสียโอกาสในการลงทุน)

ระดับที่ “เหมาะสม” ควรมี ดังนี้

🔎ในภาวะปกติ ควรเก็บอยู่ที่ 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน
🔎ในภาวะเศรษฐกิจไม่แน่นอน ควรเก็บอยู่ที่ 6-12 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน

📌ตัวอย่างเช่น

คุณออมเก่ง มีค่าใช้จ่ายต่อเดือนอยู่ที่ 30,000 บาท ดังนั้น ในสภาวะปกติ ควรมีเงินสำรองฉุกเฉินอย่างน้อย 90,000 บาท(3เท่า) และมากที่สุด 180,000 บาท (6 เท่า) นั่นเอง จึงจะถือว่าขานี้ค่อนข้างแข็งแรง

4. ทำประกันคุ้มครองความเสี่ยง

มาถึงขาสุดท้าย ถือว่าเป็นขาที่ขาดไม่ได้เช่นกัน ถ้าอยากมั่นคงจริงๆ เพราะมีหลายคนที่คิดว่ามีเงินได้ถึงจุดที่มั่งคั่งแล้ว และคิดว่าไม่น่าจะมีอะไรมาทำลายได้ สุดท้ายต้องมาเสียเงินทั้งชีวิตให้กับค่ารักษาพยาบาลจนหมดตัว

อีกอย่างหนึ่งคือ ขานี้มีหลายคนมักคิดว่าเดี๋ยวคอยใช้ “ขาของเงินสำรองฉุกเฉิน” ก็ได้ บอกเลยว่าการวางแผนแบบนี้ ไม่ค่อยเหมาะสมและรัดกุมเท่าที่ควร ควรจะแยกกันไปเลยดีกว่า

เพราะ วันหนึ่งเราอาจป่วยเป็นโรคร้าย ต้องใช้เงินรักษาก้อนใหญ่ วันหนึ่งเราอาจประสบอุบัติเหตุ ต้องพักรักษาตัว ขาดรายได้จากการทำงาน

สิ่งเหล่านี้คือ “ความเสี่ยงทางการเงิน” ที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งหลังจากที่เกิดวิกฤติการระบาดใหญ่ คนไทยจำนวนมากก็หันมาสนใจทำ “ประกันสุขภาพ” กันมากขึ้น เพื่อเป็นหลักรับรองว่าหากเจ็บป่วยขึ้นมา อย่างน้อยก็มีคนจ่ายค่ารักษาให้ หรือได้เงินชดเชย

แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่คิดว่า การทำประกันสุขภาพนั้นไม่คุ้มค่า เพราะถ้าไม่เจ็บป่วยก็จะไม่ได้ใช้ เท่ากับว่าเราเสียเงินค่าเบี้ยทิ้งไปเปล่าๆ

ทั้งที่จริงแล้วการซื้อประกันสุขภาพ ก็ถือว่าเป็น “ความฉลาดทางการเงิน” อย่างหนึ่ง ซึ่งจะช่วยให้เราวางแผนการเงินได้อย่างรัดกุมมากขึ้น

5. พนักพิง: แผนเกษียณ

จากทั้ง 4 ขาของเก้าอี้ทางการเงิน ถ้ามีแล้ว รับรองว่าจะช่วยให้ชีวิตมีความมั่นคงและปลอดภัยทางเงินมากขึ้น แต่ถ้าอยากรู้สึกว่าอยากมีความสบายใจเพิ่ม ควรจะมีการตั้งเป้าหมายเงินก้อนที่จะใช้หลังเกษียณโดยไม่ต้องทำงานร่วมด้วย

เพราะเมื่อไรที่เราถึงเป้าหมายแล้ว แสดงว่าเราจะหยุดพักพิงอิงหลังเอนกายวันไหนก็ได้ โดยไม่มีเรื่องเงินเป็นที่ตั้ง

🔎ก่อนอื่นต้องถามตัวเองว่า เราอยากใช้ชีวิตแบบไหน?

การวางแผนเกษียณ มักจะออกแบบตามไลฟ์สไตล์ของเรา ลองถามตัวเองดูว่าหลังเกษียณแล้ว เราอยากจะใช้ชีวิตแบบไหน? แล้วตั้งเป้าหมายตามนั้น โดยสามารถใช้สูตรคำนวณคร่าวๆ ที่เรียกว่า “Replacement Ratio” เพื่อประเมินจำนวนเงินคร่าวๆ ที่เราจะใช้หลังเกษียณ

➡️ สูตรที่ 1 : คิดจากรายได้ก่อนเกษียณ

ลองคำนวณดูว่า ช่วง 1 ปีก่อนเกษียณ เรามี “รายได้” เดือนละเท่าไหร่ โดยค่าใช้จ่ายต่อเดือนหลังเกษียณ ก็คาดว่าจะใช้ประมาณ 70% ของตัวเลขนั้น

เช่น ตอนอายุ 59 รายได้เดือนละ 100,000 บาท
ค่าใช้จ่ายต่อเดือนหลังเกษียณ = ประมาณเดือนละ 70,000 บาท

➡️ สูตรที่ 2 : คิดจากรายจ่ายก่อนเกษียณ

แบบนี้จะคำนวณจาก “รายจ่าย” ช่วง 1 ปีก่อนเกษียณ ซึ่งค่าใช้จ่ายต่อเดือนหลังเกษียณ ก็คาดว่าจะใช้ประมาณ 70% ของตัวเลขนั้น

เช่น ตอนอายุ 59 มีรายจ่ายเดือนละ 100,000 บาท
ค่าใช้จ่ายต่อเดือนหลังเกษียณ = ประมาณเดือนละ 70,000 บาท

ลองเลือกว่าจะใช้สูตรไหน หลังจากนั้นให้เอาตัวเลขค่าใช้จ่ายต่อเดือนหลังเกษียณ ไปคูณ 300 (ระยะเวลาหลังเกษียณ 25 ปี คูณ 12 เดือน) ก็คือ 70,000 x 300 = 21 ล้านบาท นี่คือเงินก้อนที่เราต้องมีเพื่อใช้ชีวิตเกษียณครับ

ลองทำตามกันดูนะครับ ผลเป็นยังไง มาเล่าให้ aomMONEY ฟังได้ครับ

เขียนโดย: วัฒนา มะสันเทียะ