แค่ได้ยินคำว่า “ออมเงิน” หลายคนก็คงร้องโอ๊ย โดยเฉพาะคนที่มีหนี้สินเกินตัว บางคนมีทั้งหนี้บ้าน หนี้รถ หนี้บัตรเครดิต หนี้นอกระบบ หนี้ยืมเงินเพื่อน หนี้ครอบครัว

สาเหตุของหนี้ส่วนใหญ่มักมาจากพฤติกรรมการใช้จ่าย “ที่ไม่จำเป็น” ซึ่งมักมีเหตุผลมาสนับสนุนการจ่ายเสมอ เช่น “ของมันต้องมี”, “เดี๋ยวคุยกับเพื่อนไม่รู้เรื่อง”, “ให้รางวัลตัวเอง”, “ผ่อน 0 %”, “ของมัน Sale อยู่ถ้าไม่ซื้อตอนนี้เสียดายแย่”, และวลีฮิตสำหรับยุคนี้ คือ “ช้อปดีมีคืน” ที่ได้รับการสนับจากรัฐบาลเพื่อนำไปลดหย่อนภาษี ซึ่งมาตรการนี้ช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายได้ดี

หลายคนอาจบอกว่าหนี้เยอะไม่มีเหลือให้เก็บออม แต่หากพิจารณาดี ๆแล้วอาจจะมีเงินเหลือก็ได้ โดยเริ่มจากการทำงบกระแสเงินสด (บัญชีรายรับรายจ่าย) และงบดุล (บัญชีทรัพย์สินหนี้สิน) เพื่อดูพฤติกรรมการใช้จ่าย ควรลดรายจ่ายที่เป็นค่าความสุข เช่น ลดทานอาหารนอกบ้าน หยุดช้อปปิ้งกระเป๋า รองเท้า เสื้อผ้า ของสิ้นเปลือง ลดค่าชา/กาแฟ ซึ่งจะส่งผลให้มีเงินเหลือไปเก็บออมได้ไม่มากก็น้อย โดยอาจเริ่มจากเก็บออมเป็นเงินสำรองสภาพคล่อง ให้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายอย่างน้อย 3-6 เดือน เพื่อสำหรับกรณีฉุกเฉินหรือเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด เช่น เจ็บป่วย อุบัติเหตุ ตกงาน คนในครอบครัวจำเป็นต้องใช้เงินหรือเกิดโรคระบาดอย่างโควิด จากนั้นค่อยเริ่มลงทุนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนรวม เพื่อเตรียมสำหรับเกษียณ

ข้อดีของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คือ สร้างวินัยในการออมโดยจะถูกหักจากเงินเดือนอัตโนมัติ มีเงินเก็บไว้ใช้หลังเกษียณ ได้เงินสมทบจากนายจ้าง และนำเงินสะสมไปลดหย่อนภาษีได้ โดยตัวเลขในงบดังกล่าวสามารถนำมาวิเคราะห์สุขภาพทางการเงินได้ ดังนี้

✅อัตราส่วนสภาพคล่องพื้นฐาน
= สินทรัพย์สภาพคล่อง/ค่าใช้จ่ายรวม

➡เกณฑ์มาตรฐาน 3-6 เดือน

✅อัตราส่วนหนี้สินต่อสินทรัพย์
= หนี้สินรวม/สินทรัพย์รวม

➡เกณฑ์มาตรฐาน < 50%

✅อัตราส่วนการชำระหนี้สิน
= เงินชำระหนี้/รายรับรวม

➡เกณฑ์มาตรฐาน< 35-45%

✅อัตราส่วนการออมและลงทุน
= (เงินออม+เงินลงทุน+เงินคงเหลือ)/รายได้รวม

➡เกณฑ์มาตรฐาน >10%

คนเป็นหนี้ท่วมหัวไม่ได้เป็นคนสิ้นไร้ไม้ตอกหาทางออกไม่ได้ การแก้ไขหนี้จะต้องใช้ความพยายาม ความตั้งใจและมีวินัย ทุกคนมีโอกาสเป็นหนี้ได้ เพียงแต่เมื่อเป็นหนี้แล้วอย่าจมกับปัญหา

อ้างอิง: หลักสูตรวางแผนการเงิน ชุดวิชาที่ 1 พื้นฐานการวางแผนการเงิน

เขียนโดย: ณิชาภา เลี้ยงบุตร CFP®,IP