ไม่มีคำว่าเร็วเกินไปสำหรับการสอนเรื่องความรับผิดชอบทางด้านการเงิน นั่นคือสิ่งที่เราสามารถเรียนรู้ได้จากชีวิตของนักลงทุนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของโลกอย่าง วอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett)

เขาเริ่มต้นทำธุรกิจตั้งแต่อายุเพียงแค่ 6 ขวบ ซื้อโค้กกระป๋องแพ็ค 6 ในราคา 25 เซนต์/แพ็ค เอาไปแยกขายเป็นกระป๋องละ 10 เซนต์ หลังจากนั้นก็เริ่มขายเดินเคาะประตูบ้านเพื่อขายนิตยสารและหมากฝรั่งด้วย เขาให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ CNBC บอกว่า

“พ่อของผมคือแรงบันดาลใจที่ยอดเยี่ยมมาก สิ่งที่ผมเรียนรู้จากเขาตั้งแต่ยังเด็กคือการมีนิสัยที่ดีแต่เนิ่น ๆ การออมเงินเป็นบทเรียนที่สำคัญที่เขาสอนผมเลย”

สิ่งหนึ่งที่บัฟเฟตต์คิดว่าพ่อแม่ส่วนใหญ่ทำพลาดในการสอนลูก ๆ เกี่ยวกับเรื่องเงินคือ “บางทีพ่อแม่รอจนกว่าเด็กจะโตเป็นวัยรุ่นแล้วถึงจะเริ่มคุยเกี่ยวกับการดูแลจัดการเงิน ทั้งที่พวกเขาสามารถเริ่มสอนได้ตั้งแต่เด็กยังอยู่อนุบาลเลยด้วยซ้ำ”

Secret Millionaire's Club

อย่างที่ทุกคนทราบดีว่ายิ่งเราออมเงินหรือเข้าใจเรื่องการเงินเร็วเท่าไหร่ เรายิ่งมีโอกาสที่จะมีเงินเก็บและผิดพลาดน้อยลงเท่านั้น บางคนอาจจะรู้สึกว่าเด็กอนุบาลจะไปรู้เรื่องเงินได้ยังไงกัน อันที่จริงงานวิจัยบ่งบอกว่าเด็กสามารถเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับเรื่องเงินได้ตั้งแต่ 3-4 ขวบ และพอถึง 7 ขวบก็เริ่มเข้าใจถึงเรื่องการวางแผนเรื่องเงินแล้ว

จากการสำรวจพ่อแม่กว่า 1 พันคนพบว่ามีเพียง 4% เท่านั้นที่พูดกับลูกเรื่องเงินก่อนวัย 5 ขวบ และกว่า 30% ที่รอจนลูกเป็นวัยรุ่นค่อยสอน และมี 14% ที่บอกว่าไม่เคยพูดกับลูกเรื่องนี้เลย (อันหลังสุดนี่น่าเป็นห่วงอย่างมาก)

แล้วเราจะสอนเด็ก ๆ เกี่ยวกับเรื่องเงินยังไงดี? ที่จริงแล้วบัฟเฟตต์เคยร่วมสร้างการ์ตูนซีรีส์เกี่ยวกับเรื่องการเงินชื่อว่า “Secret Millionaire’s Club” ในช่วงปี 2011 ทั้งหมด 26 ตอนสั้น ๆ โดยเขานำเอาบทเรียนเกี่ยวกับการเงินและธุรกิจมาแนะนำให้เด็ก ๆ ผ่านตัวการ์ตูนเพื่อให้เข้าใจง่าย (ผู้ใหญ่ก็ดูได้นะครับดีเลยทีเดียว)

ลองมาดูบางบทเรียนจากซีรีส์นั้นกันครับ

1. อย่ายึดติดและมีความคิดยืดหยุ่น

เป้าหมายของบทเรียนนี้คือแสดงให้เด็ก ๆ เห็นถึงความสำคัญของความพยายาม อย่าเพิ่งยอมแพ้เมื่อเจอปัญหาเพียงครั้งสองครั้ง และทักษะของความคิดสร้างสรรค์ คิดนอกกรอบจะมีประโยชน์มากเมื่อโตขึ้นต้องเผชิญปัญหาเกี่ยวกับเรื่องการเงินและธุรกิจที่ถ้าทาย

สิ่งที่ลองทำได้:

ถ้ามีโอกาสพาเด็ก ๆ งานนิทรรศการหรืองานแสดงศิลปะต่าง ๆ ลองถามเด็ก ๆ ว่าภาพวาดหรือภาพถ่ายแต่ละอันเป็นยังไง ชอบอันไหน อันไหนน่าสนใจ ลองท้าทายพวกเขาว่าพอกลับถึงบ้านลองใช้อุปกรณ์อย่างอื่นวาดรูปแทนพู่กันไหม? ใช้ใบไม้ ก้อนหิน ฟองน้ำ หรือแม้แต่นิ้วมือเพื่อให้ได้ผลงานที่แปลกใหม่มากขึ้น

อีกอย่างหนึ่งที่สนุกคือการลองนำสิ่งของเหลือใช้หรือของเก่า ๆ นำกลับมาใช้ใหม่ อย่างเช่นกล่องพัสดุที่ซื้อของออนไลน์ เอามาตัดและตกแต่งทำเป็นกล่องใส่นิตยสาร หรือขวดน้ำพลาสติกเอามาทำเป็นกระถางต้นไม้ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ใช้เวลาไม่นาน นอกจากจะสอนเรื่องการคิดที่ยืดหยุ่นแล้ว ยังช่วยประหยัดเงินและลดขยะด้วย

2. การออมเงิน

พ่อแม่ทุกคนทราบดีว่านี่เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ๆ บทเรียนที่ต้องสอนเด็ก ๆ คือเรื่อง “สิ่งที่จำเป็น” กับ “สิ่งที่อยากได้”

สิ่งที่ลองทำได้ :

นำกระปุกออมสินมาสองอัน แบ่งเป็น “เงินเก็บ” และ “เงินสำหรับจ่าย” ทุกครั้งที่เด็ก ๆ ได้เงิน ไม่ว่าจะเป็นของขวัญจากผู้ใหญ่ เงินที่ไปโรงเรียน หรือการทำงานพิเศษอย่างกวาดสนามหญ้าหรือรดน้ำต้นไม้ ก็ลองถามเด็ก ๆ ดูครับว่าอยากจะแบ่งเป็นเงินเก็บเท่าไหร่ เงินที่สำหรับใช้จ่ายเท่าไหร่ พ่อแม่ต้องคอยสอนถึงความสำคัญของเงินเก็บไปเรื่อย ๆ

ให้เด็ก ๆ สร้างลิสต์ออกมา (หรือจะวาดรูปก็ได้ครับ) ว่าของ 10 อย่างที่อยากซื้อมีอะไรบ้าง แล้วพ่อแม่นี่แหละมานั่งคุยกับลูกว่าอันไหนคือสิ่งที่ ‘จำเป็น’ อันไหนเป็นสิ่งที่ ‘อยากได้’ เช่นของเล่นใหม่เป็นของที่อยากได้ แต่กระเป๋านักเรียนสำหรับไปโรงเรียนที่มาแทนใบเก่าที่ขาดแล้ว อันนี้เป็นสิ่งจำเป็น

3. ความแตกต่างระหว่างคุณค่าและราคา

เราทุกคน ไม่ว่าจะพ่อแม่หรือเด็ก ต่างก็มีโอกาสพลาดที่จะซื้อของที่แพงกว่าเพราะแบรนด์และโปรโมชั่นต่าง ๆ ได้เสมอ ทั้งที่เราสามารถหาของที่ใช้แทนกันได้ในราคาที่ถูกกว่า ที่จริงเรื่องนี้ระหว่างที่สอนเด็ก ๆ เราก็สามารถสอนตัวเองได้ด้วยเช่นกัน เราต้องแยกให้ออกว่าอันไหนเป็นสินค้าที่คุ้มค่ากับราคา และอันไหนเป็นสินค้าที่ราคาสูงแต่ไม่คุ้มค่า

สิ่งที่ลองทำได้ :

ก่อนจะไปซื้อของที่ซูเปอร์มาร์เก็ตให้ทำลิสต์ของที่จะซื้อออกมา แล้วหลังจากนั้นก็ลองนั่งเช็กโปรโมชั่นจากเว็บไซต์หรือใบปลิวก็ได้ว่ามีอะไรที่กำลังลดราคาและเราจำเป็นต้องซื้อเข้าบ้าน ให้ลูกมาช่วยนั่งเช็กด้วยกัน ดูว่าอันไหนคุ้มค่ากับราคามากที่สุด

บัฟเฟตต์กล่าวเสมอว่า

“ราคาคือสิ่งที่คุณจ่าย แต่คุณค่าคือสิ่งที่คุณได้รับ”

ทุกสิ่งในโลกล้วนมีราคาและคุณค่าอยู่ในตัวเองเสมอ ก่อนจะหยิบเงินออกมาซื้ออะไรให้คำนึงถึงคุณค่าด้วยว่าคุ้มค่ากับราคาที่จ่ายไปหรือไม่

4. การตัดสินใจที่ดี

เป้าหมายของการสอนบทเรียนเรื่องการเงินให้กับเด็ก ๆ คือสอนเรื่องการตัดสินใจที่ดีและคิดถึงผลที่จะตามมาจากการกระทำตรงนั้น

สิ่งที่ลองทำได้ :

บัฟเฟตต์เสนอว่าพ่อแม่ควรเป็นตัวอย่างที่ดีที่แสดงให้เห็นทักษะของการตัดสินใจเหล่านี้และคุยกับลูกว่าทำไม่เราถึงต้องตัดสินใจแบบนี้ ผลที่ตามมาคืออะไร ยกตัวอย่าง “เราอยากซื้อทีวีเครื่องใหม่สำหรับห้องรับแขก แต่ตอนนี้แอร์ที่บ้านกำลังเสียอยู่ เราต้องเก็บเงินเพื่อซ่อมแอร์ก่อน ถ้าไม่ทำอย่างนั้นเดี๋ยวหน้าร้อนมาถึงก็จะร้อนจนนอนไม่หลับ หลังจากนั้นค่อยคิดถึงเรื่องการซื้อทีวีเครื่องใหม่”

พ่อแม่ต้องคอยสอนเด็ก ๆ เรื่องทักษะในการตัดสินใจและการออมเงินตั้งแต่ยังเด็ก สมมุติว่าเด็กอยากได้ตุ๊กตาตัวใหม่ ทั้ง ๆ ที่ที่บ้านมีเยอะแยะหลายตัวมากแล้ว ก็ลองถามเขาก็ได้ครับว่าที่บ้านเรายังมีเยอะเลยนะ นี่เป็นสิ่งที่หนู “ต้องการ” หรือ เป็นของ “จำเป็น” เรากลับไปทำความสะอาดตัวที่อยู่ที่บ้านด้วยกันไหม เขาคงอยากให้หนูเล่นด้วยอยู่รึเปล่า

ไม่มีคำว่าเร็วเกินไปในการปลูกฝังนิสัยการเงินที่ดีให้กับเด็ก ๆ และมันจะสร้างความแตกต่างให้กับพวกเขาเมื่อโตขึ้น แน่นอนว่า บัฟเฟตต์เคยให้สัมภาษณ์ไว้กับเว็บไซต์ Yahoo Finance บอกว่า

“ไม่มีคำว่าเร็วเกินไป ไม่ว่าจะเป็นการสอนเด็ก ๆ ถึงคุณค่าของเรื่องเงินดอลล่าร์ ความแตกต่างระหว่างความต้องการและความจำเป็น หรือคุณค่าของการเก็บออม สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องที่เด็ก ๆ พบเจอตั้งแต่อายุยังน้อย สิ่งที่ดีที่สุดคือการช่วยให้พวกเขาเข้าใจมันด้วย”