ทุกคนคงทราบกันดีว่า ปีนี้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์แล้ว (Complete Aged Society) พูดให้เห็นภาพง่ายๆ คือ คนไทยทุกๆ 5 คนจะมีผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปีอยู่ 1 คน และในปี 2578 เราจะมีสัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเป็น 25% หรือราว 16 ล้านคน

หน่วยงานรัฐบาลก็ตอบรับแนวโน้มนี้ ด้วยการเสนอขยายอายุเกษียณข้าราชการ จำนวน 2 ล้านคน จากเดิม 60 ปีเป็น 63-65 ปี ขณะที่สถานการณ์โลก ซึ่งบางประเทศเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุไปนานแล้ว ก็มีนโยบายตอบรับเช่นกัน เช่น ประเทศญี่ปุ่น ที่บริษัทเอกชนขยายการจ้างงานพนักงานไปจนถึงอายุ 70 ปี

การที่เราเกษียณช้าลง ต้องใช้ชีวิตบนโลกนานขึ้น ส่งผลต่อเรื่องวางแผนการเงินอย่างไร?

ปกติเรามักจะวางแผนออมเงินจนถึงอายุ 60 ปี เพื่อให้มีเงินใช้จนกว่าจะจากโลกนี้ไป แต่จากยุคสังคมผู้สูงอายุ ทำให้เกิดแนวคิดใหม่คือ “เราควรวางแผนการเงินจนถึงอายุ 100 ปี” คือไม่ว่าจะอย่างไร ให้คิดไว้เลยว่าเราจะมีอายุยืนจนถึง 100 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิง ที่จะต้องวางแผนการเงินยาวกว่าผู้ชาย เพราะค่าเฉลี่ยอายุที่มากกว่า จากข้อมูลของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่า ผู้หญิงมีอายุเฉลี่ย 80.4 ปี ส่วนผู้ชายมีอายุเฉลี่ย 73.2 ปี

วางแผนการเงินจนถึงอายุ 100 ปี ต้องทำยังไง?

สูตรคือ “(ค่าใช้จ่ายต่อเดือน x 12) x จำนวนปีที่คาดว่าจะมีชีวิตอยู่”

วิธีวางแผนการเงินแบบเก่า

ทุกวันนี้เรามีค่าใช้จ่ายเดือนละ 15,000 บาท
วางแผนหยุดทำงานตอนอายุ 60 ปี
คาดว่าจะมีชีวิตอยู่จนถึง 90 ปี (อยู่ต่ออีก 30 ปี)

= 15,000 x 12 x 30
เงินที่ต้องมี ณ วันที่หยุดทำงาน = 5,400,000 บาท

วิธีวางแผนการเงินแบบแนวคิดใหม่

ทุกวันนี้เรามีค่าใช้จ่ายเดือนละ 15,000 บาท
วางแผนหยุดทำงานตอนอายุ 60 ปี
คาดว่าจะมีชีวิตอยู่จนถึง 100 ปี (อยู่ต่ออีก 40 ปี)

= 15,000 x 12 x 40
เงินที่ต้องมี ณ วันที่หยุดทำงาน = 7,200,000 บาท

จะเห็นได้ว่า ถ้าใช้วิธีวางแผนการเงินตามแนวคิดใหม่ จำนวนตัวเลขเงินออมเพื่อเกษียณจะเพิ่มขึ้น เพราะเราจะมีชีวิตอยู่นานขึ้นนั่นเอง

รู้จักลงทุน เสริมเงินออม

การเก็บออมอย่างเดียวอาจทำให้เราไปถึงเป้าหมายได้ช้า จึงต้องอาศัยการลงทุนควบคู่ไปด้วย เพื่อให้เงินออมที่เรามีอยู่งอกเงย โดยการลงทุนเพื่อเกษียณก็มีหลายรูปแบบให้เลือก เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ, กองทุน RMF

ลดความเสี่ยง ซื้อประกันชีวิต/ประกันสุขภาพ

พออายุมากขึ้น สิ่งที่ตามมาก็คือโรคภัยไข้เจ็บ ถ้าเกิดว่าเราป่วยเป็นโรคร้ายแรง เงินที่เก็บออมมาทั้งชีวิตต้องหมดไปกับค่ารักษาพยาบาลแน่นอน ดังนั้นการซื้อประกันชีวิต/ประกันสุขภาพก็เหมือนการกระจายความเสี่ยง หากเจ็บป่วยก็มีประกันมาซัพพอร์ต ไม่ต้องจ่ายค่ารักษาแพงๆ เอง

นี่คือแนวคิดวางแผนการเงิน ด้วยวิธีประเมินคร่าวๆ โดยอิงตามเกณฑ์อายุขัยของสังคมผู้สูงอายุ และเสริมความมั่นคง ด้วยการลงทุนและซื้อประกันต่างๆ บางคนอาจคิดว่าเราคงมีชีวิตอยู่ไม่ถึง 100 ปีหรอก... ถึงแม้จะไม่สามารถฟันธงได้ 100% แต่อย่าลืมว่าการวางแผนล่วงหน้าแบบ “เผื่อเหลือ” ย่อมดีกว่า “เผื่อขาด” นะครับ เพราะตายแล้วแต่ยังใช้เงินไม่หมด ก็ส่งต่อเป็นมรดกให้คนข้างหลังได้ แต่ถ้าใช้เงินหมดแล้วยังไม่ตาย เราอาจกลายเป็นภาระลูกหลานในที่สุด